เขียนโดยมัทธิว 28:1-20
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
มารีย์อีกคนหนึ่ง: คือ “มารีย์ที่เป็นแม่ของยากอบกับโยเสส” ที่พูดถึงใน มธ 27:56 มีการพูดถึงมารีย์คนนี้ที่ มธ 28:1; มก 15:40, 47; 16:1; ลก 24:10; ยน 19:25 ด้วย—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 3:18; ยน 19:25
สะบาโต: ข้อคัมภีร์นี้ในภาษาเดิมมีคำกรีก ซาบ์บาทอน ซึ่งอยู่ในรูปพหูพจน์ 2 ครั้ง ครั้งแรกหมายถึงวันสะบาโตธรรมดาซึ่งเป็นวันที่ 7 ของสัปดาห์ จึงมีการแปลว่า “วันสะบาโต” ส่วนครั้งที่สองหมายถึงช่วงเวลา 7 วัน จึงมีการแปลว่าของสัปดาห์ วันสะบาโต (วันที่ 15 เดือนนิสาน) สิ้นสุดลงตอนที่ดวงอาทิตย์ตก ถึงแม้บางคนเข้าใจว่าบันทึกของมัทธิวพูดถึงช่วงใกล้ค่ำของวัน “ถัดจากวันสะบาโต” แต่ผู้เขียนหนังสือข่าวดีคนอื่น ๆ บอกอย่างชัดเจนว่าพวกผู้หญิงไปดูที่ฝังศพของพระเยซูตอน “เช้าตรู่” ของวันที่ 16 เดือนนิสานซึ่งเป็นตอนที่ “ดวงอาทิตย์ขึ้น”—มก 16:1, 2; ลก 24:1; ยน 20:1; ดูส่วนอธิบายศัพท์ และภาคผนวก ข12
วันแรกของสัปดาห์: คือวันที่ 16 เดือนนิสาน สำหรับชาวยิววันถัดจากวันสะบาโตจะนับเป็นวันแรกของสัปดาห์
มารีย์อีกคนหนึ่ง: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 27:61
ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวา: มีการใช้คำนี้หลายครั้งในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู ครั้งแรกคือที่ ปฐก 16:7 นอกจากนั้น ในสำเนาของฉบับเซปตัวจินต์ ยุคแรก ๆ มีการใช้คำกรีก อางเกะลอส (ทูตสวรรค์, ผู้ส่งข่าว) ตามด้วยชื่อพระเจ้าที่เขียนด้วยอักษรฮีบรู ตัวอย่างหนึ่งคือข้อความที่ ศคย 3:5, 6 ในสำเนาของฉบับเซปตัวจินต์ ที่พบในนาฮาล เฮเวอร์ประเทศอิสราเอล สำเนานี้ทำขึ้นระหว่างปี 50 ก่อน ค.ศ. ถึงปี ค.ศ. 50 ในคัมภีร์ไบเบิลหลายฉบับยังคงใช้ชื่อพระเจ้าเมื่อมีการแปลคำว่า “ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวา” ในข้อนี้—ดูภาคผนวก ก5
ทูตของพระยะโฮวา: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 1:20
ไปบอกพวกสาวกว่า ‘พระเยซูถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตายแล้ว’: ผู้หญิงเหล่านี้ไม่ได้เป็นแค่สาวกกลุ่มแรกที่ได้รู้เรื่องการฟื้นขึ้นจากตายของพระเยซู แต่ยังได้รับคำสั่งให้ไปบอกสาวกคนอื่น ๆ ด้วย (มธ 28:2, 5, 7) ตามคำสอนสืบปากของชาวยิวที่ไม่ได้มาจากพระคัมภีร์ ผู้หญิงจะไม่ได้รับอนุญาตให้แก้ต่างในศาล แต่ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวาให้เกียรติผู้หญิงเหล่านี้โดยให้พวกเธอได้ทำงานมอบหมายที่น่ายินดี
แสดงความเคารพ: หรือ “คำนับ, ให้เกียรติ” พระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูพูดถึงบางคนที่คำนับหรือทำความเคารพเมื่อพวกเขาเจอผู้พยากรณ์ กษัตริย์ หรือคนอื่น ๆ ที่เป็นตัวแทนของพระเจ้า (1ซม 25:23, 24; 2ซม 14:4-7; 1พก 1:16; 2พก 4:36, 37) ดูเหมือนว่าผู้ชายโรคเรื้อนคนนี้รู้ว่าเขากำลังพูดกับตัวแทนของพระเจ้าซึ่งมีอำนาจรักษาโรคให้กับผู้คน จึงเป็นเรื่องเหมาะสมที่เขาจะคำนับพระเยซูเพื่อแสดงว่าเขาเคารพผู้ที่พระยะโฮวาแต่งตั้งให้เป็นกษัตริย์—มธ 9:18; สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำกรีกนี้ ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 2:2
หมอบลงแสดงความเคารพ: หรือ “คำนับ, ทำความเคารพ” คนเหล่านี้ยอมรับว่าพระเยซูเป็นตัวแทนของพระเจ้า พวกเขาแสดงความเคารพท่านไม่ใช่ในฐานะพระหรือเทพเจ้า แต่ในฐานะ “ลูกของพระเจ้า”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 2:2; 8:2; 18:26
คำนับ: หรือ “ทำความเคารพ” ดูเหมือนการที่ผู้หญิงที่ไม่ใช่ชาวยิวคนนี้เรียกพระเยซูว่า “ลูกหลานดาวิด” (มธ 15:22) แสดงว่าเธอยอมรับว่าท่านเป็นเมสสิยาห์ที่สัญญาไว้ เธอคำนับท่านไม่ใช่ในฐานะพระหรือเทพเจ้า แต่ในฐานะตัวแทนของพระเจ้า—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 2:2; 8:2; 14:33; 18:26
แสดงความเคารพ: หรือ “คำนับท่าน”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 8:2; 14:33; 15:25
พี่น้องของผม: ในข้อนี้พระเยซูเรียกสาวกของท่านว่า “พี่น้อง” เพราะท่านสนิทกับพวกเขามากและมีความเชื่อเหมือนกัน—ดู มธ 28:16; เทียบกับ มธ 25:40; ยน 20:17; ฮบ 2:10-12
ผู้นำ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 16:21
ผู้นำ: แปลตรงตัวว่า “คนสูงอายุ” คำกรีก เพร็สบูเทะรอส ที่ใช้ในคัมภีร์ไบเบิลมักจะหมายถึงคนที่มีตำแหน่งและหน้าที่รับผิดชอบในชุมชนหรือในชาติ ถึงแม้คำนี้บางครั้งหมายถึงคนที่อายุมากกว่าหรือคนสูงอายุ (เช่นที่ ลก 15:25; กจ 2:17) แต่ก็มีความหมายในแง่อื่นด้วย ในข้อนี้คำว่า “ผู้นำ” หมายถึงพวกผู้นำชาวยิวซึ่งคัมภีร์ไบเบิลมักพูดถึงพวกเขาพร้อมกับพวกปุโรหิตใหญ่และครูสอนศาสนา สมาชิกศาลแซนเฮดรินก็ประกอบด้วยคนจาก 3 กลุ่มนี้—มธ 21:23; 26:3, 47, 57; 27:1, 41; 28:12; ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “ผู้นำ”
เรื่องนี้: หมายถึงเรื่องที่พวกเขาโกหกว่าหลับ ทหารโรมันอาจถูกประหารได้ถ้าพวกเขาหลับระหว่างปฏิบัติหน้าที่
ผู้ว่าราชการ: ผู้ว่าราชการในข้อนี้หมายถึงปอนทิอัสปีลาต
นัดหมาย: ดูเหมือนว่ามีมากกว่า 500 คนไปประชุมกันที่แคว้นกาลิลีตามที่นัดหมาย—1คร 15:6
บางคนยังสงสัย: บันทึกใน 1คร 15:6 ช่วยให้เข้าใจว่า คนที่สงสัยไม่น่าจะเป็นอัครสาวก แต่พวกเขาเป็นสาวกในแคว้นกาลิลีที่พระเยซูยังไม่ได้ปรากฏตัวให้เห็น
เพราะคนนั้นเป็นผู้พยากรณ์: แปลตรงตัวว่า “ในนามของผู้พยากรณ์” สำนวนกรีก “ในนามของ” ที่ใช้ในข้อนี้แสดงถึงการยอมรับตำแหน่งหน้าที่ของผู้พยากรณ์และงานที่เขาทำ—เทียบกับข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 28:19
ทั่วโลก . . . ทุกชาติ: ทั้ง 2 คำนี้เน้นที่ขอบเขตของงานประกาศ คำกรีกที่แปลว่า “โลก” (ออยคู่เมะเน ) เมื่อใช้ในความหมายกว้าง ๆ จะหมายถึงโลกซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ (ลก 4:5; กจ 17:31; รม 10:18; วว 12:9; 16:14) ในศตวรรษแรก มีการใช้คำนี้เมื่อพูดถึงจักรวรรดิโรมันอันกว้างใหญ่ซึ่งเป็นที่ที่ชาวยิวกระจัดกระจายกันอยู่ (ลก 2:1; กจ 24:5) ส่วนคำกรีกที่แปลว่า “ชาติ” (เอ็ธนอส) เมื่อใช้ในความหมายกว้าง ๆ จะหมายถึงกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกันทางสายเลือดและใช้ภาษาเดียวกัน เชื้อชาติหรือกลุ่มคนแบบนี้มักจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีเขตแดนชัดเจน
สอนคน . . . ให้เป็นสาวก: คำกริยากรีก มาเธทือโอ มีความหมายหลักว่า “สอน” โดยมีจุดมุ่งหมายให้คนที่ถูกสอนเข้ามาเป็นสาวก ที่ มธ 13:52 มีการแปลคำกรีกนี้ว่า “เรียนรู้” และที่ มธ 27:57 แปลว่า “สาวก” ส่วนที่ กจ 14:21 มีการใช้คำนี้เพื่อบอกว่าเปาโลกับบาร์นาบัสช่วยหลายคนในเมืองเดอร์บี “ให้เข้ามาเป็นสาวก” คำกริยา “ให้ . . . บัพติศมา” และ “สอน” ในข้อนี้และข้อถัดไปแสดงให้เห็นว่าคำสั่งที่ให้ “สอนคน . . . ให้เป็นสาวก” เกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง—สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำนามกรีก มาเธเทส ที่เกี่ยวข้องกัน ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 5:1
คนทุกชาติ: แปลตรงตัวว่า “ทุกชาติ” แต่ในท้องเรื่องนี้ทำให้รู้ว่าคำนี้หมายถึงผู้คนที่มาจากทุกชาติ เนื่องจากคำว่า “พวกเขา” ในประโยคที่บอกว่าให้พวกเขารับบัพติศมาเป็นคำสรรพนามเพศชายซึ่งหมายถึงผู้คน ไม่ได้หมายถึง “ชาติ” ซึ่งเป็นคำที่ไม่มีเพศ คำสั่งที่ให้ไปหา “คนทุกชาติ” เป็นคำสั่งใหม่ ก่อนที่พระเยซูจะเริ่มงานรับใช้ พระคัมภีร์บอกว่าชาวอิสราเอลจะต้อนรับคนต่างชาติก็ต่อเมื่อพวกเขามารับใช้พระยะโฮวา (1พก 8:41-43) แต่ในคำสั่งใหม่นี้ พระเยซูบอกให้สาวกไปประกาศกับคนชาติอื่นที่ไม่ใช่ชาวยิว นี่เป็นการเน้นให้เห็นว่าคริสเตียนจะทำงานสอนคนให้เป็นสาวกไปทั่วโลก—มธ 10:1, 5-7; วว 7:9; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:14
ในนาม: คำกรีกที่แปลว่า “นาม” (ออนอมา) ไม่ได้หมายถึงชื่อของใครคนหนึ่งเท่านั้น แต่ในท้องเรื่องนี้คำว่า “ในนาม” หมายถึงการยอมรับอำนาจและตำแหน่งของพระเจ้าผู้เป็นพ่อและลูกของพระองค์ รวมถึงการยอมรับบทบาทของพลังบริสุทธิ์ การยอมรับนี้ทำให้คนเรามีสายสัมพันธ์แบบใหม่กับพระเจ้า—เทียบกับข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 10:41
พระเจ้าผู้เป็นพ่อ . . . ลูกของพระองค์ . . . พลังบริสุทธิ์: การยอมรับพระยะโฮวาพระเจ้าผู้เป็นพ่อของเราเป็นเรื่องปกติ เพราะพระองค์เป็นผู้สร้างและเป็นผู้ให้ชีวิต (สด 36:7, 9; วว 4:11) แต่คัมภีร์ไบเบิลยังบอกด้วยว่าไม่มีมนุษย์คนไหนจะได้รับความรอดถ้าไม่ยอมรับบทบาทของพระเยซูลูกของพระเจ้าตามความประสงค์ของพระองค์ (ยน 14:6; กจ 4:12) นอกจากนั้น เป็นเรื่องสำคัญด้วยที่จะยอมรับบทบาทของพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้า เพราะพระเจ้าใช้พลังของพระองค์ทำหลายสิ่งหลายอย่าง เช่น ให้ชีวิต (โยบ 33:4) ดลใจมนุษย์ให้ถ่ายทอดข่าวสารของพระองค์ (2ปต 1:21) และช่วยให้มนุษย์สามารถทำตามความประสงค์ของพระองค์ (รม 15:19) แม้บางคนเชื่อว่าการพูดถึง 3 อย่างนี้เป็นการสนับสนุนหลักคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพ แต่คัมภีร์ไบเบิลไม่เคยบอกว่า 3 อย่างนี้เท่าเทียมกันในเรื่องการคงอยู่ตลอดไป เท่าเทียมกันในเรื่องอำนาจและตำแหน่ง การที่ทั้ง 3 อย่างนี้ถูกพูดถึงพร้อมกันในข้อเดียวกันไม่ได้พิสูจน์ว่าพระเจ้าผู้เป็นพ่อ ลูกของพระองค์ และพลังบริสุทธิ์เป็นองค์เดียวกัน คงอยู่ตลอดไปเหมือนกัน และเท่าเทียมกัน—มก 13:32; คส 1:15; 1ทธ 5:21
พลังบริสุทธิ์: คำว่า “พลัง” (คำนี้ในภาษากรีกไม่มีเพศ) ไม่ได้หมายถึงบุคคล แต่หมายถึงพลังที่พระเจ้าใช้ในการทำสิ่งต่าง ๆ—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “พลังบริสุทธิ์”; “พลัง”
พวกสาวก: นี่เป็นครั้งแรกที่มีการใช้คำกรีก มาเธเทส ซึ่งเป็นคำนามที่แปลว่า “สาวก” คำนี้หมายถึงผู้เรียนหรือคนที่ถูกสอน และแสดงถึงความรู้สึกผูกพันกับผู้สอน เป็นความผูกพันที่ส่งผลต่อทั้งชีวิตของสาวก แม้มีคนกลุ่มใหญ่มาฟังพระเยซู แต่ดูเหมือนว่าหลัก ๆ แล้วท่านพูดเพื่อจะสอนพวกสาวกซึ่งนั่งใกล้ท่านมากที่สุด—มธ 7:28, 29; ลก 6:20
สอน . . . ประกาศ: การสอนต่างจากการประกาศ เพราะคนที่สอนจะไม่ใช่แค่ประกาศให้คนอื่นฟัง แต่เขาจะแนะนำ อธิบาย หาเหตุผลโน้มน้าว และให้ข้อพิสูจน์—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:1; 28:20
ประกาศ: คำกรีกนี้มีความหมายหลักว่า “ป่าวประกาศในฐานะผู้ส่งข่าวอย่างเปิดเผย” คำนี้เน้นลักษณะ ของการประกาศว่ามักเป็นการพูดอย่างเปิดเผยให้สาธารณชนรู้ ไม่ใช่การเทศน์ให้คนแค่กลุ่มหนึ่งฟัง
สอนพวกเขา: คำกรีกที่แปลว่า “สอน” หมายถึง แนะนำ อธิบาย หาเหตุผลโน้มน้าว และให้ข้อพิสูจน์ (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:1; 4:23) การสอนพวกเขาให้ทำตามทุกสิ่งที่พระเยซูสั่งเป็นการกระทำที่ต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการสอนสิ่งที่ท่านสอน ทำตามคำสอนของท่าน และทำตามตัวอย่างที่ท่านวางไว้—ยน 13:17; อฟ 4:21; 1ปต 2:21
จำไว้ว่า: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 1:23
สมัยสุดท้าย: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:3 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “สมัยสุดท้ายของโลกนี้”
โลกนี้: หรือ “ยุค”—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “ยุค, โลกนี้”
สมัยสุดท้าย: มาจากคำกรีก ซูนเทะเล่อา ที่มีความหมายว่า “ร่วมกันจบ, ประกอบรวมกันจนจบ, จบด้วยกัน” (มธ 13:39, 40, 49; 28:20; ฮบ 9:26) คำนี้หมายถึงช่วงเวลาที่มีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นซึ่งจะนำไปสู่ “จุดจบ” สุดท้ายที่พูดถึงใน มธ 24:6, 14 สำหรับคำว่า “จุดจบ” ในข้อคัมภีร์ 2 ข้อนี้มีการใช้คำกรีกอีกคำหนึ่งคือ เทะลอส—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:6, 14 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “สมัยสุดท้ายของโลกนี้”
คอยดูเถอะ: คำกรีก อีดู่ ที่แปลในข้อนี้ว่า “คอยดูเถอะ” มักใช้เพื่อกระตุ้นให้สนใจเรื่องที่กำลังจะพูด ให้นึกภาพเหตุการณ์หรือสนใจรายละเอียดบางอย่าง และยังใช้เพื่อเน้น หรือชี้ให้เห็นว่ามีอะไรใหม่หรือน่าตื่นเต้น ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกจะพบคำแบบนี้บ่อยที่สุดในหนังสือข่าวดีของมัทธิว ลูกา และหนังสือวิวรณ์ ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูก็มักใช้คำคล้าย ๆ กันนี้ด้วย
วีดีโอและรูปภาพ

ชาวยิวมักจะฝังศพคนตายไว้ในถ้ำหรือห้องที่เจาะเข้าไปในหิน ปกติแล้วอุโมงค์ฝังศพของพวกเขาจะอยู่นอกเมือง ยกเว้นอุโมงค์ของกษัตริย์ อุโมงค์ฝังศพของชาวยิวมักเป็นแบบเรียบง่าย เพราะชาวยิวไม่นมัสการคนตายและไม่เชื่อว่าคนตายแล้วมีวิญญาณที่เป็นอมตะ