กิจการของอัครสาวก 3:1-26
ข้อมูลสำหรับศึกษา
9 โมงเช้า: แปลตรงตัวว่า “ชั่วโมงที่ 3” ในสมัยศตวรรษแรก ชาวยิวนับช่วงกลางวันยาว 12 ชั่วโมงเริ่มตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นตอนประมาณ 6 โมงเช้า (ยน 11:9) ดังนั้น ชั่วโมงที่ 3 จึงหมายถึงประมาณ 9 โมงเช้า ชั่วโมงที่ 6 หมายถึงประมาณเที่ยง และชั่วโมงที่ 9 หมายถึงประมาณบ่าย 3 โมง เนื่องจากผู้คนสมัยนั้นไม่มีเครื่องบอกเวลาที่แน่นอน บันทึกในพระคัมภีร์จึงมักบอกเวลาแบบประมาณ—ยน 1:39; 4:6; 19:14; กจ 10:3, 9
บ่าย 3 โมง: แปลตรงตัวว่า “ชั่วโมงที่ 9”—ดู ข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 2:15
เวลาสำหรับอธิษฐาน: ดูเหมือนว่ามีการอธิษฐานกันเป็นประจำที่วิหารตอนที่มีการถวายเครื่องบูชาในตอนเช้าและตอนเย็น (อพย 29:38-42; 30:7, 8) ลูกาบอกว่า “พอถึงเวลาถวายเครื่องหอม ประชาชนก็มาอธิษฐาน” (ลก 1:10) ตอนพูดถึงรายละเอียดของการถวายเครื่องบูชาในแต่ละวัน พระยะโฮวามีคำสั่งให้กษัตริย์ดาวิดตั้งปุโรหิตและคนเลวีให้ยกย่อง ขอบคุณ และสรรเสริญ ซึ่งแน่นอนว่านี่รวมถึงการอธิษฐานด้วย (1พศ 16:4; 23:30; 2พศ 29:25, 26) ดังนั้น การถวายเครื่องหอมและการอธิษฐานจึงมักจะเกี่ยวข้องกันอย่างมาก (สด 141:2; วว 5:8; 8:3, 4) ในช่วงเวลาสำหรับอธิษฐาน ผู้คนมักจะรวมตัวกันอยู่ในลานต่าง ๆ ของวิหาร บางคนอาจมาที่วิหารในวันนั้นเพื่อให้ปุโรหิตชำระตัว ส่วนคนอื่น ๆ ก็มาอธิษฐานและนมัสการแบบปกติ (ลก 2:22-38) คำสอนสืบปากของพวกรับบีบอกว่า พวกปุโรหิตจะจับฉลากกันเพื่อเลือกว่าใครจะเข้าไปถวายเครื่องบูชาที่แท่นบูชาทองคำ ปุโรหิตที่ถูกเลือกต้องไม่เคยถวายเครื่องบูชาที่แท่นนั้นมาก่อน และเขาอาจได้รับเกียรติให้ทำงานนั้นแค่ครั้งเดียวในชีวิต ปุโรหิตคนนั้นจะเดินอย่างสำรวมเข้าไปในห้องบริสุทธิ์ ในขณะที่ปุโรหิตและคนเลวีอื่น ๆ จะยืนรออยู่ด้านนอก ในเวลาเดียวกันปุโรหิตกับประชาชนที่อยู่ในลานต่าง ๆ ของวิหารก็จะอธิษฐาน ตอนที่ควันของเครื่องหอมกำลังลอยขึ้นไปบนท้องฟ้าผู้คนก็อธิษฐานกันอยู่เงียบ ๆ ประมาณครึ่งชั่วโมง (ลก 1:9, 10) ช่วง “เวลาสำหรับอธิษฐาน” จะจบลงด้วยความยินดีเพราะจะมีการอวยพรประชาชน (กดว 6:22-27) และกลุ่มคนเลวีจะร้องเพลงสรรเสริญซึ่งเป็นเพลงที่ถูกเลือกไว้สำหรับวันนั้น
ชาวนาซาเร็ธ: เป็นฉายาเรียกพระเยซู และต่อมาก็ใช้เรียกสาวกของท่านด้วย (กจ 24:5) เนื่องจากชาวยิวหลายคนมีชื่อว่าเยซู จึงเป็นเรื่องปกติที่จะเพิ่มคำเพื่อระบุตัวตน ซึ่งตามธรรมเนียมในสมัยคัมภีร์ไบเบิล คำที่เพิ่มเข้าไปก็มักจะเป็นถิ่นเดิมหรือบ้านเกิดของคนนั้น (2ซม 3:2, 3; 17:27; 23:25-39; นฮม 1:1; กจ 13:1; 21:29) ตอนพระเยซูเป็นเด็กท่านใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่เมืองนาซาเร็ธแคว้นกาลิลี จึงเป็นเรื่องปกติที่จะใช้คำนี้ต่อท้ายชื่อของท่าน พระเยซูถูกเรียกว่า “ชาวนาซาเร็ธ” ในหลายโอกาส และมีหลายคนเรียกท่านแบบนี้ (มก 1:23, 24; 10:46, 47; 14:66-69; 16:5, 6; ลก 24:13-19; ยน 18:1-7) พระเยซูก็ยอมรับชื่อนี้และเรียกตัวเองแบบนี้ด้วย (ยน 18:5-8; กจ 22:6-8) บนป้ายที่ปีลาตให้ติดไว้บนเสาทรมานของพระเยซู เขาเขียนในภาษาฮีบรู ละติน และกรีกว่า “เยซูชาวนาซาเร็ธ กษัตริย์ของชาวยิว” (ยน 19:19, 20) ตั้งแต่วันเพ็นเทคอสต์ปี ค.ศ. 33 พวกอัครสาวกและคนอื่น ๆ ก็มักพูดถึงพระเยซูว่าเป็นชาวนาซาเร็ธด้วย—กจ 2:22; 3:6; 4:10; 6:14; 10:38; 26:9; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 2:23 ด้วย
ชาวนาซาเร็ธ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 10:47
ผู้นำคนสำคัญ: คำกรีกที่ใช้ในข้อนี้ (อาร์เฆกอส) มีความหมายหลักว่า “คนที่นำหน้า, คนที่ไปก่อน” มีคำกรีกนี้อยู่ 4 ครั้งในคัมภีร์ไบเบิล และทุกครั้งก็ใช้เพื่อหมายถึงพระเยซู (กจ 3:15; 5:31; ฮบ 2:10; 12:2) คำกรีกนี้อาจใช้เพื่อหมายถึงคนที่นำทางได้ด้วย เช่น คนที่บุกเบิกเส้นทาง หรือคนที่เตรียมทางให้คนอื่นเดินตาม เนื่องจากพระเยซูเป็นคนกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์และเป็นผู้เปิดทางให้คนอื่นได้ชีวิตตลอดไป จึงเหมาะที่จะเรียกท่านว่าผู้นำคนสำคัญที่ให้ชีวิตหรือผู้บุกเบิกทางสู่ชีวิต คำว่า “ผู้นำคนสำคัญ” บ่งชี้ว่าผู้นำคนนี้มีอำนาจหน้าที่เหมือนหัวหน้าหรือเจ้านาย (มีการใช้คำกรีกที่เกี่ยวข้องกันใน กจ 7:27, 35 เพื่อพูดถึงโมเสสว่าเป็น “ผู้นำ” ชาติอิสราเอล) ท้องเรื่องนี้ยังทำให้เห็นว่าผู้นำคนนี้เป็นคนที่ทำให้ความประสงค์ของพระยะโฮวาสำเร็จ และพระเยซูก็เป็น “ค่าไถ่ที่มีค่าเท่าเทียมกัน” เพื่อไถ่ชีวิตผู้คนมากมาย (1ทธ 2:5, 6; มธ 20:28; กจ 4:12) หลังจากพระเยซูถูกปลุก ท่านก็เป็นมหาปุโรหิตและผู้พิพากษาที่สามารถเอาคุณค่าของเครื่องบูชาไถ่ไปช่วยผู้คนที่แสดงความเชื่อให้รอดจากบาปและความตาย พระเยซูจึงเป็นผู้ที่พระเจ้าใช้เพื่อปลุกคนอื่นให้ฟื้นขึ้นจากความตาย (ยน 5:28, 29; 6:39, 40) ซึ่งนั่นเป็นการเปิดทางไปสู่ชีวิตตลอดไป (ยน 11:25; 14:6; ฮบ 5:9; 10:19, 20) ถึงแม้ผู้แปลคัมภีร์ไบเบิลบางคนแปลคำนี้ว่า “เจ้าชีวิต” หรือ “แหล่งกำเนิดของชีวิต” แต่คัมภีร์ไบเบิลแสดงให้เห็นชัดเจนว่าตำแหน่งนี้ไม่เหมาะกับพระเยซู เพราะพระเยซูได้ชีวิตและอำนาจจากพระเจ้า ท่านเป็นผู้ที่พระเจ้าใช้ทำสิ่งต่าง ๆ—สด 36:9; ยน 6:57; กจ 17:26-28; คส 1:15; วว 3:14
กลับใจ: คำกรีกที่ใช้ในข้อนี้อาจแปลตรงตัวว่า “เปลี่ยนจิตใจ” ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนความคิด ทัศนคติ หรือความตั้งใจ คำว่า “กลับใจ” ในท้องเรื่องนี้หมายถึงการที่คนเราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อทำให้พระเจ้าพอใจและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระองค์—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:8, 11 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “กลับใจ”
ทำให้เห็นสิว่าคุณกลับใจ: หรือ “แสดงผลที่สมกับการกลับใจ” หมายถึงคนที่ฟังยอห์นต้องแสดงหลักฐานหรือทำให้เห็นว่าเขาเปลี่ยนความคิดหรือเปลี่ยนทัศนคติแล้วจริง ๆ—ลก 3:8; กจ 26:20; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:2, 11 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “กลับใจ”
เปลี่ยนมาเชื่อพระเจ้า: คำกรีก เอะพิสะทะรอเฟ ที่ใช้ในข้อนี้มาจากคำกริยาที่มีความหมายว่า “กลับมา, หันกลับ” (ยน 12:40; 21:20; กจ 15:36) เมื่อใช้ในแง่ของความเชื่อ คำนี้อาจเกี่ยวข้องกับการกลับมาหาพระเจ้าเที่ยงแท้ และทิ้งรูปเคารพกับพระเท็จ (มีการใช้คำกริยานี้ด้วยที่ กจ 3:19; 14:15; 15:19; 26:18, 20; 2คร 3:16) และที่ 1ธส 1:9 ก็ใช้คำกริยานี้ในสำนวนที่บอกว่า “พวกคุณทิ้ง รูปเคารพแล้วมาหา พระเจ้า” ต้องมีการกลับใจก่อนถึงจะเปลี่ยนมาเชื่อพระเจ้าได้—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:2, 8; กจ 3:19; 26:20
กลับใจ: คำกรีกที่ใช้ในข้อนี้อาจแปลตรงตัวว่า “เปลี่ยนจิตใจ” ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนความคิด ทัศนคติ หรือความตั้งใจ ในท้องเรื่องนี้ คำว่า “กลับใจ” เกี่ยวข้องกับคำว่าและหันมาหาพระเจ้า ดังนั้น การกลับใจจึงเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ที่คนเรามีกับพระเจ้า เพื่อที่คนเราจะกลับใจอย่างแท้จริง พวกเขาต้องทำสิ่งที่แสดงว่าพวกเขากลับใจจริง ๆ ซึ่งหมายความว่าสิ่งที่เขาทำต้องให้หลักฐานว่าเขาเปลี่ยนความคิดจิตใจและทัศนคติจริง ๆ—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:2, 8; ลก 3:8 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “กลับใจ”
พระยะโฮวา: ข้อความนี้ยกมาจาก ฉธบ 18:15 ซึ่งในต้นฉบับภาษาฮีบรูมีชื่อของพระเจ้าเขียนด้วยอักษรฮีบรู 4 ตัว (ตรงกับเสียงอักษรไทย ยฮวฮ) น่าสนใจที่ข้อความนี้ในสำเนาเก่าแก่ของฉบับเซปตัวจินต์ (อยู่ในพาไพรัสฟูอัดหมายเลข 266) มีชื่อของพระเจ้าเขียนด้วยอักษรฮีบรูแบบเหลี่ยม () ในข้อความภาษากรีก สำเนานี้ทำขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 ก่อน ค.ศ. (ดูภาคผนวก ก5) นอกจากนั้น พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกที่แปลเป็นภาษาฮีบรูหลายฉบับก็มีเททรากรัมมาทอนอยู่ในข้อนี้ด้วย ดังนั้น ถึงแม้สำเนาพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกที่มีอยู่ในตอนนี้จะใช้คำว่า คูริออส (องค์พระผู้เป็นเจ้า) ในข้อนี้ แต่ก็มีเหตุผลที่ดีหลายอย่างที่ฉบับแปลโลกใหม่ มีชื่อของพระเจ้าอยู่ในข้อนี้
กลับใจและเปลี่ยนแปลงชีวิตใหม่: คำกรีก เมะทานอเอะโอ ที่ใช้ในข้อนี้อาจแปลตรงตัวว่า “เปลี่ยนจิตใจ” ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนความคิด ทัศนคติ หรือความตั้งใจ ในท้องเรื่องนี้ การกลับใจเกี่ยวข้องกับการที่คนหนึ่งอยากจะฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่เขามีกับพระเจ้า คนทำผิดที่กลับใจจริง ๆ จะรู้สึกเสียใจมากกับสิ่งที่เขาทำและตั้งใจที่จะไม่กลับไปทำสิ่งนั้นอีก (2คร 7:10, 11; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:2, 8) ยิ่งกว่านั้น การกลับใจแท้จะกระตุ้นคนที่ทำผิดให้ “เปลี่ยนแปลงชีวิตใหม่” ซึ่งก็คือทิ้งแนวทางชีวิตเดิมและใช้ชีวิตในแบบที่พระเจ้าพอใจ ทั้งคำกริยาฮีบรูและกรีกที่แปลว่า “เปลี่ยนแปลงชีวิตใหม่” (คำฮีบรู ชัฟ; คำกรีก สะทะเระโฟ; เอะพิสะทะเระโฟ) มีความหมายตรงตัวว่า “กลับมา, หันกลับ” (ปฐก 18:10; 50:14) แต่เมื่อใช้คำนี้ในความหมายเป็นนัยก็อาจหมายถึงการเลิกใช้ชีวิตผิด ๆ และหันกลับไปหาพระเจ้า—1พก 8:33; อสค 33:11; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 15:3; 26:20
ลบล้าง: คำกริยากรีกที่ใช้ในข้อนี้มีความหมายว่า “ทำให้หายไปด้วยการเช็ด” ในคัมภีร์ไบเบิลมีการใช้คำนี้เมื่อพูดถึงการเช็ดน้ำตา (วว 7:17; 21:4) และลบชื่อออกจากหนังสือรายชื่อคนที่จะได้ชีวิต (วว 3:5) ในท้องเรื่องนี้คำนี้หมายถึง “การลบออกโดยไม่เหลือร่องรอยอะไรเลย” ผู้เชี่ยวชาญบางคนบอกว่าคำนี้ให้ภาพของการลบข้อความที่เขียนด้วยมือ—เทียบกับ คส 2:14 ที่มีการแปลคำกรีกเดียวกันนี้ว่า “ยกเลิก”
จากพระยะโฮวา: ข้อความนี้ในสำเนาพระคัมภีร์ภาษากรีกที่ยังหลงเหลืออยู่อ่านว่า “จากหน้าขององค์พระผู้เป็นเจ้า” ท้องเรื่องที่ กจ 3:17-22 แสดงให้เห็นว่าคำว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” ที่อยู่ในข้อนี้ไม่ใช่พระเยซูแต่เป็นพระยะโฮวาพระเจ้าที่ “ส่งพระคริสต์มา” (กจ 3:20) และยังมีการใช้คำกรีก “องค์พระผู้เป็นเจ้า” (คูริออส) ที่ กจ 3:22 ซึ่งยกข้อความมาจาก ฉธบ 18:15 โดยในต้นฉบับภาษาฮีบรูมีเททรากรัมมาทอนอยู่ด้วย (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 3:22) ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู สำนวน “หน้าพระยะโฮวา” ประกอบด้วยคำฮีบรู “หน้า” และเททรากรัมมาทอน—วนฉ 5:5; สด 34:16
ท่านต้องอยู่ใน: น่าจะหมายถึงช่วงเวลาที่พระเยซูต้องรออยู่ด้านขวามือของพระเจ้าบนสวรรค์จนกว่าเวลาที่ทุกสิ่งจะได้รับการฟื้นฟูจะเริ่มต้น—สด 110:1, 2; ลก 21:24; ฮบ 10:12, 13
เวลาที่ทุกสิ่งจะได้รับการฟื้นฟู: คำนามกรีกที่แปลว่า “การฟื้นฟู” (อาพอคาทาสทาซิส) ที่คัมภีร์ไบเบิลบางฉบับแปลว่า “การตั้งขึ้นใหม่” มาจากคำ 2 คำคือ อาพอ ที่แปลว่า “กลับ” หรือ “อีกครั้ง” และ คาทิสเทไม ที่แปลตรงตัวว่า “ตั้ง” ที่ กจ 1:6 มีการแปลคำกริยากรีกที่เกี่ยวข้องกับคำนามนี้ว่า “กู้เอกราช” โยเซฟุสก็ใช้คำกรีกที่แปลว่า “การฟื้นฟู” เมื่อพูดถึงชาวยิวที่กลับจากการเป็นเชลยในบาบิโลน ในเอกสารพาไพรัสมีการใช้คำนี้เมื่อพูดถึงการซ่อมแซมอาคาร การคืนที่ดินให้กับเจ้าของ และการปรับบัญชีรายรับรายจ่าย ที่ กจ 3:21 ไม่ได้บอกว่ามีอะไรบ้างที่จะได้รับการฟื้นฟู ดังนั้น เพื่อจะรู้ว่าทุกสิ่งที่ได้รับการฟื้นฟูนั้นมีอะไรบ้างก็ต้องศึกษาสิ่งที่พระเจ้าบอกไว้ผ่านทางพวกผู้พยากรณ์ . . . สมัยโบราณ ในข้อเขียนของผู้พยากรณ์ชาวฮีบรูมีการพูดถึงการฟื้นฟูอยู่บ่อย ๆ พระยะโฮวาสัญญาผ่านทางพวกผู้พยากรณ์ว่าแผ่นดินจะได้รับการฟื้นฟู จะมีคนกลับมาอยู่อาศัย จะอุดมสมบูรณ์ และจะไม่มีสัตว์ป่าหรือศัตรูมาโจมตี พระยะโฮวาได้บอกไว้ว่าแผ่นดินที่ได้รับการฟื้นฟูจะเป็นเหมือนอุทยาน (อสย 65:25; อสค 34:25; 36:35) ที่สำคัญที่สุด จะมีการสร้างวิหารขึ้นใหม่และจะมีการฟื้นฟูการนมัสการแท้ (อสย 2:1-5; มคา 4:1-5) ดังนั้น การฟื้นฟูที่บอกไว้ล่วงหน้าจะเกี่ยวข้องกับทั้งการฟื้นฟูการนมัสการและการฟื้นฟูแผ่นดินจริง ๆ
พระยะโฮวา: ข้อความนี้ยกมาจาก ฉธบ 18:15 ซึ่งในต้นฉบับภาษาฮีบรูมีชื่อของพระเจ้าเขียนด้วยอักษรฮีบรู 4 ตัว (ตรงกับเสียงอักษรไทย ยฮวฮ) น่าสนใจที่ข้อความนี้ในสำเนาเก่าแก่ของฉบับเซปตัวจินต์ (อยู่ในพาไพรัสฟูอัดหมายเลข 266) มีชื่อของพระเจ้าเขียนด้วยอักษรฮีบรูแบบเหลี่ยม () ในข้อความภาษากรีก สำเนานี้ทำขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 ก่อน ค.ศ. (ดูภาคผนวก ก5) นอกจากนั้น พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกที่แปลเป็นภาษาฮีบรูหลายฉบับก็มีเททรากรัมมาทอนอยู่ในข้อนี้ด้วย ดังนั้น ถึงแม้สำเนาพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกที่มีอยู่ในตอนนี้จะใช้คำว่า คูริออส (องค์พระผู้เป็นเจ้า) ในข้อนี้ แต่ก็มีเหตุผลที่ดีหลายอย่างที่ฉบับแปลโลกใหม่ มีชื่อของพระเจ้าอยู่ในข้อนี้
ลูกหลาน: หรือ “ผู้สืบเชื้อสาย”—ดูภาคผนวก ก2
วีดีโอและรูปภาพ

วีดีโอ 3 มิตินี้แสดงภาพจำลองหนึ่งที่อาจเป็นไปได้ของระเบียงทางเดินของโซโลมอน ระเบียงนี้ตั้งอยู่ทางตะวันออกของลานชั้นนอกของวิหารในกรุงเยรูซาเล็มสมัยศตวรรษแรก ระเบียงทางเดินของโซโลมอนเป็นทางเดินกว้างที่มีหลังคา คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงระเบียงทางเดินนี้ 3 ครั้ง ยอห์นเล่าว่าครั้งหนึ่งตอนที่พระเยซูเดินอยู่ที่ระเบียงนี้ พวกยิวมายืนล้อมท่านและถามว่าท่านเป็นพระคริสต์หรือเปล่า (ยน 10:22-24) อีกครั้งหนึ่ง ฝูงชนมาชุมนุมกันที่ระเบียงทางเดินของโซโลมอนเพื่อฟังเปโตรอธิบายว่าเขารักษาผู้ชายที่เป็นง่อยมาตั้งแต่เกิดได้อย่างไร (กจ 3:1-7, 11) และครั้งที่ 3 คริสเตียนยุคแรกมักมาพบกันที่ระเบียงทางเดินของโซโลมอนซึ่งเป็นที่ที่คนทั่วไปเห็นได้—กจ 5:12, 13; ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “ระเบียงทางเดินของโซโลมอน”