เขียนโดยมัทธิว 25:1-46
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
แต่งงานกับมารีย์: หรือ “พามารีย์ภรรยาของคุณมาอยู่ที่บ้าน” ตามธรรมเนียมของชาวยิว การแต่งงานเริ่มตั้งแต่ตอนที่หมั้นกัน และพิธีแต่งงานจะเสร็จสมบูรณ์เมื่อสามีพาภรรยามาอยู่ที่บ้าน ตามปกติจะมีการทำแบบนั้นในวันที่กำหนดไว้และจะมีการจัดงานเลี้ยงด้วย การทำอย่างนี้เป็นการประกาศให้คนอื่นรู้ว่าผู้ชายได้รับผู้หญิงมาเป็นคู่ชีวิต การแต่งงานของพวกเขาจึงเป็นที่รับรู้ มีการบันทึกไว้ และเป็นการผูกมัดอย่างจริงจัง—ปฐก 24:67; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 1:18, 19
หญิงสาวบริสุทธิ์ 10 คน . . . ออกไปรับเจ้าบ่าว: ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล ส่วนสำคัญอย่างหนึ่งของงานแต่งงานก็คือขบวนพิธีรับตัวเจ้าสาวจากบ้านพ่อเจ้าสาวมาที่บ้านเจ้าบ่าวหรือบ้านพ่อเจ้าบ่าว เจ้าบ่าวจะใส่ชุดที่ดีที่สุดและมากับเพื่อน ๆ ของเขา เขาจะออกจากบ้านตอนเย็นเพื่อไปที่บ้านพ่อแม่เจ้าสาว ตอนเดินทางกลับจากบ้านเจ้าสาวมาที่บ้านเจ้าบ่าว จะมีนักดนตรี นักร้อง และหลายครั้งก็มีคนอื่น ๆ ถือตะเกียงร่วมขบวนอยู่ด้วย ผู้คนที่อยู่ตามทางจะให้ความสนใจกับขบวนนี้มาก (อสย 62:5; ยรม 7:34; 16:9) ดูเหมือนว่ามีหญิงสาวหลายคนถือตะเกียงมาร่วมในขบวนนี้ด้วย ขบวนพิธีอาจเดินทางมาช้าเพราะไม่จำเป็นต้องรีบร้อน ทำให้บางคนที่รอง่วงและหลับไป การรอแบบนี้อาจทำให้ต้องมีน้ำมันสำรองสำหรับตะเกียง เสียงร้องเพลงอย่างสนุกสนานอาจได้ยินไปไกล หลังจากที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวและทุกคนที่ติดตามเข้าไปในบ้านและปิดประตูแล้ว แขกที่มาสายจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไป—มธ 25:5-12; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 1:20
สุขุม: คำกรีกในข้อนี้ถ่ายทอดแนวคิดเกี่ยวกับความเข้าใจที่มาพร้อมกับการคิดล่วงหน้า การคิดอย่างลึกซึ้ง การสังเกต ความรอบคอบ และความฉลาด มีการใช้คำกรีกเดียวกันนี้ที่ มธ 7:24 และ 25:2, 4, 8, 9 ในฉบับเซปตัวจินต์ ใช้คำนี้ที่ ปฐก 41:33, 39 เมื่อพูดถึงโยเซฟ
ฉลาด: หรือ “สุขุม”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:45
เตรียมตะเกียงให้พร้อม: ดูเหมือนพวกเขาต้องทำหลายอย่าง รวมทั้งตัดไส้ตะเกียงและเติมน้ำมันเพื่อให้ตะเกียงส่องสว่าง
เฝ้าระวังอยู่เสมอ: คำกรีกนี้มีความหมายหลักว่า “ตื่นตัวอยู่เสมอ” แต่ในหลายท้องเรื่องก็อาจแปลได้ว่า “ระวังให้ดี, เฝ้าระวัง” มัทธิวใช้คำนี้ที่ มธ 24:43; 25:13; 26:38, 40, 41 และที่ มธ 24:44 เขาเชื่อมโยงคำนี้กับความจำเป็นที่ต้อง “เตรียมพร้อม”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 26:38
เฝ้าระวัง: แปลตรงตัวว่า “ตื่นตัวอยู่เสมอ” ก่อนหน้านี้พระเยซูเน้นว่าพวกสาวกต้องตื่นตัวทางความเชื่อเพราะพวกเขาไม่รู้ว่าวันเวลาที่ท่านจะมาคือเมื่อไร (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:42; 25:13) ในข้อนี้และที่ มธ 26:41 พระเยซูกระตุ้นเตือนอีกโดยเชื่อมโยงการตื่นตัวทางความเชื่อกับการอธิษฐานอยู่เรื่อย ๆ คำกระตุ้นเตือนคล้ายกันนี้มีอยู่ตลอดในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก แสดงให้เห็นว่าการตื่นตัวทางความเชื่อเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับคริสเตียนแท้—1คร 16:13; คส 4:2; 1ธส 5:6; 1ปต 5:8; วว 16:15
เฝ้าระวังอยู่เสมอ: แปลตรงตัวว่า “ตื่นตัวอยู่เสมอ” การกระตุ้นให้ตื่นตัวอยู่เสมอทางด้านความเชื่อเป็นจุดสำคัญในตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องหญิงสาวบริสุทธิ์ 10 คน—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:42; 26:38
ตะลันต์: ตะลันต์ของกรีกไม่ใช่เงินเหรียญ แต่เป็นหน่วยน้ำหนักและหน่วยเงินตรา หนึ่งตะลันต์ของกรีกหนักเท่ากับ 20.4 กก. และมีค่าประมาณ 6,000 ดรัคมา หรือ 6,000 เดนาริอันของโรม หนึ่งตะลันต์มีค่าเท่ากับค่าจ้างแรงงานประมาณ 20 ปี—ดูภาคผนวก ข14
เงิน: หมายถึงโลหะเงินที่ใช้เป็นเงินตรา
เอาเงินของท่านไปฝังดิน: หลักฐานในเรื่องนี้เห็นได้จากการที่นักโบราณคดีและชาวไร่ชาวนาขุดพบของมีค่าและเงินเหรียญมากมายที่ฝังอยู่ในดินแดนสมัยคัมภีร์ไบเบิล
ธนาคาร . . . ดอกเบี้ย: ในศตวรรษแรก คนให้กู้เงินหรือธนาคารมีบทบาทสำคัญในอิสราเอลและชาติที่อยู่รอบ ๆ กฎหมายของโมเสสห้ามชาวอิสราเอลคิดดอกเบี้ยเมื่อให้เพื่อนร่วมชาติชาวยิวยืมเงิน (อพย 22:25) แต่พวกเขาสามารถคิดดอกเบี้ยกับคนต่างชาติได้ เช่น คนที่มากู้เงินเพื่อทำธุรกิจ (ฉธบ 23:20) ในสมัยพระเยซู ดูเหมือนเป็นเรื่องปกติที่จะฝากเงินกับธนาคารและได้ดอกเบี้ย
ด้วยความทุกข์ใจ: หรือ “ขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน” สำนวนนี้อาจเกี่ยวข้องกับความรู้สึกเจ็บปวด สิ้นหวัง และโกรธแค้น ซึ่งอาจแสดงออกด้วยคำพูดและการกระทำที่รุนแรง
ด้วยความทุกข์ใจ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 8:12
ลูกมนุษย์: มีการใช้คำนี้ประมาณ 80 ครั้งในหนังสือข่าวดีทั้ง 4 เล่ม พระเยซูใช้คำนี้เมื่อพูดถึงตัวท่านเอง ดูเหมือนท่านใช้คำนี้เพื่อเน้นว่าท่านเป็นมนุษย์จริง ๆ ที่เกิดจากผู้หญิงและมีค่าเท่าเทียมกับอาดัม ท่านจึงสามารถไถ่มนุษย์จากบาปและความตายได้ (รม 5:12, 14, 15) คำนี้ยังทำให้รู้ว่าพระเยซูเป็นเมสสิยาห์หรือพระคริสต์ด้วย—ดนล 7:13, 14; ดูส่วนอธิบายศัพท์
มา: นี่เป็นครั้งแรกในทั้งหมด 8 ครั้งที่พูดถึงการมาของพระเยซูในมัทธิวบท 24 และ 25 (มธ 24:42, 44, 46; 25:10, 19, 27, 31) ในแต่ละครั้ง มีการใช้คำกริยากรีก เออร์ฆอไม ซึ่งแปลว่า “มา” และในข้อนี้คำนี้หมายถึงการที่พระเยซูหันมาสนใจมนุษย์ โดยเฉพาะตอนที่ท่านมาประกาศคำพิพากษาและตัดสินลงโทษในช่วงความทุกข์ยากลำบากครั้งใหญ่
ลูกมนุษย์: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 8:20
เหมือนผู้เลี้ยงแกะแยกแกะออกจากแพะ: ข้อนี้พระเยซูพูดถึงเรื่องที่ผู้ฟังคุ้นเคยดี คนเลี้ยงแกะในสมัยคัมภีร์ไบเบิลจะดูแลทั้งแกะและแพะ (ปฐก 30:32, 33; 31:38) ในตะวันออกกลาง แกะและแพะมักจะกินหญ้าอยู่ด้วยกัน และคนเลี้ยงสามารถแยกสัตว์ 2 ชนิดนี้ออกจากกันได้อย่างง่ายดาย มีหลายเหตุผลที่ต้องแยกสัตว์ 2 ชนิดนี้ เช่น เพื่อพาไปกินหญ้า ผสมพันธุ์ ให้นม ตัดขน ฆ่า หรือแม้แต่แยกให้อยู่กันเป็นกลุ่ม ๆ จะได้อบอุ่นตอนกลางคืน ไม่ว่าอย่างไร ตัวอย่างเปรียบเทียบนี้ช่วยให้เห็นภาพการแยกผู้คนออกจากกันอย่างเด็ดขาดตอนที่ “‘ลูกมนุษย์’ มาในฐานะผู้มีอำนาจ”—มธ 25:31
ข้างขวา . . . ข้างซ้าย: ในบางท้องเรื่อง ทั้งข้างขวาและซ้ายหมายถึงตำแหน่งที่มีเกียรติและอำนาจ (มธ 20:21, 23) แต่ที่ที่มีเกียรติที่สุดจะอยู่ข้างขวาเสมอ (สด 110:1; กจ 7:55, 56; รม 8:34) อย่างไรก็ตาม ข้อนี้และ มธ 25:34, 41 ทำให้เห็นชัดว่าข้างขวาเป็นตำแหน่งของคนที่กษัตริย์โปรดปราน แต่ข้างซ้ายเป็นตำแหน่งของคนที่ไม่โปรดปราน—เทียบกับ ปญจ 10:2, เชิงอรรถ
แพะ: ถึงแม้พระเยซูกำลังพูดถึงคนที่ไม่สนับสนุนพี่น้องผู้ถูกเจิมของท่าน แต่ดูเหมือนท่านไม่ได้ใช้คำว่า “แพะ” ในตัวอย่างนี้เพราะมันมีนิสัยที่ไม่ดีบางอย่าง เป็นความจริงที่แพะไม่ค่อยติดคนเลี้ยงและบางครั้งก็ดื้อกว่าแกะ แต่แพะก็เป็นสัตว์สะอาดสำหรับชาวยิวและใช้เป็นอาหารสำหรับปัสกาได้เหมือนกัน (อพย 12:5; ฉธบ 14:4) นอกจากนั้น กฎหมายของโมเสสบอกด้วยว่าในวันไถ่บาปประจำปีต้องมีการใช้เลือดแพะเพื่อไถ่บาปของชาติอิสราเอล (ลนต 16:7-27) ดังนั้น พระเยซูน่าจะใช้แพะเพียงเพื่อหมายถึงคนกลุ่มหนึ่ง และใช้แกะเพื่อหมายถึงคนอีกกลุ่ม—มธ 25:32
รับประโยชน์: แปลตรงตัวว่า “รับมรดก” โดยทั่วไปแล้วคำกริยากรีกนี้จะใช้กับคนที่เป็นทายาทซึ่งได้รับอะไรบางอย่างเป็นกรรมสิทธิ์ หลายครั้งเป็นเพราะความสัมพันธ์ที่เขามีกับผู้ให้ เช่น ลูกได้รับมรดกจากพ่อ (กท 4:30) แต่ในข้อนี้และในข้อคัมภีร์ส่วนใหญ่ของพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก มีการใช้คำนี้ในความหมายที่กว้างกว่าคือการได้รับบางอย่างเป็นรางวัลจากพระเจ้า—มธ 19:29; 1คร 6:9
รัฐบาลของพระเจ้า: คำว่า “รัฐบาล” ที่ใช้ในคัมภีร์ไบเบิลมีความหมายแตกต่างกันหลายอย่าง เช่น “เขตแดนหรือประเทศที่ปกครองโดยกษัตริย์” “อำนาจของกษัตริย์” “อาณาจักร” และ “การถูกปกครองโดยกษัตริย์” แต่ในข้อนี้ดูเหมือนใช้หมายถึงการรับประโยชน์หรือรับพรจากพระเจ้าและมีชีวิตที่มีความสุขภายใต้การปกครองของรัฐบาลพระองค์
เริ่มมีโลก: คำกรีกที่แปลว่า “เริ่มมี” ในข้อนี้ ที่ ฮบ 11:11 แปลอีกอย่างหนึ่งว่า “ตั้งท้อง” เมื่อพูดถึงการมีลูก ดังนั้น สำนวน “เริ่มมีโลก” ในข้อนี้น่าจะหมายถึงการที่อาดัมกับเอวาเริ่มมีลูก พระเยซูแสดงให้เห็นว่าการ “เริ่มมีโลก” เกี่ยวข้องกับอาเบลซึ่งดูเหมือนเป็นมนุษย์คนแรกที่สามารถได้รับประโยชน์จากค่าไถ่ และมีชื่อเขียนไว้ในม้วนหนังสือรายชื่อคนที่จะได้ชีวิตตั้งแต่ “เริ่มมีโลก”—ลก 11:50, 51; วว 17:8
ไม่มีเสื้อผ้าใส่: คำกรีก กูมน็อส อาจมีความหมายว่า “ใส่เสื้อผ้าน้อย, ใส่แต่เสื้อตัวใน”—ยก 2:15
พี่น้อง: คำกรีกที่แปลว่า “พี่น้อง” เมื่อใช้ในรูปพหูพจน์อาจหมายถึงทั้งผู้ชายและผู้หญิง
ทำลาย: แปลตรงตัวว่า “ตัดออก” คือตัดออกจากการมีชีวิต มีการใช้คำกรีก คอลาซิส เมื่อพูดถึงการ “ตัดแต่ง” หรือ “ลิด” กิ่งไม้ที่ไม่ต้องการออกจากต้น คนที่ถูกตัดออกหรือ “ทำลาย” ในข้อนี้จะถูกทำลายตลอดไป เพราะเขาถูกตัดออกจากการมีชีวิตโดยไม่มีความหวังเรื่องการฟื้นขึ้นจากตาย
วีดีโอและรูปภาพ
ชาวนาจะใช้พลั่วโยนเมล็ดข้าวที่นวดแล้วขึ้นไปในอากาศ เมล็ดข้าวจะตกลงบนพื้น ส่วนแกลบที่เบากว่าจะปลิวไปตามลม ชาวนาจะทำแบบนี้จนกว่าเมล็ดข้าวจะถูกแยกออกจากแกลบจนหมด