กิจการของอัครสาวก 21:1-40
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
ทางซ้าย: ดูเหมือนตอนที่เปาโลเดินทางไปเมืองไทระที่อยู่ทางทิศตะวันออก เรือได้แล่นผ่านทางใต้ของเกาะไซปรัส ตอนเดินทางในฐานะมิชชันนารีรอบแรกประมาณ 9 ปีก่อนหน้านี้ เปาโลกับบาร์นาบัส และยอห์น มาระโกได้พบกับพ่อมดเอลีมาสบนเกาะไซปรัส พ่อมดคนนี้ได้ต่อต้านงานประกาศของพวกเขา (กจ 13:4-12) การได้เห็นเกาะไซปรัสอีกครั้งและคิดถึงเหตุการณ์นั้นอาจให้กำลังใจเปาโลและเตรียมเขาให้พร้อมสำหรับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น
ข่าวดี: นี่เป็นครั้งแรกที่มีการใช้คำกรีก อืออางเกะลิออน ซึ่งในคัมภีร์ไบเบิลภาษาไทยบางฉบับแปลว่า “กิตติคุณ” และมีการแปลคำกรีก อืออางเกะลิสเทส ซึ่งเป็นคำที่เกี่ยวข้องกันว่า “ผู้ประกาศข่าวดี”—กจ 21:8; อฟ 4:11; 2ทธ 4:5
ผู้ประกาศข่าวดี: มาจากคำกรีก อืออางเกะลิสเทส (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 4:23) ถึงแม้คริสเตียนทุกคนได้รับมอบหมายให้ไปประกาศข่าวดี (มธ 24:14; 28:19, 20; กจ 5:42; 8:4; รม 10:9, 10) แต่ท้องเรื่องของข้อคัมภีร์ 3 ข้อที่ใช้คำกรีกนี้แสดงให้เห็นว่าคำว่า “ผู้ประกาศข่าวดี” สามารถใช้ในความหมายพิเศษได้ด้วย (กจ 21:8; อฟ 4:11; 2ทธ 4:5, เชิงอรรถ) ตัวอย่างเช่น เมื่อมีการใช้คำนี้เพื่อพูดถึงคนที่ไปประกาศในเขตใหม่ที่ไม่เคยมีใครประกาศมาก่อน คำกรีกนี้ก็จะแปลได้ว่า “มิชชันนารี” หลังจากวันเพ็นเทคอสต์ฟีลิปเริ่มทำงานรับใช้ในเมืองสะมาเรีย และเขาประสบความสำเร็จมาก นอกจากนั้น ทูตสวรรค์ยังชี้นำฟีลิปให้ประกาศข่าวดีเกี่ยวกับพระคริสต์ให้กับข้าราชการชาวเอธิโอเปีย และฟีลิปก็บัพติศมาให้เขา จากนั้น ฟีลิปก็ได้รับการชี้นำจากพลังบริสุทธิ์ให้ประกาศในอัชโดดและในเมืองทั้งหมดระหว่างทางไปซีซารียา (กจ 8:5, 12, 14, 26-40) หลังจากนั้นประมาณ 20 ปี ในเหตุการณ์ที่บันทึกใน กจ 21:8 ก็ยังมีการพูดถึงฟีลิปว่า “ผู้ประกาศข่าวดี”
พยากรณ์: มาจากคำกรีก พรอเฟทือโอ ที่มีความหมายตรงตัวว่า “พูดออกมา” ในคัมภีร์ไบเบิลมีการใช้คำนี้เพื่อพูดถึงการประกาศข่าวสารจากพระเจ้า เมื่อมีการใช้คำนี้เรามักคิดถึงการบอกอนาคต แต่จริง ๆ แล้วความหมายหลักของคำนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการบอกอนาคต คำกรีกนี้ยังอาจหมายถึงการบอกให้คนอื่นรู้เรื่องที่พระเจ้าเปิดเผยด้วย (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 26:68; มก 14:65; ลก 22:64) ในท้องเรื่องนี้ พลังบริสุทธิ์ของพระเจ้ากระตุ้นให้บางคนพยากรณ์ พวกเขาพูดถึง “สิ่งมหัศจรรย์ต่าง ๆ” ที่พระเจ้าได้ทำตอนนี้และจะทำในอนาคต พวกเขาก็ทำหน้าที่เป็นเหมือนโฆษกหรือคนที่พูดแทนพระเจ้าองค์สูงสุด (กจ 2:11) คำฮีบรูที่แปลว่า “พยากรณ์” ก็มีความหมายคล้าย ๆ กันด้วย ตัวอย่างเช่น ใน อพย 7:1 ตอนที่บอกว่าอาโรนเป็น “คนพูดแทน” โมเสส ในภาษาเดิมก็ใช้คำว่าผู้พยากรณ์ ซึ่งในตอนนั้นอาโรนก็ไม่ได้บอกอะไรเกี่ยวกับอนาคต
ลูกสาว . . . ที่ยังเป็นโสด: แปลตรงตัวว่า “ลูกสาว, สาวบริสุทธิ์” ในคัมภีร์ไบเบิล คำกรีก พาร์เธะนอส ที่มักแปลว่า “สาวบริสุทธิ์” หมายถึง “คนที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์” ซึ่งอาจใช้ได้กับทั้งผู้ชายและผู้หญิง (มธ 25:1-12; ลก 1:27; 1คร 7:25, 36-38) ในท้องเรื่องนี้ คำกรีกนี้เน้นแนวคิดที่ว่าลูกสาวทั้ง 4 คนของฟีลิปยังไม่เคยแต่งงาน
เป็นผู้พยากรณ์: ผู้พยากรณ์โยเอลบอกล่วงหน้าว่าจะมีทั้งผู้ชายและผู้หญิงที่พยากรณ์ (ยอล 2:28, 29) ความหมายหลักของคำว่า “พยากรณ์” ในภาษาเดิมคือการประกาศข่าวสารจากพระเจ้า และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการบอกอนาคตเสมอไป (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 2:17) ถึงแม้ทุกคนในประชาคมคริสเตียนอาจพูดถึงความสำเร็จเป็นจริงของคำพยากรณ์ที่บันทึกในพระคัมภีร์ แต่คำว่า “พยากรณ์” ที่พูดถึง 1คร 12:4, 10 เป็นหนึ่งในความสามารถที่พระเจ้าให้อย่างอัศจรรย์โดยทางพลังบริสุทธิ์กับบางคนในประชาคมคริสเตียนที่ตั้งขึ้นใหม่ บางคนที่ได้รับความสามารถนี้จะบอกอนาคตได้ เหมือนกับที่อากาบุสได้ทำ (กจ 11:27, 28) ไม่ต้องสงสัยว่าพวกผู้หญิงที่พระยะโฮวาเลือกให้มีความสามารถนี้ยอมอยู่ใต้อำนาจผู้ชายที่เป็นผู้นำในประชาคม เพราะนั่นเป็นการแสดงความนับถือต่อพระยะโฮวา—1คร 11:3-5
พยายามทำให้ผมเปลี่ยนความตั้งใจ: หรือ “ทำให้ผมท้อใจ” คำกริยากรีกที่ใช้ในข้อนี้มีความหมายตรงตัวว่า “บดขยี้, ทำให้แตกเป็นชิ้น ๆ” และในข้อนี้ใช้ในความหมายเป็นนัยคู่กับคำกรีกที่แปลว่า “หัวใจ”
ตามที่พระยะโฮวาต้องการ: คำกรีกที่แปลว่า “ความต้องการ” (เธะเลมา) ที่ใช้ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกมักใช้เพื่อหมายถึงความต้องการของพระเจ้า (มธ 7:21; 12:50; มก 3:35; รม 12:2; 1คร 1:1; ฮบ 10:36; 1ปต 2:15; 4:2; 1ยน 2:17) ในเซปตัวจินต์ คำกรีก เธะเลมา มักใช้เพื่อแปลคำฮีบรูที่หมายถึงความต้องการของพระเจ้า หรือความพอใจของพระเจ้า และคำกรีกนี้มีอยู่ในข้อความที่มีชื่อของพระเจ้าด้วย (สด 40:8, 9 [39:9, 10, LXX]; 103:21 [102:21, LXX]; 143:9-11 [142:9-11, LXX]; อสย 44:24, 28; ยรม 9:24 [9:23, LXX]; มลค 1:10) ที่ มธ 26:42 พระเยซูก็พูดคล้าย ๆ กันตอนที่ท่านอธิษฐานถึงพระเจ้าผู้เป็นพ่อว่า “ขอให้เป็นไปตามที่พ่อต้องการ”
ยากอบ: น้องชายต่างพ่อของพระเยซูซึ่งดูเหมือนเป็นคนเดียวกับยากอบที่พูดถึงใน กจ 12:17 (ดูข้อมูลสำหรับศึกษา) และ กท 1:19 เขาเป็นผู้เขียนหนังสือยากอบในคัมภีร์ไบเบิลด้วย—ยก 1:1
ยากอบ: น่าจะหมายถึงยากอบที่เป็นน้องชายต่างพ่อของพระเยซู เขาอาจเป็นน้องชายคนถัดจากพระเยซู เพราะมีการพูดถึงเขาเป็นชื่อแรกในจำนวนลูกชาย 4 คนของโยเซฟและมารีย์คือ ยากอบ โยเซฟ ซีโมน และยูดาส (มธ 13:55; มก 6:3; ยน 7:5) ยากอบอยู่ในเหตุการณ์ในวันเพ็นเทคอสต์ปี ค.ศ. 33 ซึ่งตอนนั้นมีชาวยิวหลายพันคนมาจากหลายประเทศ พวกเขาตอบรับข่าวดีและรับบัพติศมา (กจ 1:14; 2:1, 41) ในข้อคัมภีร์นี้ เปโตรบอกให้สาวก ‘ไปบอกเรื่องนี้กับยากอบ’ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตอนนั้นยากอบนำหน้าในประชาคมเยรูซาเล็ม ดูเหมือนว่าเขาเป็นคนเดียวกับยากอบที่พูดถึงใน กจ 15:13; 21:18; 1คร 15:7; กท 1:19 (ที่นั่นเรียกเขาว่า “น้องชายของผู้เป็นนาย”) 2:9, 12 และเป็นคนเดียวกับที่เขียนหนังสือยากอบในคัมภีร์ไบเบิล—ยก 1:1; ยด 1
ยากอบ: น่าจะหมายถึงยากอบที่เป็นน้องชายต่างพ่อของพระเยซู และเป็นยากอบที่พูดถึงใน กจ 12:17 (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 13:55; กจ 12:17) ดูเหมือนตอนที่ “พวกอัครสาวกและผู้ดูแลที่กรุงเยรูซาเล็ม” คุยกันเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการเข้าสุหนัต ยากอบเป็นประธานการประชุม (กจ 15:1, 2) และตอนที่เปาโลบอกว่ายากอบ เคฟาส (เปโตร) และยอห์น “เป็นเสาหลักของประชาคม” ในกรุงเยรูซาเล็ม เขาก็คงจะนึกถึงการประชุมครั้งนั้น—กท 2:1-9
ผู้ดูแล: แปลตรงตัวว่า “ผู้ชายสูงอายุ” คำกรีก เพร็สบูเทะรอส ในข้อนี้หมายถึงคนที่มีตำแหน่งและหน้าที่รับผิดชอบในประชาคมคริสเตียนในยุคแรก พระคัมภีร์บอกว่าเปาโลกับบาร์นาบัสและพี่น้องชายคนอื่น ๆ จากเมืองอันทิโอกในแคว้นซีเรียไปหาพวกอัครสาวกและผู้ดูแลในกรุงเยรูซาเล็มเพื่อปรึกษาเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการเข้าสุหนัต เหมือนกับชาติอิสราเอลสมัยโบราณมีผู้ดูแลบางคนที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำและผู้บริหารงานระดับชาติ ในศตวรรษแรกก็มีพวกอัครสาวกและผู้ดูแลในกรุงเยรูซาเล็มทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการปกครองดูแลประชาคมคริสเตียนทุกแห่ง นี่แสดงให้เห็นว่าพี่น้องที่ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการปกครองมีเพิ่มมากขึ้นจากที่ก่อนหน้านี้มีเพียงอัครสาวก 12 คน—กจ 1:21, 22, 26; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 16:21; กจ 11:30
พวกอัครสาวกและผู้ดูแลในกรุงเยรูซาเล็ม: จากข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 15:2 ชาติอิสราเอลสมัยโบราณมีผู้ดูแลบางคนที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำและผู้บริหารงานในระดับชาติ ในศตวรรษแรกก็มีพวกอัครสาวกและผู้ดูแลในกรุงเยรูซาเล็มทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการปกครองดูแลประชาคมคริสเตียนทุกแห่ง หลังจากพิจารณาประเด็นเรื่องการเข้าสุหนัตแล้ว พวกอัครสาวกและผู้ดูแลก็ส่งคำตัดสินไปยังประชาคมต่าง ๆ และพวกพี่น้องก็ยอมรับคำตัดสินนั้น
ยากอบ: น่าจะหมายถึงยากอบที่เป็นน้องชายต่างพ่อของพระเยซู และเป็นยากอบที่พูดถึงใน กจ 12:17; 15:13—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 13:55; กจ 12:17; 15:13
พวกผู้ดูแลทั้งหมด: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 15:2; 16:4 ไม่มีการพูดถึงอัครสาวกในการประชุมครั้งนี้ที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 56 คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกเหตุผลเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่นักประวัติศาสตร์ยูเซบิอุส (เกิดประมาณปี ค.ศ. 260) ได้พูดถึงเหตุการณ์ช่วงนั้นจนถึงตอนที่กรุงเยรูซาเล็มถูกทำลายว่า “พวกอัครสาวกที่ยังมีชีวิตอยู่ต้องออกจากแคว้นยูเดียเพราะมีคนวางแผนจะฆ่าพวกเขา แต่เพื่อจะประกาศข่าวดีต่อไปได้พวกเขาเดินทางไปทุกที่โดยพลังที่มาจากพระคริสต์” (Eusebius, Book III, V, v. 2) ถึงแม้คำพูดของยูเซบิอุสไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของข้อความที่ได้รับการดลใจ แต่คำพูดนี้ก็สอดคล้องกับสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลบอกไว้ ตัวอย่างเช่น พอถึงปี ค.ศ. 62 อัครสาวกเปโตรอยู่ที่บาบิโลนซึ่งห่างไกลจากกรุงเยรูซาเล็ม (1ปต 5:13) แต่สาวกยากอบน้องชายของพระเยซูยังอยู่ในกรุงเยรูซาเล็ม และดูเหมือนเขาเป็นประธานการประชุมครั้งนี้กับ “พวกผู้ดูแลทั้งหมด” และเปาโล
หลายพันคน: คำกรีกที่ใช้ในข้อนี้แปลตรงตัวหมายถึงกลุ่มคน 10,000 คน แต่ยังอาจใช้เพื่อหมายถึงคนจำนวนมากแต่ไม่ได้เจาะจงว่ามีเท่าไร
ทิ้ง: หรือ “ทรยศต่อ” คำนามกรีก อาพอสทาเซีย ที่ใช้ในข้อนี้มาจากคำกริยา อาฟอิสเทมิ ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า “ยืนอยู่ห่าง ๆ” และสามารถแปลได้หลายอย่างขึ้นอยู่กับท้องเรื่อง เช่น “ไปจาก, เลิก” (กจ 19:9; 2ทธ 2:19) และเมื่อเป็นคำนามจะหมายถึง “การละทิ้ง, การกบฏ” มีการใช้คำนามนี้ 2 ครั้งในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกคือในข้อนี้และที่ 2ธส 2:3 ในวรรณกรรมกรีกโบราณ คำนามนี้ใช้เพื่อหมายถึงการทรยศทางการเมือง และที่ กจ 5:37 ก็ใช้คำกริยาที่มีความหมายทำนองนี้เมื่อพูดถึงยูดาสชาวกาลิลีที่ “ชักจูง [รูปหนึ่งของคำกรีก อาฟอิสเทมิ] คนให้ติดตามเขาไป” ในฉบับเซปตัวจินต์ ใช้คำกริยานี้ที่ ปฐก 14:4 เพื่อพูดถึงการกบฏทางการเมือง และมีการใช้คำนาม อาพอสทาเซีย ที่ ยชว 22:22; 2พศ 29:19 และ ยรม 2:19 เพื่อแปลคำฮีบรู “การกบฏ” และ “ไม่ซื่อสัตย์” ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกมักมีการใช้คำนาม อาพอสทาเซีย เพื่อพูดถึงการทรยศต่อศาสนา การเลิกหรือทิ้งการนมัสการแท้และการรับใช้พระเจ้า การทิ้งสิ่งที่เคยเชื่อมาก่อน และการทิ้งหลักการหรือความเชื่ออย่างสิ้นเชิง
สัตว์ที่ถูกรัดคอตาย: หรือ “สัตว์ที่ถูกฆ่าโดยไม่เอาเลือดออก” ดูเหมือนข้อห้ามนี้ยังเกี่ยวข้องกับสัตว์ที่ตายเอง หรือตายเพราะถูกสัตว์ตัวอื่นฆ่า เพราะการตายทั้ง 2 แบบนี้ไม่ได้มีการเอาเลือดออกอย่างถูกต้อง—อพย 22:31; ลนต 17:15; ฉธบ 14:21
การผิดศีลธรรมทางเพศ: คำกรีก พอร์เน่อา เป็นคำกว้าง ๆ ที่หมายถึงการมีเพศสัมพันธ์ทุกรูปแบบที่คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าผิด ซึ่งรวมถึงการเล่นชู้ การเป็นโสเภณี การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนที่ยังไม่แต่งงาน การรักร่วมเพศ และการร่วมเพศกับสัตว์—ดูส่วนอธิบายศัพท์
สัตว์ที่ถูกรัดคอตาย: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 15:20
การผิดศีลธรรมทางเพศ: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 15:20
ผู้บังคับบัญชา: คำกรีก ฆิลีอาร์ฆอส (ผู้บังคับกองพัน) แปลตรงตัวว่า “ผู้ปกครองคน 1,000 คน” ซึ่งหมายถึงทหาร 1,000 นาย คำกรีกนี้เป็นตำแหน่งหัวหน้าหน่วยทหารโรมัน ทหารโรมัน 1 กองพันมี 6 หน่วย แต่ทหาร 1 กองพันไม่ได้มีผู้บัญชาการ 6 คนปกครองพร้อม ๆ กัน แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ผู้บัญชาการของแต่ละหน่วยจะผลัดเปลี่ยนกันปกครองทหารทั้งกองพันเป็นเวลา 1 ใน 6 ของปี ผู้บัญชาการหน่วยหรือนายทหารชั้นผู้ใหญ่แบบนี้มีอำนาจมาก รวมทั้งมีสิทธิ์จะแต่งตั้งและมอบหมายงานให้กับนายร้อย คำกรีกนี้ยังอาจหมายถึงนายทหารระดับสูงทั่ว ๆ ไป ตอนที่จับพระเยซูผู้บังคับบัญชาทหารโรมันก็ไปกับพวกทหารด้วย
ผู้บังคับกองพัน: มาจากคำกรีก ฆิลีอาร์ฆอส แปลตรงตัวว่า “ผู้ปกครองคน 1,000 คน” ซึ่งหมายถึงทหาร 1,000 นาย คำกรีกนี้เป็นตำแหน่งหัวหน้าหน่วยทหารโรมัน (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 18:12) ประมาณปี ค.ศ. 56 คลาวดิอัสลีเซียสเป็นผู้บังคับบัญชากองทหารรักษาการณ์ในกรุงเยรูซาเล็ม (กจ 23:22, 26) บันทึกในหนังสือกิจการ บท 21 ถึง บท 24 ทำให้รู้ว่าคลาวดิอัสลีเซียสเป็นคนที่ช่วยเปาโลจากฝูงชนที่รอดักฆ่าเขาและจากความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในศาลแซนเฮดริน และคลาวดิอัสลีเซียสยังเขียนจดหมายอธิบายกับผู้ว่าราชการเฟลิกส์ตอนที่ส่งตัวเปาโลไปซีซารียาอย่างลับ ๆ
นายร้อย: นายทหารในกองทัพโรมันที่มีทหารอยู่ใต้บังคับบัญชา 100 นาย
ค่ายทหาร: คือค่ายทหารของกองทัพโรมัน ตั้งอยู่ที่หอคอยหรือป้อมอันโทเนียในกรุงเยรูซาเล็ม ป้อมนี้ตั้งอยู่ที่มุมด้านตะวันตกเฉียงเหนือของลานวิหาร ซึ่งทำให้เห็นพื้นที่บริเวณวิหารได้ทั้งหมด ป้อมนี้น่าจะอยู่ตรงจุดเดียวกับที่เนหะมีย์เคยสร้าง “ป้อมปราการวิหาร” ที่พูดถึงใน นหม 2:8 เฮโรดมหาราชได้ใช้เงินจำนวนมากเพื่อซ่อมแซมและขยายป้อมนี้ เฮโรดตั้งชื่อป้อมนี้ว่าอันโทเนียเพื่อเป็นเกียรติแก่แม่ทัพโรมันที่ชื่อมาร์ก แอนโทนี ก่อนสมัยของเฮโรด ป้อมนี้ใช้เป็นที่ป้องกันการรุกรานจากทางเหนือ ต่อมาก็ใช้เป็นที่สำหรับควบคุมดูแลชาวยิวและกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำกันบริเวณวิหาร มีทางเดินเชื่อมระหว่างป้อมนี้กับวิหารด้วย (Josephus, Jewish Antiquities, XV, 424 [xi, 7]) ดังนั้น ทหารรักษาการณ์ของโรมันจึงสามารถไปถึงบริเวณวิหารได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจทำให้ทหารช่วยเปาโลจากฝูงชนได้—กจ 21:31, 32; ดูภาคผนวก ข11 เพื่อจะรู้ตำแหน่งของป้อมอันโทเนีย
ภาษาฮีบรู: ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก ผู้เขียนพระคัมภีร์ใช้คำว่า “ฮีบรู” เพื่อหมายถึงภาษาที่ชาวยิวพูดกัน (ยน 19:13, 17, 20; กจ 21:40; 22:2; วว 9:11; 16:16) และเป็นภาษาที่พระเยซูพูดกับเซาโลที่มาจากเมืองทาร์ซัสหลังจากท่านฟื้นขึ้นจากตายและกลับไปสวรรค์แล้ว (กจ 26:14, 15) และที่ กจ 6:1 ก็พูดถึงสาวก 2 กลุ่มคือ “สาวกที่พูดภาษาฮีบรู” และ “สาวกที่พูดภาษากรีก” ถึงแม้ผู้เชี่ยวชาญด้านพระคัมภีร์บางคนบอกว่าข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ควรใช้คำว่า “ภาษาอาราเมอิก” ไม่ใช่ “ภาษาฮีบรู” แต่มีเหตุผลที่ดีที่จะเชื่อว่าการใช้คำว่า “ภาษาฮีบรู” ถูกต้องกว่า ครั้งหนึ่งลูกาบอกว่าเปาโลพูดกับชาวกรุงเยรูซาเล็ม “เป็นภาษาฮีบรู” เพราะตอนนั้นเปาโลกำลังพูดกับคนที่ศึกษากฎหมายของโมเสสที่เขียนเป็นภาษาฮีบรู นอกจากนั้น เมื่อสำรวจชิ้นส่วนและเอกสารในม้วนหนังสือทะเลตายทั้งส่วนที่เป็นพระคัมภีร์และไม่ใช่พระคัมภีร์ที่เขียนในภาษาฮีบรูก็พบว่า เอกสารเหล่านั้นส่วนใหญ่เขียนในภาษาฮีบรู แสดงว่าภาษาฮีบรูเป็นภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนั้น เอกสารเหล่านั้นบางส่วนก็เขียนในภาษาอาราเมอิกด้วย แสดงว่าในตอนนั้นมีการใช้ทั้งภาษาฮีบรูและอาราเมอิก ดังนั้น ถ้าผู้เขียนพระคัมภีร์ใช้คำว่า “ภาษาฮีบรู” เขาก็ไม่น่าจะหมายถึงภาษาอาราเมอิกหรือภาษาซีเรีย (กจ 21:40; 22:2; เทียบกับ กจ 26:14) พระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่ 2พก 18:26 ก็พูดถึงทั้ง “ภาษาอาราเมอิก” และ “ภาษาของชาวยิว” ซึ่งโยเซฟุสนักประวัติศาสตร์ชาวยิวในศตวรรษแรกคิดว่าข้อคัมภีร์นี้พูดถึง 2 ภาษาที่แตกต่างกัน คือภาษาอาราเมอิกและภาษาฮีบรู (Jewish Antiquities, X, 8 [i, 2]) จริงอยู่ที่บางคำในภาษาอาราเมอิกและฮีบรูมีความคล้ายคลึงกันและมีบางคำในภาษาฮีบรูเอามาจากภาษาอาราเมอิก แต่ดูเหมือนไม่มีเหตุผลที่ผู้เขียนพระคัมภีร์ภาคภาษากรีกจะใช้คำว่าภาษาฮีบรูเพื่อหมายถึงภาษาอาราเมอิก
ภาษาฮีบรู: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 5:2
วีดีโอและรูปภาพ

คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงงานรับใช้ที่กระตือรือร้นของ “ฟีลิปผู้ประกาศข่าวดี” (กจ 21:8) เขาเป็นหนึ่งใน “ผู้ชาย 7 คนที่มีชื่อเสียงดี” ที่ช่วยแจกจ่ายอาหารให้กับสาวกที่พูดภาษากรีกและสาวกที่พูดภาษาฮีบรูในกรุงเยรูซาเล็ม (กจ 6:1-6) หลังจากสเทเฟนตาย “สาวกทุกคนยกเว้นพวกอัครสาวกก็กระจัดกระจายไป” และฟีลิปก็ไปสะมาเรีย เขาประกาศข่าวดีและทำการอัศจรรย์หลายอย่างที่นั่น (กจ 8:1, 4-7) ต่อมาทูตสวรรค์ของพระยะโฮวาก็บอกให้ฟีลิปไปที่ถนนสายกรุงเยรูซาเล็มที่จะไปเมืองกาซาซึ่งเป็นถนนที่ผ่านที่กันดาร (กจ 8:26) ฟีลิปเจอกับข้าราชการชาวเอธิโอเปียบนถนนสายนั้นและประกาศข่าวดีกับเขา (กจ 8:27-38) พลังของพระยะโฮวาพาตัวฟีลิปเดินทางต่อไป (กจ 8:39) เขาไปที่เมืองอัชโดด แล้วหลังจากนั้นก็ไปประกาศข่าวดีที่เมืองอื่น ๆ ซึ่งอยู่ใกล้ชายฝั่งจนถึงเมืองซีซารียา (กจ 8:40) หลายปีต่อมา ลูกากับเปาโลไปพักที่บ้านฟีลิปในเมืองซีซารียา คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าตอนนั้นฟีลิป “มีลูกสาว 4 คนที่ยังเป็นโสดและเป็นผู้พยากรณ์”—กจ 21:8, 9
1. ที่กรุงเยรูซาเล็ม ฟีลิปช่วยงานพวกอัครสาวก—กจ 6:5
2. ที่แคว้นสะมาเรีย ฟีลิปประกาศข่าวดี—กจ 8:5
3. บนถนนไปเมืองกาซาซึ่งผ่านที่กันดาร ฟีลิปอธิบายข้อคัมภีร์ให้ข้าราชการชาวเอธิโอเปียและให้บัพติศมาเขา—กจ 8:26-39
4. ในเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ชายฝั่งทะเล ฟีลิปประกาศข่าวดีในเมืองเหล่านี้ทุกเมือง—กจ 8:40
5. ที่เมืองซีซารียา ฟีลิปให้เปาโลมาพักที่บ้าน—กจ 21:8, 9

เมืองทาร์ซัสเป็นบ้านเกิดของเซาโล (ภายหลังคืออัครสาวกเปาโล) เมืองนี้เป็นเมืองหลวงของแคว้นซิลีเซีย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเอเชียไมเนอร์ และเป็นส่วนหนึ่งของประเทศตุรกีในปัจจุบัน (กจ 9:11; 22:3) เมืองทาร์ซัสเป็นเมืองใหญ่ที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และอยู่บนเส้นทางการค้าทางบกที่สำคัญซึ่งเชื่อมระหว่างทิศตะวันออกกับทิศตะวันตก เส้นทางสายนี้ตัดผ่านเทือกเขาทอรัสและช่องเขาซิลีเซียน (ช่องเขาแคบ ๆ ที่มีถนนให้รถม้าผ่านได้) นอกจากนั้น เมืองทาร์ซัสยังตั้งอยู่ที่อ่าวซึ่งเชื่อมระหว่างแม่น้ำซิดนัสกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เมืองนี้เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมกรีกและมีชุมชนชาวยิวขนาดใหญ่ ภาพนี้แสดงให้เห็นซากปรักหักพังสมัยโบราณของเมืองทาร์ซัสซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของชุมชนที่ยังคงใช้ชื่อเดิม ชุมชนนี้ตั้งอยู่ห่างจากจุดที่แม่น้ำซิดนัสไหลลงทะเลเมดิเตอร์เรเนียนประมาณ 16 กม. ตลอดประวัติศาสตร์มีคนที่มีชื่อเสียงหลายคนไปที่เมืองทาร์ซัส เช่น มาร์ก แอนโทนี คลีโอพัตรา จูเลียสซีซาร์ และจักรพรรดิอีกหลายองค์ ซิเซโรรัฐบุรุษและนักเขียนชาวโรมันเป็นผู้ว่าราชการของเมืองนี้ระหว่างปี 51-50 ก่อน ค.ศ. เมืองทาร์ซัสเป็นศูนย์กลางการศึกษาในศตวรรษแรก และสตราโบนักภูมิศาสตร์ชาวกรีกก็บอกไว้ว่าการศึกษาของเมืองนี้มีชื่อเสียงโดดเด่นกว่ากรุงเอเธนส์และเมืองอเล็กซานเดรียด้วยซ้ำ นี่เป็นเหตุผลที่เปาโลบอกว่าเมืองทาร์ซัสเป็น “เมืองที่ใคร ๆ ก็รู้จัก”—กจ 21:39