กิจการของอัครสาวก 16:1-40
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
ทิโมธี: ในคัมภีร์ไบเบิล นี่เป็นครั้งแรกที่พูดถึงทิโมธี ชื่อของเขาเป็นชื่อกรีกที่มีความหมายว่า “ผู้ให้เกียรติพระเจ้า” เราไม่รู้แน่ชัดว่าทิโมธีเข้ามาเป็นคริสเตียนเมื่อไร แต่ยูนิสแม่ของเขาที่เป็นชาวยิว และอาจรวมถึงโลอิสยายของเขาเป็นคนสอน “พระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์” หรือพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูให้เขาตั้งแต่เด็ก (2ทธ 1:5; 3:15) ดูเหมือนว่ายูนิสกับโลอิสเข้ามาเป็นคริสเตียนตอนที่เปาโลเยี่ยมเมืองลิสตราในการเดินทางมิชชันนารีรอบแรกของเขา ในข้อนี้เรียกพ่อของทิโมธีว่าคนกรีก การเรียกแบบนี้อาจเป็นเพราะเขามีบรรพบุรุษมาจากประเทศกรีซ หรืออาจเป็นเพราะเขาเป็นคนต่างชาติที่ไม่ใช่ชาวยิว และดูเหมือนว่าพ่อของทิโมธีไม่ใช่คริสเตียน ในช่วงที่เปาโลเดินทางรอบที่ 2 คือประมาณปลายปี ค.ศ. 49 หรือต้นปี ค.ศ. 50 เขามาที่เมืองลิสตราซึ่งดูเหมือนเป็นบ้านเกิดของทิโมธี ในตอนนั้น ทิโมธีได้เป็นคริสเตียนแล้ว และ “พี่น้องในเมืองลิสตราและเมืองอิโคนียูมพูดถึงทิโมธีในแง่ดี” (กจ 16:2) ตอนนั้น ทิโมธีอาจมีอายุเกือบ 20 หรือ 20 ต้น ๆ ที่เราสรุปได้แบบนั้นเป็นเพราะประมาณ 10 ถึง 15 ปีหลังจากนั้น เปาโลได้บอกทิโมธีว่า “อย่าให้ใครดูถูกคุณเพราะเห็นว่าคุณยังหนุ่ม” (1ทธ 4:12 น่าจะเขียนประมาณปี ค.ศ. 61 ถึง 64) นี่แสดงว่าแม้แต่ตอนที่เปาโลพูดประโยคนี้ทิโมธีก็ยังเป็นคนหนุ่มอยู่
ให้เขาเข้าสุหนัต: เปาโลรู้ดีว่าการเข้าสุหนัตไม่ได้เป็นข้อเรียกร้องของคริสเตียนแล้ว (กจ 15:6-29) เนื่องจากพ่อของทิโมธีไม่ได้เป็นผู้เชื่อถือ ทิโมธีจึงยังไม่ได้เข้าสุหนัต เปาโลรู้ว่านี่อาจทำให้คนยิวบางคนที่พวกเขาเจอระหว่างเดินทางไปประกาศไม่สบายใจ และเขาไม่อยากทำให้เรื่องนี้เป็นอุปสรรค เปาโลจึงขอให้ทิโมธีเข้าสุหนัตแม้มันจะทำให้ทิโมธีต้องเจ็บปวดมาก และต่อมาเปาโลเขียนถึงคริสเตียนในเมืองโครินธ์ว่า “เมื่อเจอคนยิว ผมก็ทำตัวเป็นคนยิวเพื่อจะได้คนยิวเข้ามา” (1คร 9:20) เห็นได้ชัดว่าเปาโลกับทิโมธีเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้
ผู้ดูแล: แปลตรงตัวว่า “ผู้ชายสูงอายุ” คำกรีก เพร็สบูเทะรอส ในข้อนี้หมายถึงคนที่มีตำแหน่งและหน้าที่รับผิดชอบในประชาคมคริสเตียนในยุคแรก พระคัมภีร์บอกว่าเปาโลกับบาร์นาบัสและพี่น้องชายคนอื่น ๆ จากเมืองอันทิโอกในแคว้นซีเรียไปหาพวกอัครสาวกและผู้ดูแลในกรุงเยรูซาเล็มเพื่อปรึกษาเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการเข้าสุหนัต เหมือนกับชาติอิสราเอลสมัยโบราณมีผู้ดูแลบางคนที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำและผู้บริหารงานระดับชาติ ในศตวรรษแรกก็มีพวกอัครสาวกและผู้ดูแลในกรุงเยรูซาเล็มทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการปกครองดูแลประชาคมคริสเตียนทุกแห่ง นี่แสดงให้เห็นว่าพี่น้องที่ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการปกครองมีเพิ่มมากขึ้นจากที่ก่อนหน้านี้มีเพียงอัครสาวก 12 คน—กจ 1:21, 22, 26; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 16:21; กจ 11:30
พวกอัครสาวกและผู้ดูแลในกรุงเยรูซาเล็ม: จากข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 15:2 ชาติอิสราเอลสมัยโบราณมีผู้ดูแลบางคนที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำและผู้บริหารงานในระดับชาติ ในศตวรรษแรกก็มีพวกอัครสาวกและผู้ดูแลในกรุงเยรูซาเล็มทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการปกครองดูแลประชาคมคริสเตียนทุกแห่ง หลังจากพิจารณาประเด็นเรื่องการเข้าสุหนัตแล้ว พวกอัครสาวกและผู้ดูแลก็ส่งคำตัดสินไปยังประชาคมต่าง ๆ และพวกพี่น้องก็ยอมรับคำตัดสินนั้น
แคว้นเอเชีย: ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “เอเชีย”
พระเยซูก็ใช้พลังของพระเจ้า: ดูเหมือนว่าพระเยซู “ได้รับพลังบริสุทธิ์จากพระเจ้าผู้เป็นพ่อ” (กจ 2:33) พระเยซูผู้นำของประชาคมคริสเตียนได้ใช้พลังบริสุทธิ์ชี้นำการประกาศของคริสเตียนในยุคแรกโดยบอกพวกเขาว่าควรประกาศที่ไหน ในเหตุการณ์นี้พระเยซูใช้ “พลังบริสุทธิ์” ห้ามไม่ให้เปาโลกับเพื่อนของเขาเดินทางไปประกาศในแคว้นเอเชียและแคว้นบิธีเนีย (กจ 16:6-10) แต่ในเวลาต่อมาก็มีการประกาศข่าวดีใน 2 แคว้นนั้น—กจ 18:18-21; 1ปต 1:1, 2
เดินทางผ่าน: คำกริยากรีก พาร์เออร์ฆอไม ที่แปลในข้อนี้ว่า “เดินทางผ่าน” ถ่ายทอดแนวคิดที่ว่าเดินทางผ่านเข้าไปในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ซึ่งดูเหมือนเป็นสิ่งที่เปาโลกับเพื่อนของเขาทำ เมืองท่าโตรอัสในแคว้นมิเซียตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเอเชียไมเนอร์ ดังนั้น เพื่อจะไปถึงเมืองโตรอัส เปาโลกับเพื่อนต้อง “เดินทางผ่านแคว้นมิเซีย” โดยไม่ได้แวะประกาศที่แคว้นนั้น
มาซิโดเนีย: ดูส่วนอธิบายศัพท์
หนังสือเล่มแรก: ลูกากำลังพูดถึงหนังสือข่าวดีของเขาซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของพระเยซู ในหนังสือนั้นลูกาเน้น “สิ่งที่พระเยซูสอนและทำทั้งหมดตั้งแต่ต้น” หนังสือกิจการเป็นเรื่องราวต่อจากหนังสือลูกาและให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่สาวกของพระเยซูพูดและทำ หนังสือทั้ง 2 เล่มของลูกาใช้คำและสไตล์การเขียนที่คล้ายกันและทั้ง 2 เล่มเขียนถึงเธโอฟีลัส แต่ลูกาไม่ได้บอกชัดว่าเธโอฟีลัสเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์หรือไม่ (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 1:1) ลูกาเริ่มต้นหนังสือกิจการด้วยการสรุปเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เขาบันทึกไว้ในตอนท้ายของหนังสือข่าวดี ทำให้เห็นว่าหนังสือกิจการเป็นเรื่องราวต่อเนื่องจากหนังสือเล่มแรกที่เขาเขียน แต่ตอนต้นของหนังสือกิจการ ลูกาใช้คำที่ต่างจากที่ใช้ในหนังสือข่าวดีของเขาเล็กน้อย และเขายังให้รายละเอียดเพิ่มเติมบางอย่างด้วย—เปรียบเทียบข้อคัมภีร์ที่ ลก 24:49 กับ กจ 1:1-12
พวกเรา: ในข้อนี้ลูกาใช้คำสรรพนาม “พวกเรา” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขาเข้าร่วมในการเดินทางกับเปาโลอีกครั้งที่เมืองฟีลิปปี ก่อนหน้านี้เขาได้แยกกับเปาโลในเมืองฟีลิปปี (กจ 16:10-17, 40) แต่ตอนนี้เขาร่วมเดินทางกับเปาโลจากเมืองฟีลิปปีไปกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งหลังจากนั้นเปาโลจะถูกจับที่นั่น (กจ 20:5-21:18, 33) นี่เป็นส่วนที่ 2 ของหนังสือกิจการที่ลูกาบันทึกเรื่องราวเหมือนกับว่าเขาอยู่ในเหตุการณ์—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 16:10; 27:1
พวกเรา: เหมือนที่บอกไว้ในข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 16:10 และ 20:5 มีหลายส่วนในหนังสือกิจการที่ลูกาซึ่งเป็นผู้บันทึกเรื่องราวใช้คำสรรพนาม “พวกเรา” (กจ 27:20) ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีหลายช่วงที่ลูการ่วมเดินทางไปกับเปาโล ในหนังสือกิจการตั้งแต่ข้อนี้ไปจนถึง กจ 28:16 ลูกาก็ใช้คำว่าพวกเราซึ่งแสดงให้เห็นว่าลูกาเดินทางไปกรุงโรมกับเปาโล
ประกาศข่าวดี: คำกริยากรีก อืออางเกะลิโศไม ที่ใช้ในข้อนี้เกี่ยวข้องกับคำนาม อืออางเกะลิออน ที่แปลว่า “ข่าวดี” ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก ข่าวดีเรื่องหนึ่งที่สำคัญก็คือเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าที่พระเยซูประกาศ และเรื่องความรอดสำหรับคนที่มีความเชื่อในพระเยซูคริสต์ หนังสือกิจการมีคำกริยากรีก อืออางเกะลิโศไม อยู่หลายครั้งเพราะหนังสือนี้เน้นเรื่องการประกาศ—กจ 8:4, 12, 25, 35, 40; 10:36; 11:20; 13:32; 14:7, 15, 21; 15:35; 16:10; 17:18; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 4:23; 24:14
พวกเรา: ตั้งแต่ต้นของหนังสือกิจการจนถึง กจ 16:9 ลูกาบันทึกเรื่องราวเหมือนกับว่าเขาไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่ใน กจ 16:10 ลูกาเปลี่ยนวิธีเขียนของเขาโดยรวมตัวเขาเองเข้าไปในเรื่องราวด้วย ตั้งแต่ข้อนี้เขาใช้คำว่า “พวกเรา” ซึ่งดูเหมือนเป็นการแสดงว่าลูกาเดินทางร่วมกับเปาโลและเพื่อน ๆ ด้วย (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 1:1 และ “บทนำของหนังสือกิจการ”) เมื่อประมาณปี ค.ศ. 50 ลูกาเริ่มเดินทางร่วมกับเปาโลจากเมืองโตรอัสไปถึงเมืองฟีลิปปี แต่ตอนที่เปาโลออกจากเมืองฟีลิปปีลูกาก็ไม่ได้ไปด้วย—กจ 16:10-17, 40; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 20:5; 27:1
ประกาศข่าวดี: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 5:42
ฟีลิปปี: แต่เดิมเมืองนี้มีชื่อว่าเครนิเดส (ครีนิเดส) ประมาณกลางศตวรรษที่ 4 ก่อน ค.ศ. ฟีลิปที่ 2 แห่งมาซิดอน (พ่อของอเล็กซานเดอร์มหาราช) ได้ยึดเมืองนี้มาจากพวกทราเซียน และตั้งชื่อเมืองนี้ตามชื่อของเขา เมืองนี้มีเหมืองทองคำอยู่หลายแห่ง และมีการผลิตเหรียญทองคำที่มีชื่อฟีลิป ประมาณปี 168 ก่อน ค.ศ. ลูซีอัส แอมิลิอุส เปาลุส ผู้สำเร็จราชการโรมันได้รบชนะเปอร์เซอุสกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งมาซิโดเนียและยึดเมืองฟีลิปปีกับบริเวณโดยรอบ และในปี 146 ก่อน ค.ศ. เขตแดนทั้งหมดของมาซิโดเนียก็ถูกรวมเข้าไปเป็นแคว้นหนึ่งของโรม ต่อมาในปี 42 ก่อน ค.ศ. ออกตาเวียน (ออกเตเวียส) และมาร์ก แอนโทนีได้รบชนะกองทัพของบรูตัสและกายอัส คัสเซียส ลอนกินุส ซึ่งเป็นผู้ลอบสังหารจูเลียส ซีซาร์ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในที่ราบฟีลิปปี หลังจากนั้น ออกตาเวียนก็ตั้งฟีลิปปีเป็นเมืองขึ้นของโรมเพื่อระลึกถึงชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ในครั้งนั้น ไม่กี่ปีต่อมา ตอนที่สภาสูงของโรมันแต่งตั้งออกตาเวียนเป็นซีซาร์ออกัสตัส เขาก็ตั้งชื่อเมืองนี้ใหม่ว่าโคโลเนีย ออกัสต้า จูเลีย ฟีลิปเพนซิส—ดูภาคผนวก ข13
แม่น้ำ: ผู้เชี่ยวชาญหลายคนคิดว่าแม่น้ำที่พูดถึงในข้อนี้คือแม่น้ำกานกีทีสที่อยู่ห่างจากเมืองฟีลิปปีไปทางทิศตะวันตกประมาณ 2.4 กม. ซึ่งเป็นระยะทางที่ไกลกว่าที่จะอนุญาตให้เดินทางได้ในวันสะบาโต บางคนคิดว่าเนื่องจากเมืองฟีลิปปีเป็นเมืองทางทหาร พวกชาวยิวจึงไม่ได้รับอนุญาตให้ประชุมกันในเมือง พวกเขาก็เลยต้องออกไปประชุมกันนอกเมือง ส่วนบางคนก็คิดว่าแม่น้ำในข้อนี้คือลำธารเครนิเดส (ครีนิเดส) ที่อยู่ใกล้เมืองมากกว่า และคนที่นั่นเรียกลำธารนั้นว่าลำธารลิเดีย แต่มีการพบอุโมงค์ฝังศพของพวกโรมันที่นั่น และเนื่องจากที่นั่นเป็นที่โล่งที่มีคนมองเห็น บางคนจึงคิดว่าไม่เหมาะที่จะเป็นที่สำหรับอธิษฐาน ส่วนคนอื่น ๆ ก็คิดว่าแม่น้ำที่พูดถึงในข้อคัมภีร์น่าจะเป็นลำธารที่แห้งไปแล้วนอกประตูเนอาโปลิส ซึ่งบริเวณนั้นมีการสร้างโบสถ์หลายแห่งในศตวรรษที่ 4 หรือ ศตวรรษที่ 5 เพื่อระลึกถึงตอนที่เปาโลมาเยี่ยมเมืองฟีลิปปี
ที่สำหรับอธิษฐาน: ชาวยิวอาจไม่ได้รับอนุญาตให้มีที่ประชุมในเมืองเพราะฟีลิปปีเป็นเมืองทางทหาร หรือเมืองนี้อาจมีผู้ชายชาวยิวไม่ถึง 10 คน ซึ่งตามคำสอนสืบปากบอกว่าเพื่อจะตั้งที่ประชุมของชาวยิวได้ต้องมีผู้ชายชาวยิวอย่างน้อย 10 คน
ผู้หญิงคนหนึ่งชื่อลิเดีย: ในคัมภีร์ไบเบิลมีชื่อลิเดียอยู่แค่ 2 ครั้งคือในข้อนี้และที่ กจ 16:40 ถึงแม้บางคนเชื่อว่าลิเดียเป็นแค่คำเรียกที่มีความหมายว่า “ผู้หญิงชาวลิเดีย” แต่ก็มีเอกสารยืนยันว่าลิเดียเป็นชื่อคนจริง ๆ ลิเดียและคนในครอบครัวเข้ามาเป็นคริสเตียนประมาณปี ค.ศ. 50 ในเมืองฟีลิปปี พวกเขาจึงเป็นคนกลุ่มแรกในยุโรปที่เข้ามาเป็นคริสเตียนจากการประกาศของเปาโล ลิเดียอาจไม่เคยแต่งงานหรืออาจเป็นม่าย เธอเป็นคนมีน้ำใจมากซึ่งทำให้เธอมีโอกาสได้คบหากับมิชชันนารีหลายคน เช่น เปาโล สิลาส และลูกา—กจ 16:15
แม่ค้าขายผ้าสีม่วง: ลิเดียอาจขายของหลายอย่างที่มีสีม่วง เช่น ผ้า เสื้อผ้า พรม ผ้าม่าน สีย้อมผ้า หรือสินค้าอื่น ๆ ลิเดียมีบ้านเกิดอยู่ที่เมืองธิยาทิราซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ในแคว้นลิเดียทางตะวันตกของเอเชียไมเนอร์ ข้อความจารึกที่พบในเมืองฟีลิปปียืนยันว่ามีสมาคมผู้ค้าสีม่วงในเมืองนั้น ชาวลิเดียกับคนในแถบนั้นมีชื่อเสียงเรื่องการย้อมผ้าสีม่วงตั้งแต่สมัยของโฮเมอร์ (ศตวรรษที่ 9 หรือ 8 ก่อน ค.ศ.) เนื่องจากอาชีพของลิเดียต้องใช้เงินทุนจำนวนมากและเธอยังมีบ้านใหญ่ที่สามารถต้อนรับผู้ชาย 4 คน คือ เปาโล สิลาส ทิโมธี และลูกา เธอจึงน่าจะเป็นแม่ค้าที่ประสบความสำเร็จและร่ำรวย คำว่า “คนในบ้าน” อาจหมายความว่าเธออาศัยอยู่กับญาติพี่น้อง หรือเธออาจมีทาสและคนรับใช้หลายคน (กจ 16:15) การที่พระคัมภีร์บอกว่าเปาโลกับสิลาสได้พบกับพี่น้องบางคนในบ้านของลิเดียก่อนจะเดินทางออกจากเมืองฟีลิปปี แสดงว่าตอนนั้นบ้านของลิเดียเป็นที่ประชุมสำหรับคริสเตียนกลุ่มแรกในเมืองฟีลิปปี—กจ 16:40
พระยะโฮวาเปิดใจเธอ: พระคัมภีร์บอกว่าลิเดียเป็นผู้นมัสการพระเจ้า คำนี้แสดงให้เห็นว่าเธอเป็นคนที่เปลี่ยนมานับถือศาสนายิว (กจ 13:43) ในวันสะบาโต ลิเดียกับพวกผู้หญิงคนอื่น ๆ ไปที่สำหรับอธิษฐานริมแม่น้ำนอกเมืองฟีลิปปี (กจ 16:13) ที่เป็นอย่างนั้นอาจเป็นเพราะในเมืองฟีลิปปีไม่ค่อยมีชาวยิวและไม่มีที่ประชุมของชาวยิว ลิเดียอาจได้มารู้จักการนมัสการพระยะโฮวาที่เมืองธิยาทิราซึ่งเป็นบ้านเกิดของเธอ เมืองนั้นมีชาวยิวอยู่จำนวนมากและมีที่ประชุมของชาวยิว 1 แห่ง พระยะโฮวาพระเจ้าที่เธอนมัสการสังเกตว่าเธอสนใจฟังเรื่องที่เปาโลพูด
พระยะโฮวาเปิดใจเธอ: พระคัมภีร์บอกว่าลิเดียเป็นผู้นมัสการพระเจ้า คำนี้แสดงให้เห็นว่าเธอเป็นคนที่เปลี่ยนมานับถือศาสนายิว (กจ 13:43) ในวันสะบาโต ลิเดียกับพวกผู้หญิงคนอื่น ๆ ไปที่สำหรับอธิษฐานริมแม่น้ำนอกเมืองฟีลิปปี (กจ 16:13) ที่เป็นอย่างนั้นอาจเป็นเพราะในเมืองฟีลิปปีไม่ค่อยมีชาวยิวและไม่มีที่ประชุมของชาวยิว ลิเดียอาจได้มารู้จักการนมัสการพระยะโฮวาที่เมืองธิยาทิราซึ่งเป็นบ้านเกิดของเธอ เมืองนั้นมีชาวยิวอยู่จำนวนมากและมีที่ประชุมของชาวยิว 1 แห่ง พระยะโฮวาพระเจ้าที่เธอนมัสการสังเกตว่าเธอสนใจฟังเรื่องที่เปาโลพูด
ซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวา: อย่างที่เห็นในข้อมูลสำหรับศึกษาในข้อก่อนหน้านี้ ลิเดียเป็นคนที่เปลี่ยนมานับถือศาสนายิว จึงมีเหตุผลที่จะคิดว่าตอนที่เธอพูดประโยคนี้เธอจะคิดถึงพระยะโฮวา ลิเดียเพิ่งได้ยินเรื่องพระเยซูคริสต์ตอนที่เปาโลประกาศให้เธอฟัง แต่เธอยังไม่ได้แสดงความซื่อสัตย์ต่อพระเยซู จึงมีเหตุผลที่เธอจะพูดว่าเธอซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาพระเจ้าที่เธอนมัสการอยู่แล้ว
มีปีศาจสิงอยู่: แปลตรงตัวว่า “กับวิญญาณของงูใหญ่” ตามตำนานกรีกมีงูใหญ่หรือมังกรที่ชื่อไพธอนคอยปกป้องวิหารและเทพยากรณ์แห่งเดลฟี มีการใช้คำกรีก พูโธน เพื่อหมายถึงคนที่สามารถบอกอนาคตและหมายถึงวิญญาณที่พูดผ่านคนคนนั้น ถึงแม้ต่อมาจะมีการใช้คำนี้เพื่อหมายถึงนักแปลงเสียงที่พูดโดยใช้หุ่นเชิด แต่ในข้อนี้ที่กิจการมีการใช้คำนี้เพื่อพูดถึงปีศาจที่ทำให้สาวใช้บอกอนาคตได้
จากการทำนายโชคชะตา: หรือ “จากการบอกอนาคต” ในคัมภีร์ไบเบิล นักบวชที่มีเวทมนตร์คาถา คนทรง ผู้ทำนาย โหร และคนอื่น ๆ มักจะอ้างว่าสามารถบอกอนาคตได้ (ลนต 19:31; ฉธบ 18:11) ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกมีการพูดถึงปีศาจที่ทำนายอนาคตแค่ครั้งเดียวซึ่งก็คือเหตุการณ์นี้ที่เกิดขึ้นในเมืองฟีลิปปี พวกปีศาจต่อต้านพระเจ้าและคนที่ทำตามความประสงค์ของพระองค์ จึงไม่แปลกที่หลังจากเปาโลกับสิลาสไล่ปีศาจออกจากสาวใช้คนนี้แล้ว พวกเขาก็เจอการต่อต้านอย่างหนัก—กจ 16:12, 17-24
ที่สาธารณะ: หรือ “ตลาด” คำกรีก อากอรา ในข้อนี้หมายถึงลานที่ใช้เป็นศูนย์กลางการซื้อขาย และเป็นที่ชุมนุมของชาวเมืองในประเทศแถบตะวันออกกลางสมัยโบราณ และในดินแดนที่กรีกและโรมปกครอง
ตลาด: อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอะโครโปลิส เป็นตลาดของกรุงเอเธนส์ (คำกรีก อากอรา) ใหญ่ประมาณ 30 ไร่ ตลาดแห่งนี้เป็นมากกว่าสถานที่สำหรับซื้อขาย เพราะเป็นศูนย์กลางของเมืองทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ชาวเอเธนส์ชอบพบปะกันที่ศูนย์กลางแห่งนี้เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับความรู้และปรัชญาต่าง ๆ
ตลาด: หรือ “ลานสำหรับค้าขายและชุมนุมชน” คำกรีก อากอรา ในข้อนี้หมายถึงลานที่ใช้เป็นศูนย์กลางการซื้อขาย และเป็นที่ชุมนุมของชาวเมืองในประเทศแถบตะวันออกกลางสมัยโบราณ และในดินแดนที่กรีกและโรมปกครอง จากเหตุการณ์นี้ที่เกิดขึ้นในเมืองฟีลิปปีแสดงให้เห็นว่าบางครั้งก็มีการตัดสินคดีความที่ตลาด การขุดค้นทางโบราณคดีแสดงให้เห็นว่าเมืองฟีลิปปีมีทางหลวงเอกเนเชียนวิ่งผ่ากลางเมือง และทั้ง 2 ข้างทางก็มีตลาดที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 23:7; กจ 17:17
พวกเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง: เป็นรูปพหูพจน์ของคำกรีก สตราเทกอส ซึ่งในข้อนี้ใช้เพื่อหมายถึงพวกเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของเมืองฟีลิปปีที่เป็นเมืองขึ้นของโรม เจ้าหน้าที่เหล่านี้มีหน้าที่รักษาความสงบ บริหารงบประมาณ พิจารณาคดีและตัดสินคนที่ทำผิดกฎหมาย และออกคำสั่งลงโทษ
ฟีลิปปี: แต่เดิมเมืองนี้มีชื่อว่าเครนิเดส (ครีนิเดส) ประมาณกลางศตวรรษที่ 4 ก่อน ค.ศ. ฟีลิปที่ 2 แห่งมาซิดอน (พ่อของอเล็กซานเดอร์มหาราช) ได้ยึดเมืองนี้มาจากพวกทราเซียน และตั้งชื่อเมืองนี้ตามชื่อของเขา เมืองนี้มีเหมืองทองคำอยู่หลายแห่ง และมีการผลิตเหรียญทองคำที่มีชื่อฟีลิป ประมาณปี 168 ก่อน ค.ศ. ลูซีอัส แอมิลิอุส เปาลุส ผู้สำเร็จราชการโรมันได้รบชนะเปอร์เซอุสกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งมาซิโดเนียและยึดเมืองฟีลิปปีกับบริเวณโดยรอบ และในปี 146 ก่อน ค.ศ. เขตแดนทั้งหมดของมาซิโดเนียก็ถูกรวมเข้าไปเป็นแคว้นหนึ่งของโรม ต่อมาในปี 42 ก่อน ค.ศ. ออกตาเวียน (ออกเตเวียส) และมาร์ก แอนโทนีได้รบชนะกองทัพของบรูตัสและกายอัส คัสเซียส ลอนกินุส ซึ่งเป็นผู้ลอบสังหารจูเลียส ซีซาร์ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในที่ราบฟีลิปปี หลังจากนั้น ออกตาเวียนก็ตั้งฟีลิปปีเป็นเมืองขึ้นของโรมเพื่อระลึกถึงชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ในครั้งนั้น ไม่กี่ปีต่อมา ตอนที่สภาสูงของโรมันแต่งตั้งออกตาเวียนเป็นซีซาร์ออกัสตัส เขาก็ตั้งชื่อเมืองนี้ใหม่ว่าโคโลเนีย ออกัสต้า จูเลีย ฟีลิปเพนซิส—ดูภาคผนวก ข13
พวกเราชาวโรมัน: เมืองฟีลิปปีเป็นเมืองขึ้นของโรม คนในเมืองนี้ก็ได้รับสิทธิพิเศษหลายอย่างถึงแม้จะไม่เท่ากับพลเมืองโรมันจริง ๆ นี่จึงอาจทำให้เข้าใจได้ว่าทำไมคนในเมืองฟีลิปปีถึงชอบพวกโรมทั้ง ๆ ที่พวกเขาเป็นเมืองขึ้น—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 16:12
คำสอนของพระยะโฮวา: สำนวนนี้มาจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู ซึ่งมีคำฮีบรูรวมกัน 2 คำ คือ “คำสอน” และเททรากรัมมาทอน จึงรวมกันเป็น “คำสอนของพระยะโฮวา” มีสำนวนนี้และสำนวนคล้าย ๆ กันอยู่ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูประมาณ 200 ครั้ง (ตัวอย่างของสำนวนนี้อยู่ที่ 2ซม 12:9; 24:11; 2พก 7:1; 20:16; 24:2; อสย 1:10; 2:3; 28:14; 38:4; ยรม 1:4; 2:4; อสค 1:3; 6:1; ฮชย 1:1; มคา 1:1; ศคย 9:1) ในสำเนาหนึ่งของฉบับเซปตัวจินต์ ยุคแรก ที่ ศคย 9:1 มีการใช้คำกรีก ลอกอส ตามด้วยชื่อพระเจ้าที่เขียนด้วยอักษรฮีบรูโบราณ () ชิ้นส่วนของสำเนานี้ถูกพบในถ้ำแห่งหนึ่งที่ทะเลทรายยูเดียใกล้ทะเลเดดซี ในนาฮาล เฮเวอร์ ประเทศอิสราเอล สำเนานี้ทำขึ้นระหว่างปี 50 ก่อน ค.ศ. ถึงปี ค.ศ. 50 ถึงแม้สำเนาพระคัมภีร์ภาคภาษากรีกส่วนใหญ่จะไม่มีชื่อของพระเจ้าในข้อนี้ แต่ก็มีเหตุผลที่ดีที่ฉบับแปลโลกใหม่ ใช้ชื่อของพระยะโฮวาในข้อนี้—ดูภาคผนวก ก5
คำสอนของพระยะโฮวา: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 8:25
พวกเรา: ตั้งแต่ต้นของหนังสือกิจการจนถึง กจ 16:9 ลูกาบันทึกเรื่องราวเหมือนกับว่าเขาไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่ใน กจ 16:10 ลูกาเปลี่ยนวิธีเขียนของเขาโดยรวมตัวเขาเองเข้าไปในเรื่องราวด้วย ตั้งแต่ข้อนี้เขาใช้คำว่า “พวกเรา” ซึ่งดูเหมือนเป็นการแสดงว่าลูกาเดินทางร่วมกับเปาโลและเพื่อน ๆ ด้วย (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 1:1 และ “บทนำของหนังสือกิจการ”) เมื่อประมาณปี ค.ศ. 50 ลูกาเริ่มเดินทางร่วมกับเปาโลจากเมืองโตรอัสไปถึงเมืองฟีลิปปี แต่ตอนที่เปาโลออกจากเมืองฟีลิปปีลูกาก็ไม่ได้ไปด้วย—กจ 16:10-17, 40; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 20:5; 27:1
รับบัพติศมาทันที: ผู้คุมและคนในบ้านของเขาเป็นคนต่างชาติ และน่าจะไม่คุ้นเคยกับความจริงพื้นฐานในพระคัมภีร์ หลังจากเปาโลกับสิลาสกระตุ้นพวกเขา “ให้เชื่อในพระเยซูผู้เป็นนาย” ทั้งสองก็สอน “คำสอนของพระยะโฮวา” ให้พวกเขาหลายอย่างด้วย (กจ 16:31, 32) พวกเขาประทับใจมากเพราะที่ กจ 16:34 บอกว่าในคืนเดียวกันนั้นพวกเขาก็ “เชื่อพระเจ้า” จึงเหมาะที่พวกเขาจะรับบัพติศมาทันที ตอนที่เปาโลกับสิลาสออกจากเมืองฟีลิปปี ดูเหมือนว่าลูกาไม่ได้ไปด้วย เพราะใน กจ 16:40 ไม่มีชื่อของลูกา (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 16:10) เป็นไปได้ว่าลูกาอาจอยู่ที่เมืองฟีลิปปีต่อช่วงหนึ่งเพื่อช่วยคนที่เพิ่งเข้ามาเป็นคริสเตียน
ผู้ติดตาม: คำกรีก ราบดู่ฆ็อส มีความหมายตรงตัวว่า “คนถือไม้” คำนี้หมายถึงคนที่คอยติดตามเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของโรมไปในที่ต่าง ๆ และรับคำสั่งจากเขา คนโรมันเรียกพวกเขาว่าลิคเตอร์ (lictor) พวกเขาทำงานบางอย่างคล้ายกับตำรวจ แต่หน้าที่หลักก็คือคอยติดตามพวกเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของโรม พวกเขาจะไม่ทำตามคำขอของประชาชนโดยตรง แต่จะทำตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของโรมเท่านั้น
พลเมืองโรมัน: คือมีสัญชาติโรมัน ตามที่บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลนี่เป็นครั้งที่ 2 ใน 3 ครั้งที่เปาโลใช้ประโยชน์จากสิทธิ์การเป็นพลเมืองโรมัน ปกติแล้วเจ้าหน้าที่โรมันจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับปัญหาของชาวยิว แต่ที่พวกเขายุ่งเกี่ยวกับเรื่องของเปาโลก็ไม่ใช่แค่เพราะเกิดจลาจลตอนที่เปาโลไปวิหาร แต่ยังเป็นเพราะเปาโลเป็นพลเมืองโรมันด้วย การเป็นพลเมืองโรมันทำให้ผู้คนมีสิทธิพิเศษหลายอย่างและเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับทั่วทั้งจักรวรรดิ ตัวอย่างเช่น เป็นเรื่องผิดกฎหมายที่จะมัดหรือเฆี่ยนพลเมืองโรมันที่ยังไม่ได้ถูกตัดสินว่ามีความผิด เพราะนี่เป็นสิ่งที่เขาจะทำเฉพาะกับคนที่เป็นทาสเท่านั้น—อีก 2 ครั้ง ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 16:37; 25:11
ผมขอร้องเรียนต่อซีซาร์: ในคัมภีร์ไบเบิล นี่เป็นครั้งที่ 3 ที่เปาโลใช้ประโยชน์จากสิทธิ์การเป็นพลเมืองโรมัน (อีก 2 ครั้ง ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 16:37; 22:25) การขอร้องเรียนต่อซีซาร์อาจทำหลังจากมีการประกาศคำพิพากษาแล้ว หรือในช่วงไหนก็ได้ระหว่างที่มีการพิจารณาคดี เฟสทัสแสดงให้เห็นว่าเขาไม่อยากตัดสินเรื่องนี้ด้วยตัวเอง และการตัดสินในกรุงเยรูซาเล็มก็ดูเหมือนจะไม่มีความยุติธรรม เปาโลจึงขออย่างเป็นทางการที่จะให้มีการตัดสินคดีของเขาในศาลสูงสุดของจักรวรรดิ ดูเหมือนว่าบางครั้งการขออุทธรณ์อาจถูกปฏิเสธได้ เช่น ในกรณีของขโมย โจรสลัด หรือนักปลุกระดมที่ถูกจับได้ตอนที่กำลังปลุกปั่นประชาชน นี่อาจเป็นเหตุผลที่เฟสทัสคุยกับ “คณะที่ปรึกษา” ก่อนที่จะส่งเรื่องต่อไปที่ศาลสูง (กจ 25:12) เฟสทัสอาจอยากได้ข้อมูลที่ชัดเจนกว่านี้ก่อนจะส่งตัวเปาโลไปหา “องค์จักรพรรดิ” เนโร เขาจึงจัดให้มีการสอบสวนเปาโลอีกครั้งตอนที่เฮโรดอากริปปาที่ 2 มาเยี่ยม (กจ 25:12-27; 26:32; 28:19) การที่เปาโลยื่นอุทธรณ์ก็ยังช่วยให้เขาได้ไปที่กรุงโรมตามที่เขาตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก (กจ 19:21) คำสัญญาที่พระเยซูให้กับเปาโล และข่าวสารที่เขาได้รับจากทูตสวรรค์หลังจากนั้นแสดงให้เห็นว่าพระยะโฮวาอยู่เบื้องหลังเรื่องทั้งหมดนี้—กจ 23:11; 27:23, 24
พวกเราที่เป็นพลเมืองโรมัน: คือมีสัญชาติโรมัน เปาโลและน่าจะรวมถึงสิลาสด้วยเป็นพลเมืองโรมัน และตามกฎหมายโรมัน พลเมืองมีสิทธิ์เรียกร้องความยุติธรรมต่อศาลและจะไม่ถูกลงโทษในที่สาธารณะถ้ายังไม่ได้ตัดสินว่ามีความผิด พวกเขายังได้รับสิทธิ์และสิทธิพิเศษบางอย่างไม่ว่าเขาจะไปที่ไหนในจักรวรรดิ พลเมืองโรมันอยู่ภายใต้กฎหมายโรมัน ไม่ใช่กฎหมายท้องถิ่นประจำเมือง เมื่อถูกกล่าวหาเขาสามารถขอให้มีการพิจารณาคดีตามกฎหมายท้องถิ่นได้ แต่ก็ยังมีสิทธิ์ร้องเรียนต่อศาลยุติธรรมของโรม และในกรณีความผิดร้ายแรงที่อาจทำให้ได้รับโทษถึงตาย เขามีสิทธิ์ร้องเรียนต่อองค์จักรพรรดิได้ด้วย อัครสาวกเปาโลประกาศอย่างกว้างไกลในจักรวรรดิโรมัน และตามที่บันทึกในคัมภีร์ไบเบิล เขาใช้ประโยชน์จากสิทธิ์ของการเป็นพลเมืองโรมัน 3 ครั้ง ครั้งแรกก็คือที่นี่ในเมืองฟีลิปปี ตอนที่เปาโลบอกเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองชาวฟีลิปปีว่าพวกเขากำลังละเมิดสิทธิ์ของเปาโลโดยการเฆี่ยนเขา—อีก 2 ครั้ง ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 22:25; 25:11
วีดีโอและรูปภาพ

นี่เป็นภาพถ่ายของเมืองคาวาลาในปัจจุบัน เมืองนี้สร้างขึ้นตรงบริเวณที่เคยเป็นเมืองเนอาโปลิสสมัยโบราณ เมืองเนอาโปลิสตั้งอยู่ทางเหนือสุดของทะเลอีเจียนและเป็นเมืองท่าของเมืองฟีลิปปี เมืองฟีลิปปีตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือใกล้เมืองเนอาโปลิส เมืองเนอาโปลิสเป็นเมืองแรกของยุโรปที่อัครสาวกเปาโลเข้าไปประกาศหลังจากได้เห็นนิมิตที่บอกว่า “ขอมาช่วยพวกเราที่แคว้นมาซิโดเนีย” (กจ 16:9, 11, 12) เปาโลน่าจะผ่านมาที่เมืองเนอาโปลิสอีกครั้งหนึ่งตอนที่เขาเดินทางประกาศรอบที่สาม (กจ 20:2, 6) ปัจจุบันนี้ยังมีซากของเมืองนี้หลงเหลืออยู่ไม่มาก แต่ในบริเวณใกล้ ๆ นักท่องเที่ยวก็ยังสามารถเห็นบางส่วนของทางหลวงเอกเนเชียน (เวีย เอกนาเทีย) และยังสามารถใช้เส้นทางนี้ได้อยู่ ทางหลวงนี้เคยเป็นถนนสายหลักที่ใช้เดินทางจากทิศตะวันตกไปตะวันออกและมีระยะทางประมาณ 800 กม. ทางหลวงนี้เชื่อมเมืองต่าง ๆ ในยุโรปเข้าด้วยกันและไปไกลถึงชายแดนที่ติดกับทวีปเอเชีย เมืองหลายเมืองที่เปาโลเดินทางไปประกาศก็อยู่บนทางหลวงเอกเนเชียน เช่น เนอาโปลิส ฟีลิปปี อัมฟีโปลิส อปอลโลเนีย และเธสะโลนิกา—กจ 17:1

ภาพนี้แสดงให้เห็นลำธารเครนิเดส (ครีนิเดส) ที่อยู่นอกเมืองฟีลิปปีสมัยโบราณใกล้กับประตูครีนิเดสฝั่งตะวันตก อาจเป็น “แม่น้ำ” นี้ที่เปาโลประกาศกับผู้หญิงกลุ่มหนึ่งที่มารวมตัวกันเพื่ออธิษฐาน แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมีความเห็นต่างกันเกี่ยวกับที่ตั้งที่แน่นอนของแม่น้ำนี้—กจ 16:13-15