กิจการของอัครสาวก 24:1-27
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
ผู้นำ: แปลตรงตัวว่า “คนสูงอายุ” คำกรีก เพร็สบูเทะรอส ที่ใช้ในคัมภีร์ไบเบิลมักจะหมายถึงคนที่มีตำแหน่งและหน้าที่รับผิดชอบในชุมชนหรือในชาติ ถึงแม้คำนี้บางครั้งหมายถึงคนที่อายุมากกว่าหรือคนสูงอายุ (เช่นที่ ลก 15:25; กจ 2:17) แต่ก็มีความหมายในแง่อื่นด้วย ในข้อนี้คำว่า “ผู้นำ” หมายถึงพวกผู้นำชาวยิวซึ่งคัมภีร์ไบเบิลมักพูดถึงพวกเขาพร้อมกับพวกปุโรหิตใหญ่และครูสอนศาสนา สมาชิกศาลแซนเฮดรินก็ประกอบด้วยคนจาก 3 กลุ่มนี้—มธ 21:23; 26:3, 47, 57; 27:1, 41; 28:12; ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “ผู้นำ”
ผู้นำ: ในข้อนี้คำว่า “ผู้นำ” หมายถึงพวกผู้นำชาวยิวซึ่งคัมภีร์ไบเบิลมักพูดถึงพวกเขาพร้อมกับพวกปุโรหิตใหญ่และครูสอนศาสนา—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 16:21
ทนายความ: คำกรีก เรโทร มีความหมายเดิมว่า “คนที่พูดต่อหน้าสาธารณชน, นักพูด” แต่ต่อมาคำนี้ยังหมายถึง “คนที่พูดในศาล, ทนายความ” ด้วย เทอร์ทูลลัสเดินทางไปเมืองซีซารียาเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาเปาโลต่อผู้ว่าราชการเฟลิกส์
อาณาจักร: คำกรีกที่แปลในข้อนี้ว่า “อาณาจักร” (ออยคู่เมะเน) เมื่อใช้ในความหมายกว้าง ๆ จะหมายถึงโลกซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ (ลก 4:5; กจ 17:31; รม 10:18; วว 12:9; 16:14) ในศตวรรษแรก มีการใช้คำนี้เมื่อพูดถึงจักรวรรดิโรมันอันกว้างใหญ่ซึ่งเป็นที่ที่ชาวยิวกระจัดกระจายกันอยู่—กจ 24:5
ชาวนาซาเร็ธ: เป็นฉายาเรียกพระเยซู และต่อมาก็ใช้เรียกสาวกของท่านด้วย (กจ 24:5) เนื่องจากชาวยิวหลายคนมีชื่อว่าเยซู จึงเป็นเรื่องปกติที่จะเพิ่มคำเพื่อระบุตัวตน ซึ่งตามธรรมเนียมในสมัยคัมภีร์ไบเบิล คำที่เพิ่มเข้าไปก็มักจะเป็นถิ่นเดิมหรือบ้านเกิดของคนนั้น (2ซม 3:2, 3; 17:27; 23:25-39; นฮม 1:1; กจ 13:1; 21:29) ตอนพระเยซูเป็นเด็กท่านใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่เมืองนาซาเร็ธแคว้นกาลิลี จึงเป็นเรื่องปกติที่จะใช้คำนี้ต่อท้ายชื่อของท่าน พระเยซูถูกเรียกว่า “ชาวนาซาเร็ธ” ในหลายโอกาส และมีหลายคนเรียกท่านแบบนี้ (มก 1:23, 24; 10:46, 47; 14:66-69; 16:5, 6; ลก 24:13-19; ยน 18:1-7) พระเยซูก็ยอมรับชื่อนี้และเรียกตัวเองแบบนี้ด้วย (ยน 18:5-8; กจ 22:6-8) บนป้ายที่ปีลาตให้ติดไว้บนเสาทรมานของพระเยซู เขาเขียนในภาษาฮีบรู ละติน และกรีกว่า “เยซูชาวนาซาเร็ธ กษัตริย์ของชาวยิว” (ยน 19:19, 20) ตั้งแต่วันเพ็นเทคอสต์ปี ค.ศ. 33 พวกอัครสาวกและคนอื่น ๆ ก็มักพูดถึงพระเยซูว่าเป็นชาวนาซาเร็ธด้วย—กจ 2:22; 3:6; 4:10; 6:14; 10:38; 26:9; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 2:23 ด้วย
ตัวปัญหา: แปลตรงตัวว่า “โรคระบาด” ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกมีการใช้คำนี้อีกแค่ครั้งเดียวคือที่ ลก 21:11 ซึ่งที่นั่นใช้คำนี้ในความหมายตรงตัวหมายถึงโรคระบาด แต่ในข้อนี้ใช้คำนี้ในความหมายเป็นนัยเพื่อพูดถึงคนที่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น จึงมีการแปลว่า “ตัวปัญหา”
ทุกแห่ง: หรือ “ทั่วโลก” ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 2:1
นิกาย: มาจากคำกรีก ไฮเระซิส ซึ่งน่าจะมีความหมายเดิมว่า “การเลือก” และในฉบับเซปตัวจินต์ ก็ใช้คำนี้ในความหมายนี้ที่ ลนต 22:18 ที่นั่นพูดถึงชาวอิสราเอลที่ถวายเครื่องบูชา “ตามที่พวกเขาเลือก” ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกใช้คำนี้เพื่อหมายถึงกลุ่มคนที่ยึดถือความคิดเห็นหรือหลักคำสอนบางอย่าง มีการใช้คำนี้กับ 2 นิกายใหญ่ ๆ ของศาสนายิวคือฟาริสีกับสะดูสี (กจ 5:17; 15:5; 26:5) คนที่ไม่ใช่คริสเตียนเรียกศาสนาคริสต์ว่า “นิกาย” หรือ “นิกายของชาวนาซาเร็ธ” เพราะพวกเขาอาจมองว่าศาสนาคริสต์แตกออกมาจากศาสนายิว (กจ 24:5, 14; 28:22) คำกรีก ไฮเระซิส ยังใช้เพื่อหมายถึงกลุ่มต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประชาคมคริสเตียน พระเยซูเน้นว่าสาวกของท่านต้องเป็นหนึ่งเดียวกันและท่านอธิษฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ (ยน 17:21) และพวกอัครสาวกก็พยายามอย่างมากเพื่อให้ประชาคมคริสเตียนเป็นหนึ่งเดียวกันด้วย (1คร 1:10; ยด 17-19) ถ้าพี่น้องในประชาคมแตกแยกกันเป็นกลุ่ม ๆ พวกเขาก็จะไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน ดังนั้น คำกรีก ไฮเระซิส ที่ใช้ในพระคัมภีร์จึงมีความหมายในแง่ลบหมายถึงการแตกเป็นกลุ่ม ๆ หรือการแยกออกเป็นนิกายต่าง ๆ การแตกแยกทางความเชื่อแบบนี้ทำให้เกิดการโต้เถียง ความขัดแย้ง และการเป็นศัตรูกัน (เทียบกับ กจ 23:7-10) ประชาคมคริสเตียนจึงต้องไม่แตกแยกเป็นนิกายต่าง ๆ เพราะนั่นเป็น “การกระทำที่เกิดจากความต้องการของร่างกายที่มีบาป”—กท 5:19-21; 1คร 11:19; 2ปต 2:1
ชาวนาซาเร็ธ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 10:47
สำเนาพระคัมภีร์ภาษากรีกยุคหลังบางฉบับและฉบับแปลเก่าแก่บางฉบับเพิ่มข้อความในข้อ 6-8 ว่า “และก็คงจะได้พิพากษาเขาตามกฎหมาย (7) แต่นายพันลีเซียสได้มาใช้อำนาจแย่งตัวเขาไปจากมือของเรา (8) และสั่งให้เรียกโจทก์มาฟ้องเขา” แต่ข้อความนี้ไม่มีในสำเนาพระคัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุดและน่าเชื่อถือที่สุด และดูเหมือนไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของข้อความต้นฉบับของหนังสือกิจการ—ดูภาคผนวก ก3
ผมทำงานรับใช้ที่ศักดิ์สิทธิ์ให้: หรือ “ผมนมัสการ” คำกริยากรีก ลาตรือโอ โดยทั่วไปแล้วหมายถึงการรับใช้ แต่ในบางท้องเรื่องคำนี้อาจแปลได้ว่า “นมัสการ” เมื่อใช้ในคัมภีร์ไบเบิล โดยทั่วไปแล้วคำกรีก ลาตรือโอ หมายถึงการรับใช้พระเจ้าหรือการนมัสการพระองค์ (มธ 4:10; ลก 1:74; 2:37; 4:8; รม 1:9; ฟป 3:3; 2ทธ 1:3; ฮบ 9:14; 12:28; วว 7:15; 22:3) หรือทำงานรับใช้ที่วิหารหรือที่ศักดิ์สิทธิ์ (ฮบ 8:5; 9:9; 10:2; 13:10) บางครั้งมีการใช้คำนี้กับการนมัสการเท็จ คือการกราบไหว้หรือนมัสการสิ่งที่ถูกสร้าง—กจ 7:42; รม 1:25
ฟื้นขึ้นจากตาย: คำกรีก อานาสทาซิส แปลตรงตัวว่า “ทำให้ลุกขึ้น, ยืนขึ้น” มีการใช้คำนี้ประมาณ 40 ครั้งในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกเพื่อพูดถึงการปลุกคนตายให้ฟื้น (ตัวอย่างอื่น ๆ อยู่ที่ มธ 22:31; กจ 2:31; 4:2; 17:18, 32; 23:6; 1คร 15:12, 13) ในฉบับเซปตัวจินต์ ที่ อสย 26:19 ซึ่งมีข้อความว่า “คนของพวกเจ้าที่ตายแล้วจะมีชีวิต อีก” มีการใช้คำกริยา อานาสทาซิส เพื่อแปลคำกริยาฮีบรู “มีชีวิต”—ดูส่วนอธิบายศัพท์
นายร้อย: นายทหารในกองทัพโรมันที่มีทหารอยู่ใต้บังคับบัญชา 100 นาย
เบอร์นิส: เป็นพี่น้องกับเฮโรดอากริปปาที่ 2 และมีข่าวลืออย่างกว้างขวางว่าเธอเป็นภรรยาของเขาด้วย หลังจากนั้นเธอก็มาเป็นภรรยาน้อยของแม่ทัพติตุสก่อนที่เขาจะได้เป็นจักรพรรดิของโรม
ดรูสิลลา: เป็นลูกสาวคนที่ 3 และเป็นลูกคนสุดท้องของเฮโรดที่พูดถึงใน กจ 12:1 ซึ่งก็คือเฮโรดอากริปปาที่ 1 เธอเกิดประมาณปี ค.ศ. 38 และเป็นน้องสาวของอากริปปาที่ 2 และเบอร์นิส และมาเรียมที่ 3 (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 25:13 และส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “เฮโรด”) ผู้ว่าราชการเฟลิกส์เป็นสามีคนที่ 2 ของเธอ เธอแต่งงานครั้งแรกกับกษัตริย์ซีเรียที่ชื่ออาซีอุสแห่งเอเมซาแต่หย่ากับเขา แล้วแต่งงานกับเฟลิกส์ประมาณปี ค.ศ. 54 ซึ่งเป็นตอนที่เธออายุประมาณ 16 ปี เป็นไปได้ว่าเธออยู่ด้วยตอนที่เปาโลพูดกับเฟลิกส์ “เรื่องการทำสิ่งที่ถูกต้อง การรู้จักควบคุมตัวเอง และการพิพากษาที่จะเกิดขึ้น” (กจ 24:25) และตอนที่เฟสทัสมารับตำแหน่งต่อจากเฟลิกส์ เฟลิกส์ปล่อยให้เปาโลถูกกักขังต่อไปเพราะ “อยากเอาใจชาวยิว” และเอาใจภรรยาสาวคนนี้ที่เป็นชาวยิวด้วย—กจ 24:27
วีดีโอและรูปภาพ

ศาลสูงของชาวยิวในกรุงเยรูซาเล็มที่เรียกว่าศาลแซนเฮดรินใหญ่ประกอบด้วยสมาชิก 71 คน (ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “แซนเฮดริน”) หนังสือมิชนาห์บอกว่ามีการจัดที่นั่งในศาลเป็นรูปครึ่งวงกลมซ้อนกัน 3 แถว และมีผู้คัดลอก 2 คนคอยบันทึกคำพิพากษาของศาล รายละเอียดทางสถาปัตยกรรมบางอย่างในภาพนี้วาดขึ้นโดยมีต้นแบบจากซากอาคารหลังหนึ่งที่พบในกรุงเยรูซาเล็มซึ่งบางคนเชื่อว่าเคยเป็นห้องพิจารณาคดีของศาลแซนเฮดรินในศตวรรษแรก—ดูภาคผนวก ข12, แผนที่ “กรุงเยรูซาเล็มและบริเวณโดยรอบ”
1. มหาปุโรหิต
2. สมาชิกศาลแซนเฮดริน
3. จำเลย
4. เสมียนศาล