เขียนโดยมัทธิว 13:1-58
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
นั่ง: เป็นธรรมเนียมของครูชาวยิว—มธ 5:1, 2
ริมฝั่ง: ริมฝั่งทะเลสาบกาลิลีใกล้เมืองคาเปอร์นาอุมมีบริเวณหนึ่งที่เว้าเข้าไปเป็นครึ่งวงกลมตามธรรมชาติ พื้นที่แบบนี้ช่วยขยายเสียงของพระเยซูให้ดังขึ้น ผู้ฟังกลุ่มใหญ่จึงได้ยินเสียงของท่านที่พูดจากเรืออย่างชัดเจน
ตัวอย่างเปรียบเทียบ: คำกรีก พาราบอเล มีความหมายตรงตัวว่า “การวางไว้ข้าง ๆ (ด้วยกัน)” อาจเป็นเรื่องราวที่ให้คติสอนใจ สุภาษิต หรือตัวอย่างเปรียบเทียบก็ได้ พระเยซูมักอธิบายสิ่งหนึ่งโดย ‘วางสิ่งนั้นไว้ข้าง ๆ’ หรือเปรียบเทียบสิ่งนั้นกับอีกสิ่งหนึ่งที่คล้าย ๆ กัน (มก 4:30) ตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซูจะสั้นและมักเป็นเรื่องสมมุติซึ่งช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจความจริงเกี่ยวกับพระเจ้าและหลักศีลธรรมที่ถูกต้อง
พื้นหิน: ไม่ได้หมายถึงพื้นดินที่มีก้อนหินปะปนอยู่ แต่หมายถึงชั้นหินหรือพื้นหินที่มีดินอยู่เล็กน้อย บันทึกเรื่องเดียวกันที่ ลก 8:6 บอกว่าเมล็ดพืชบางส่วนตก “บนพื้นหิน” พื้นที่แบบนี้ทำให้เมล็ดพืชไม่สามารถหยั่งรากลงในดินได้ลึกพอเพื่อจะได้รับน้ำที่จำเป็น
กลางพุ่มไม้มีหนาม: พระเยซูไม่ได้หมายถึงพุ่มหนามใหญ่ ๆ แต่หมายถึงเศษต้นหนามที่ยังเหลืออยู่ในดินหลังจากไถหน้าดินแล้ว ต้นหนามเหล่านี้จะโตขึ้นปกคลุมเมล็ดพืชที่งอกใหม่จนมิด
รัฐบาลสวรรค์: คำนี้มีประมาณ 30 ครั้งและทั้งหมดอยู่ในหนังสือข่าวดีของมัทธิว ในหนังสือข่าวดีของมาระโกกับลูกา มีการใช้อีกคำหนึ่งที่มีความหมายเหมือนกันคือ “รัฐบาลของพระเจ้า” ซึ่งทำให้รู้ว่า “รัฐบาลของพระเจ้า” ตั้งอยู่ในสวรรค์และปกครองจากสวรรค์—มธ 21:43; มก 1:15; ลก 4:43; ดนล 2:44; 2ทธ 4:18
ความลับ: หรือ “ความลับศักดิ์สิทธิ์” มีการแปลคำกรีก มูสเทริออน ว่า “ความลับ, ความลับศักดิ์สิทธิ์” 26 ครั้งในคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลโลกใหม่ ในข้อนี้คำกรีกนี้อยู่ในรูปพหูพจน์หมายถึงเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความประสงค์ของพระเจ้าซึ่งยังไม่เปิดเผยให้รู้จนกว่าจะถึงเวลาที่พระองค์กำหนดไว้ และพระองค์จะเปิดเผยกับคนที่พระองค์เลือกให้เข้าใจอย่างเต็มที่ (คส 1:25, 26) เมื่อความลับศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าถูกเปิดเผยก็จะมีการประกาศไปอย่างกว้างขวางที่สุด เห็นได้จากการที่คัมภีร์ไบเบิลใช้คำว่า “ประกาศ” “เปิดเผย” และ “ให้ . . . รู้” เมื่อพูดถึง “ความลับศักดิ์สิทธิ์” (1คร 2:1; อฟ 1:9; 3:3; คส 1:25, 26; 4:3) เรื่องหลักของ “ความลับศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า” คือการระบุตัวพระเยซูคริสต์ว่าเป็น “ลูกหลาน” ตามสัญญาหรือเมสสิยาห์ (คส 2:2; ปฐก 3:15) แต่ความลับศักดิ์สิทธิ์นี้ก็มีหลายแง่มุม รวมถึงบทบาทของพระเยซูตามความประสงค์ของพระเจ้าด้วย (คส 4:3) อย่างที่พระเยซูบอกไว้ในข้อนี้ “ความลับ” นี้เกี่ยวข้องกับรัฐบาลสวรรค์ หรือ ‘รัฐบาลของพระเจ้า’ ที่อยู่ในสวรรค์ซึ่งมีพระเยซูเป็นกษัตริย์ (มก 4:11; ลก 8:10; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:2) พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกใช้คำว่า มูสเทริออน แตกต่างจากพวกศาสนาลึกลับในสมัยโบราณที่มักจะมีพื้นเพมาจากลัทธิบูชาการแพร่พันธุ์ที่เฟื่องฟูในศตวรรษแรก ศาสนาเหล่านี้สัญญาว่าโดยทางพิธีกรรมลึกลับ สมาชิกของพวกเขาจะได้ความเป็นอมตะ ได้รับการเปิดเผยโดยตรง และติดต่อกับเทพเจ้าได้ เห็นได้ชัดว่าความลับของพวกเขาไม่ได้อาศัยความจริง คนที่เข้าศาสนาลึกลับแบบนั้นต้องสาบานว่าจะเก็บความลับไว้กับตัว ทำให้ความลับนั้นถูกปิดซ่อนไว้ ซึ่งต่างจากความลับศักดิ์สิทธิ์ของคริสเตียนที่ต้องประกาศอย่างเปิดเผย ดังนั้น เมื่อพระคัมภีร์ ใช้คำนี้กับการนมัสการเท็จ ฉบับแปลโลกใหม่ ก็จะแปลคำนี้ว่า “ลึกลับ, ลับ ๆ”—สำหรับข้อคัมภีร์ 3 ข้อที่แปลคำ มูสเทริออน ว่า “ลึกลับ, ลับ ๆ” ดู 2ธส 2:7; วว 17:5, 7
โลก: คำกรีก ไอโอน ซึ่งมีความหมายหลักว่า “ยุค” อาจหมายถึงสภาพการณ์หรือลักษณะเด่นของโลกหรือบางส่วนของโลกในช่วงเวลาหนึ่งหรือสมัยหนึ่ง ในข้อนี้ใช้คำนี้เมื่อพูดถึงลักษณะเด่นของชีวิตในโลกทุกวันนี้ซึ่งมีความวิตกกังวลและปัญหา—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “ยุค, โลกนี้”
หว่าน . . . ให้ปนกับ: คนที่เป็นศัตรูกันจะทำอย่างนี้จริง ๆ ในประเทศแถบตะวันออกกลางสมัยโบราณ
วัชพืช: เชื่อกันว่าน่าจะเป็นหญ้าขนดาร์เนล (Lolium temulentum) ซึ่งเป็นพืชตระกูลหญ้า พืชที่มีพิษชนิดนี้มีลักษณะคล้ายกันมากกับข้าวสาลีตอนเป็นต้นอ่อน
ทาสจึงถามว่า: ถึงแม้สำเนาพระคัมภีร์บางฉบับมีข้อความว่า “พวกเขาถามว่า” แต่สำเนาพระคัมภีร์ที่เก่าแก่กว่ามีข้อความแบบข้อนี้
ถอนข้าวสาลีติดไปด้วย: รากของวัชพืชและข้าวสาลีอาจพันกันอยู่ ดังนั้น แม้จะรู้ว่าต้นไหนคือวัชพืช แต่การถอนวัชพืชจะทำให้ข้าวสาลีถูกถอนไปด้วย
วัชพืช: เชื่อกันว่าน่าจะเป็นหญ้าขนดาร์เนล (Lolium temulentum) ซึ่งเป็นพืชตระกูลหญ้า พืชที่มีพิษชนิดนี้มีลักษณะคล้ายกันมากกับข้าวสาลีตอนเป็นต้นอ่อน
ถอนวัชพืช: เมื่อหญ้าขนดาร์เนล (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 13:25) โตเต็มที่ มันจะมีลักษณะต่างจากข้าวสาลีอย่างชัดเจน
เมล็ดมัสตาร์ด: ในอิสราเอลมีต้นมัสตาร์ดหลายชนิดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ส่วนชนิดที่ชาวไร่นิยมปลูกคือต้นมัสตาร์ดดำ (Brassica nigra) เมล็ดของมันมีขนาดค่อนข้างเล็ก มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.6 มม. และหนัก 1 มก. แต่สามารถโตเป็นต้นใหญ่ได้ ต้นมัสตาร์ดบางชนิดอาจสูงถึง 4.5 เมตร
เมล็ดพืชที่เล็กที่สุด: ในข้อเขียนของชาวยิวโบราณมีการใช้เมล็ดมัสตาร์ดเป็นภาพเปรียบเทียบถึงสิ่งที่มีขนาดเล็กที่สุด แม้ทุกวันนี้ผู้คนจะรู้จักเมล็ดพืชที่เล็กกว่านั้น แต่ดูเหมือนว่าในสมัยพระเยซูเมล็ดมัสตาร์ดเป็นเมล็ดพืชที่เล็กที่สุดที่ชาวไร่ในกาลิลีหว่านและเก็บเกี่ยว
เชื้อ: หรือ “ยีสต์” คัมภีร์ไบเบิลมักใช้เชื้อเป็นภาพแสดงถึงความเสื่อมเสียและบาป ซึ่งในข้อนี้หมายถึงคำสอนไม่ดีที่ทำให้เสื่อมเสีย—มธ 16:12; 1คร 5:6-8; เทียบกับข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 13:33
เชื้อ: คือแป้งหมักก้อนเล็ก ๆ ที่แบ่งเก็บไว้จากการนวดแป้งครั้งก่อนแล้วนำมาผสมกับแป้งใหม่เพื่อให้ขึ้นฟู พระเยซูกำลังพูดถึงขั้นตอนในการทำขนมปังตามปกติ แม้คัมภีร์ไบเบิลมักจะใช้เชื้อเป็นภาพเปรียบเทียบหมายถึงบาปและความเสื่อมเสีย (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 16:6) แต่คำนี้ก็ไม่ได้มีความหมายในแง่ลบเสมอไป (ลนต 7:11-15) ดูเหมือนว่าขั้นตอนการหมักที่ทำให้แป้งขึ้นฟูในข้อนี้เป็นภาพหมายถึงการแผ่ขยายของสิ่งที่ดี
1 ถัง: แปลตรงตัวว่า “3 ซีห์” คำกรีก ซาทอน ที่ใช้ในข้อนี้ตรงกับคำฮีบรูที่หมายถึงมาตราตวงซีห์ โดย 1 ซีห์เท่ากับ 7.33 ลิตร—ดู ปฐก 18:6, เชิงอรรถ; ส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “ซีห์” และภาคผนวก ข14
เกิดขึ้นตามที่พระยะโฮวาพูดไว้ผ่านผู้พยากรณ์ของพระองค์: ในหนังสือข่าวดีของมัทธิวมีการใช้สำนวนนี้และสำนวนคล้าย ๆ กันหลายครั้ง ดูเหมือนเป็นการเน้นกับผู้ฟังชาวยิวว่าพระเยซูเป็นเมสสิยาห์ที่พระเจ้าสัญญาไว้—มธ 2:15, 23; 4:14; 8:17; 12:17; 13:35; 21:4; 26:56; 27:9
เริ่มมีโลก: คำกรีกที่แปลว่า “เริ่มมี” ในข้อนี้ ที่ ฮบ 11:11 แปลอีกอย่างหนึ่งว่า “ตั้งท้อง” เมื่อพูดถึงการมีลูก ดังนั้น สำนวน “เริ่มมีโลก” ในข้อนี้น่าจะหมายถึงการที่อาดัมกับเอวาเริ่มมีลูก พระเยซูแสดงให้เห็นว่าการ “เริ่มมีโลก” เกี่ยวข้องกับอาเบลซึ่งดูเหมือนเป็นมนุษย์คนแรกที่สามารถได้รับประโยชน์จากค่าไถ่ และมีชื่อเขียนไว้ในม้วนหนังสือรายชื่อคนที่จะได้ชีวิตตั้งแต่ “เริ่มมีโลก”—ลก 11:50, 51; วว 17:8
เป็นไปตามที่ผู้พยากรณ์ของพระเจ้าบอกไว้: ข้อความในเครื่องหมายคำพูดมาจาก สด 78:2 ซึ่งผู้เขียนหนังสือสดุดี (ในข้อนี้เรียกว่า “ผู้พยากรณ์”) ใช้ภาษาภาพพจน์เพื่อเล่าว่าพระเจ้าปฏิบัติกับชาติอิสราเอลอย่างไรในอดีต เมื่อพระเยซูใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบเพื่อสอนสาวกและฝูงชนที่ติดตามท่าน ท่านก็ชอบใช้ภาษาภาพพจน์ซึ่งช่วยให้เห็นภาพเหมือนกัน—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 1:22
ตั้งแต่สมัยโบราณ: หรืออาจแปลได้ว่า “ตั้งแต่เริ่มมีโลก” สำเนาพระคัมภีร์เก่าแก่บางฉบับเพิ่มคำกรีกที่แปลว่า “โลก” ในข้อนี้ (เทียบกับข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 25:34) แต่สำเนาพระคัมภีร์เก่าแก่ฉบับอื่น ๆ ไม่มีคำว่า “โลก”
ลูกมนุษย์: มีการใช้คำนี้ประมาณ 80 ครั้งในหนังสือข่าวดีทั้ง 4 เล่ม พระเยซูใช้คำนี้เมื่อพูดถึงตัวท่านเอง ดูเหมือนท่านใช้คำนี้เพื่อเน้นว่าท่านเป็นมนุษย์จริง ๆ ที่เกิดจากผู้หญิงและมีค่าเท่าเทียมกับอาดัม ท่านจึงสามารถไถ่มนุษย์จากบาปและความตายได้ (รม 5:12, 14, 15) คำนี้ยังทำให้รู้ว่าพระเยซูเป็นเมสสิยาห์หรือพระคริสต์ด้วย—ดนล 7:13, 14; ดูส่วนอธิบายศัพท์
ลูกมนุษย์: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 8:20
โลก: หมายถึงมนุษย์ที่อยู่บนโลก
สมัยสุดท้าย: มาจากคำกรีก ซูนเทะเล่อา ที่มีความหมายว่า “ร่วมกันจบ, ประกอบรวมกันจนจบ, จบด้วยกัน” (มธ 13:39, 40, 49; 28:20; ฮบ 9:26) คำนี้หมายถึงช่วงเวลาที่มีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นซึ่งจะนำไปสู่ “จุดจบ” สุดท้ายที่พูดถึงใน มธ 24:6, 14 สำหรับคำว่า “จุดจบ” ในข้อคัมภีร์ 2 ข้อนี้มีการใช้คำกรีกอีกคำหนึ่งคือ เทะลอส—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:6, 14 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “สมัยสุดท้ายของโลกนี้”
โลก: คำกรีก ไอโอน ซึ่งมีความหมายหลักว่า “ยุค” อาจหมายถึงสภาพการณ์หรือลักษณะเด่นของโลกหรือบางส่วนของโลกในช่วงเวลาหนึ่งหรือสมัยหนึ่ง ในข้อนี้ใช้คำนี้เมื่อพูดถึงลักษณะเด่นของชีวิตในโลกทุกวันนี้ซึ่งมีความวิตกกังวลและปัญหา—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “ยุค, โลกนี้”
โลกนี้: คำกรีก ไอโอน ที่มักจะแปลว่า “ยุค” อาจหมายถึงสภาพการณ์หรือลักษณะเด่นของโลกหรือบางส่วนของโลกในช่วงเวลาหนึ่งหรือสมัยหนึ่ง—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “ยุค, โลกนี้”
สมัยสุดท้าย: แปลจากคำกรีก ซูนเทะเล่อา และมีอยู่ที่ มธ 13:40, 49; 24:3; 28:20; ฮบ 9:26 ด้วย—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:3 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “สมัยสุดท้ายของโลกนี้”
โลกนี้: หรือ “ยุค”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 13:22; 24:3 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “สมัยสุดท้ายของโลกนี้”; “ยุค, โลกนี้”
ความชั่ว: คำกรีกที่แปลว่า “ความชั่ว” หมายถึงการที่ผู้คนฝ่าฝืนและไม่เคารพกฎหมาย พวกเขาทำเหมือนกับว่าบ้านเมืองไม่มีขื่อไม่มีแป เมื่อใช้ในคัมภีร์ไบเบิลคำนี้อาจหมายถึงการไม่สนใจกฎหมายของพระเจ้า—มธ 7:23; 2คร 6:14; 2ธส 2:3-7; 1ยน 3:4
ชั่ว: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:12
ด้วยความทุกข์ใจ: หรือ “ขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน” สำนวนนี้อาจเกี่ยวข้องกับความรู้สึกเจ็บปวด สิ้นหวัง และโกรธแค้น ซึ่งอาจแสดงออกด้วยคำพูดและการกระทำที่รุนแรง
ด้วยความทุกข์ใจ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 8:12
ทุกสิ่งทุกอย่าง: แม้สำเนาต้นฉบับยุคแรกฉบับหนึ่งจะไม่มีคำกรีก พาส (ทั้งหมด, ทุกสิ่งทุกอย่าง) ในข้อนี้ แต่สำเนาพระคัมภีร์เก่าแก่หลายฉบับทั้งจากยุคแรกและยุคหลังแสดงว่าควรมีคำนี้ในข้อนี้
ไข่มุก: ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล ไข่มุกที่สวยและมีคุณภาพจะได้จากทะเลแดง อ่าวเปอร์เซีย และมหาสมุทรอินเดีย จึงไม่แปลกที่พระเยซูพูดถึงพ่อค้าที่ต้องเดินทางและพยายามอย่างมากเพื่อหาไข่มุกแบบนั้น
ปลาที่ไม่ดี: อาจหมายถึงปลาที่ไม่มีครีบและไม่มีเกล็ดซึ่งตามกฎหมายของโมเสสถือว่าไม่สะอาดและกินไม่ได้ หรืออาจหมายถึงปลาทุกชนิดที่จับขึ้นมาแต่ไม่สามารถกินได้—ลนต 11:9-12; ฉธบ 14:9, 10
สมัยสุดท้าย: แปลจากคำกรีก ซูนเทะเล่อา และมีอยู่ที่ มธ 13:40, 49; 24:3; 28:20; ฮบ 9:26 ด้วย—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:3 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “สมัยสุดท้ายของโลกนี้”
โลกนี้: หรือ “ยุค”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 13:22; 24:3 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “สมัยสุดท้ายของโลกนี้”; “ยุค, โลกนี้”
สมัยสุดท้าย: มาจากคำกรีก ซูนเทะเล่อา ที่มีความหมายว่า “ร่วมกันจบ, ประกอบรวมกันจนจบ, จบด้วยกัน” (มธ 13:39, 40, 49; 28:20; ฮบ 9:26) คำนี้หมายถึงช่วงเวลาที่มีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นซึ่งจะนำไปสู่ “จุดจบ” สุดท้ายที่พูดถึงใน มธ 24:6, 14 สำหรับคำว่า “จุดจบ” ในข้อคัมภีร์ 2 ข้อนี้มีการใช้คำกรีกอีกคำหนึ่งคือ เทะลอส—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:6, 14 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “สมัยสุดท้ายของโลกนี้”
โลกนี้: คำกรีก ไอโอน ที่มักจะแปลว่า “ยุค” อาจหมายถึงสภาพการณ์หรือลักษณะเด่นของโลกหรือบางส่วนของโลกในช่วงเวลาหนึ่งหรือสมัยหนึ่ง—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “ยุค, โลกนี้”
สมัยสุดท้ายของโลกนี้: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 13:39; 24:3 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “สมัยสุดท้ายของโลกนี้”; “ยุค, โลกนี้”
ครู: หรือ “คนที่เรียนจนมีความรู้” มีการแปลคำกรีก กรามมาทีส ว่า “ครูสอนศาสนา” เมื่อพูดถึงครูชาวยิวกลุ่มหนึ่งที่เชี่ยวชาญกฎหมายของโมเสส แต่คำว่า “ครู” ในข้อนี้หมายถึงสาวกของพระเยซูที่ถูกฝึกเพื่อสอนคนอื่น
บ้านเดิมของท่าน: แปลตรงตัวว่า “ที่ของพ่อของท่าน” ซึ่งก็คือเมืองนาซาเร็ธบ้านเกิดของท่าน ครอบครัวของพระเยซูมาจากที่นั่น
ยากอบ: น่าจะหมายถึงยากอบที่เป็นน้องชายต่างพ่อของพระเยซู เขาอาจเป็นน้องชายคนถัดจากพระเยซู เพราะมีการพูดถึงเขาเป็นชื่อแรกในจำนวนลูกชาย 4 คนของโยเซฟและมารีย์คือ ยากอบ โยเซฟ ซีโมน และยูดาส (มธ 13:55; มก 6:3; ยน 7:5) ยากอบอยู่ในเหตุการณ์ในวันเพ็นเทคอสต์ปี ค.ศ. 33 ซึ่งตอนนั้นมีชาวยิวหลายพันคนมาจากหลายประเทศ พวกเขาตอบรับข่าวดีและรับบัพติศมา (กจ 1:14; 2:1, 41) ในข้อคัมภีร์นี้ เปโตรบอกให้สาวก ‘ไปบอกเรื่องนี้กับยากอบ’ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตอนนั้นยากอบนำหน้าในประชาคมเยรูซาเล็ม ดูเหมือนว่าเขาเป็นคนเดียวกับยากอบที่พูดถึงใน กจ 15:13; 21:18; 1คร 15:7; กท 1:19 (ที่นั่นเรียกเขาว่า “น้องชายของผู้เป็นนาย”) 2:9, 12 และเป็นคนเดียวกับที่เขียนหนังสือยากอบในคัมภีร์ไบเบิล—ยก 1:1; ยด 1
ลูกช่างไม้: คำกรีก เท็คโทน ที่แปลว่า “ช่างไม้” เป็นคำกว้าง ๆ ที่อาจหมายถึงช่างก่อสร้างหรือช่างฝีมือแบบไหนก็ได้ แต่เมื่อใช้คำนี้กับช่างไม้ ก็อาจหมายถึงคนที่มีอาชีพสร้างบ้าน ทำเฟอร์นิเจอร์ หรือทำเครื่องมือเครื่องใช้จากไม้ จัสติน มาร์เทอร์ซึ่งมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 2 เขียนว่าตอนที่พระเยซูทำงาน “เป็นช่างไม้อยู่บนโลก ท่านทำคันไถกับแอก” ฉบับแปลคัมภีร์ไบเบิลในยุคแรก ๆ ก็สนับสนุนเรื่องนี้ ผู้คนรู้กันว่าพระเยซูเป็นทั้ง “ลูกช่างไม้” และ “ช่างไม้” (มก 6:3) ดูเหมือนว่าพระเยซูเรียนอาชีพช่างไม้จากโยเซฟพ่อเลี้ยงของท่าน ตามปกติแล้วเด็กผู้ชายจะเริ่มฝึกงานเมื่ออายุประมาณ 12 ถึง 15 ปี และอาจใช้เวลาฝึกอยู่หลายปี
น้องชาย: คำกรีก อาเด็ลฟอส ในคัมภีร์ไบเบิลอาจหมายถึงพี่น้องร่วมความเชื่อ แต่ในข้อนี้หมายถึงน้องชายต่างพ่อของพระเยซูซึ่งเป็นลูกของโยเซฟกับมารีย์ บางคนที่เชื่อว่ามารีย์ยังเป็นสาวบริสุทธิ์ต่อไปหลังจากให้กำเนิดพระเยซูอ้างว่า คำกรีก อาเด็ลฟอส ในที่นี้หมายถึงลูกพี่ลูกน้อง แต่พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกใช้คำกรีกอีกคำหนึ่งสำหรับ “ลูกพี่ลูกน้อง” (คือ อาเน็พซิออส ที่ คส 4:10) และใช้คำกรีกอีกคำหนึ่งสำหรับ “ลูกชายของน้องสาวเปาโล” (กจ 23:16) ที่ ลก 21:16 ก็ใช้คำกรีกในรูปพหูพจน์ 2 คำ คือ ซูงเกะเน่อา (แปลว่า “ญาติ”) และ อาเด็ลฟอส (แปลว่า “พี่น้อง”) ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเมื่อพูดถึงความสัมพันธ์ในครอบครัว พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกจะใช้คำที่เฉพาะเจาะจง
ยากอบ: น้องชายต่างพ่อของพระเยซูซึ่งดูเหมือนเป็นคนเดียวกับยากอบที่พูดถึงใน กจ 12:17 (ดูข้อมูลสำหรับศึกษา) และ กท 1:19 เขาเป็นผู้เขียนหนังสือยากอบในคัมภีร์ไบเบิลด้วย—ยก 1:1
ยูดาส: น้องชายต่างพ่อของพระเยซูซึ่งดูเหมือนเป็นคนเดียวกับยูดา (ชื่อกรีก อิอู่ดาส) และเป็นผู้เขียนหนังสือยูดาในคัมภีร์ไบเบิล—ยูดา 1
ทำให้คุณหลงทำผิด: แปลตรงตัวว่า “ทำให้คุณสะดุด” ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก คำกรีก สคานดาลิโศ หมายถึงการสะดุดในความหมายเป็นนัย ซึ่งอาจรวมถึงการหลงทำผิดหรือการเป็นเหตุให้คนอื่นหลงทำผิดก็ได้ ในท้องเรื่องนี้ คำนี้อาจแปลได้ด้วยว่า “ทำให้คุณทำผิด, เป็นหลุมพรางดักคุณ” เมื่อมีการใช้คำนี้ในคัมภีร์ไบเบิล การทำผิดจึงอาจหมายถึงการฝ่าฝืนกฎหมายข้อใดข้อหนึ่งของพระเจ้าในเรื่องศีลธรรม การสูญเสียความเชื่อ หรือการยอมรับคำสอนเท็จ คำกรีกนี้ยังมีความหมายว่า “ไม่พอใจ” ได้ด้วย—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 13:57; 18:7
พวกเขาเลยไม่ยอมรับพระเยซู: แปลตรงตัวว่า “พวกเขาสะดุดท่าน” ในท้องเรื่องนี้คำกรีก สคานดาลิโศ หมายถึงการสะดุดในความหมายเป็นนัย ซึ่งก็คือ “ไม่พอใจ” และยังอาจแปลได้ว่า “พวกเขาไม่เชื่อในตัวท่าน” ในท้องเรื่องอื่น คำกรีกนี้ยังหมายถึงการหลงทำผิดหรือเป็นต้นเหตุให้คนอื่นหลงทำผิดด้วย—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 5:29
ไม่ทำการอัศจรรย์ที่นั่น: พระเยซูไม่ได้ทำการอัศจรรย์ในเมืองนาซาเร็ธมากนัก ไม่ใช่เพราะท่านไม่มีอำนาจ แต่เป็นเพราะสภาพการณ์ในเมืองนั้นไม่เหมาะสม คนในเมืองนาซาเร็ธขาดความเชื่อ (มธ 13:58) พลังของพระเจ้าไม่ควรถูกใช้ไปเปล่า ๆ กับพวกคนช่างสงสัยที่ไม่ตอบรับความจริง—เทียบกับ มธ 10:14; ลก 16:29-31
ท่านจึงไม่ได้ทำการอัศจรรย์ที่นั่นมากนัก: พระเยซูไม่ได้ทำการอัศจรรย์ในเมืองนาซาเร็ธมากนัก ไม่ใช่เพราะท่านไม่มีอำนาจ แต่เป็นเพราะสภาพการณ์ในเมืองนั้นไม่เหมาะสม คนในเมืองนาซาเร็ธขาดความเชื่อ (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 6:5) พลังของพระเจ้าไม่ควรถูกใช้ไปเปล่า ๆ กับพวกคนช่างสงสัยที่ไม่ตอบรับความจริง—เทียบกับ มธ 10:14; ลก 16:29-31
วีดีโอและรูปภาพ

ระดับน้ำและสภาพภูมิประเทศของทะเลสาบกาลิลีเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยตั้งแต่ช่วงที่พระเยซูอยู่บนโลก แต่น่าจะเป็นบริเวณนี้ที่พระเยซูพูดกับฝูงชนจากบนเรือ เสียงของท่านที่สะท้อนผิวน้ำคงดังพอที่ฝูงชนจะได้ยินอย่างชัดเจน

ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล มีวิธีหว่านเมล็ดพืชหลายแบบ คนหว่านบางคนจะสะพายย่ามใส่เมล็ดพืชไว้ที่ไหล่และมัดไว้กับเอว ส่วนบางคนก็พับชายเสื้อชั้นนอกขึ้นมาและใส่เมล็ดพืชไว้ในนั้น พวกเขาจะใช้มือหว่านและเหวี่ยงเมล็ดพืชไปไกล ๆ เนื่องจากทุ่งนามีคันนาที่เป็นดินแข็ง คนหว่านจึงต้องทำให้แน่ใจว่าเมล็ดพืชตกลงบนดินที่ดี และต้องรีบเอาดินกลบให้เร็วที่สุดเพื่อไม่ให้นกมาจิกกินได้

ยุ้งฉางมีอยู่ทั่วอิสราเอล ใช้เป็นที่เก็บเมล็ดข้าวที่นวดแล้ว ยุ้งฉางบางแห่งยังใช้เก็บน้ำมันและเหล้าองุ่น หรือแม้แต่โลหะและหินมีค่าด้วย

ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล บางครั้งคนที่เกี่ยวข้าวก็แค่ดึงต้นข้าวออกจากดิน แต่ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาจะใช้เคียวเกี่ยวข้าว (ฉธบ 16:9; มก 4:29) การเกี่ยวข้าวเป็นงานที่ทำด้วยกันหลาย ๆ คน คนเกี่ยวจะช่วยกันเกี่ยวข้าวที่สุกแล้วในทุ่งนา (นรธ 2:3; 2พก 4:18) ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลหลายคน เช่น กษัตริย์โซโลมอน ผู้พยากรณ์โฮเชยา และอัครสาวกเปาโลใช้ตัวอย่างการเกี่ยวข้าวเพื่อสอนความจริงที่สำคัญบางอย่าง (สภษ 22:8; ฮชย 8:7; กท 6:7-9) พระเยซูก็ใช้อาชีพที่ชาวยิวคุ้นเคยนี้เป็นตัวอย่างเปรียบเทียบถึงบทบาทของทูตสวรรค์และสาวกของท่านในการสอนคนให้เป็นสาวก—มธ 13:24-30, 39; ยน 4:35-38

ในบรรดาเมล็ดพืชชนิดต่าง ๆ ที่ชาวไร่ในกาลิลีหว่านและเก็บเกี่ยว เมล็ดมัสตาร์ดดูเหมือนมีขนาดเล็กที่สุด ในข้อเขียนของชาวยิวโบราณมีการใช้เมล็ดมัสตาร์ดเป็นภาพเปรียบเทียบถึงสิ่งที่มีขนาดเล็กที่สุด

ดูเหมือนอวนในสมัยพระเยซูจะทำจากใยป่าน แหล่งอ้างอิงบางแหล่งบอกว่าอวนลากอาจยาวถึง 300 เมตร มีตุ้มถ่วงน้ำหนักอยู่รอบ ๆ และติดทุ่นลอยไว้ด้านบน ชาวประมงจะเอาเรือออกไปหย่อนอวนลงในน้ำ บางครั้งพวกเขาจะมัดเชือกยาวติดกับอวนและให้หลายคนที่ยืนอยู่บนฝั่งค่อย ๆ ดึงเชือกเพื่อลากอวนกลับมาที่ฝั่ง อวนจะลากทุกอย่างกลับมา