กิจการของอัครสาวก 13:1-52
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
เฮโรด: คือเฮโรดอันทีพาสลูกของเฮโรดมหาราช—ดูส่วนอธิบายศัพท์
ผู้ปกครองแคว้น: มาจากคำกรีกที่แปลตรงตัวว่า “ผู้ที่ปกครองอาณาเขต 1 ใน 4” คำนี้หมายถึงผู้ปกครองแคว้นเล็ก ๆ หรือเจ้านายที่ปกครองเขตแดนหนึ่งโดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลโรมัน เขตปกครองของเฮโรดอันทีพาสคือแคว้นกาลิลีและพีเรีย—เทียบกับข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 6:14
เฮโรดผู้ปกครองแคว้น: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 14:1
รับใช้ที่วิหาร: หรือ “รับใช้สาธารณชน, ทำงานรับใช้ที่ศักดิ์สิทธิ์” คำกรีก เล่ทู่รกิอา ที่ใช้ในข้อนี้ และคำที่เกี่ยวข้องกันคือ เล่ทู่รเกะโอ (แปลว่ารับใช้สาธารณชน) รวมทั้ง เล่ทู่รก็อส (แปลว่าผู้รับใช้สาธารณชน) เป็นคำที่ชาวกรีกและโรมันโบราณใช้เพื่อหมายถึงงานหรือบริการที่ทำเพื่อรัฐหรือหน่วยงานต่าง ๆ และทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทั่วไปด้วย ตัวอย่างเช่น ที่ รม 13:6 เจ้าหน้าที่บ้านเมืองถูกเรียกว่า “ผู้รับใช้ . . . เพื่อประชาชน” (เล่ทู่รก็อส ในรูปพหูพจน์) เพราะพวกเขาเป็นคนที่พระเจ้าใช้ให้ทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชน คำที่ลูกาใช้ในข้อนี้ทำให้นึกถึงคำที่ใช้ในฉบับเซปตัวจินต์ ซึ่งมักมีการใช้คำนี้ทั้งในรูปคำกริยาและคำนามเพื่อหมายถึงงานรับใช้ที่พวกปุโรหิตและคนเลวีทำที่วิหารของพระเจ้า (อพย 28:35; กดว 8:22) งานรับใช้ที่วิหารถือว่าเป็นการรับใช้เพื่อประโยชน์ของประชาชน แต่งานรับใช้แบบนี้ก็เป็นงานที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วยเพราะพวกปุโรหิตที่มาจากตระกูลเลวีสอนกฎหมายของพระเจ้าและถวายเครื่องบูชาเพื่อปิดคลุมบาปของประชาชน—2พศ 15:3; มลค 2:7
รับใช้: หรือ “รับใช้สาธารณชน” คำกรีก เล่ทู่รกิอา ที่ใช้ในข้อนี้ และคำที่เกี่ยวข้องกันคือ เล่ทู่รเกะโอ (แปลว่ารับใช้สาธารณชน) รวมทั้ง เล่ทู่รก็อส (แปลว่าผู้รับใช้สาธารณชน) เป็นคำที่ชาวกรีกโบราณใช้เพื่อหมายถึงงานหรือบริการที่ทำเพื่อรัฐหรือหน่วยงานต่าง ๆ และทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทั่วไปด้วย ตัวอย่างเช่น ที่ รม 13:6 เจ้าหน้าที่บ้านเมืองถูกเรียกว่า “ผู้รับใช้ . . . เพื่อประชาชน” (เล่ทู่รก็อส ในรูปพหูพจน์) เพราะพวกเขาเป็นคนที่พระเจ้าใช้ให้ทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชน ที่ ลก 1:23 (ดูข้อมูลสำหรับศึกษา) ก็แปลคำ เล่ทู่รกิอา ว่า “รับใช้ที่วิหาร” (หรือ “ทำงานรับใช้สาธารณชน”) เมื่อพูดถึงงานรับใช้ของเศคาริยาห์พ่อของยอห์นผู้ให้บัพติศมา ในข้อนั้นการใช้คำ เล่ทู่รกิอา ทำให้นึกถึงคำที่ใช้ในฉบับเซปตัวจินต์ ซึ่งมักมีการใช้คำนี้ทั้งในรูปคำกริยาและคำนามเพื่อหมายถึงงานรับใช้ที่พวกปุโรหิตและคนเลวีทำที่เต็นท์ศักดิ์สิทธิ์ (อพย 28:35; กดว 1:50; 3:31; 8:22) และวิหารของพระเจ้า (2พศ 31:2; 35:3; ยอล 1:9, 13; 2:17) งานรับใช้ที่วิหารถือว่าเป็นการรับใช้เพื่อประโยชน์ของประชาชน แต่งานรับใช้แบบนี้ก็เป็นงานที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วยเพราะพวกปุโรหิตที่มาจากตระกูลเลวีสอนกฎหมายของพระเจ้า (2พศ 15:3; มลค 2:7) และถวายเครื่องบูชาเพื่อปิดคลุมบาปของประชาชน (ลนต 1:3-5; ฉธบ 18:1-5) ส่วนที่ กจ 13:2 มีการใช้คำกรีก เล่ทู่รเกะโอ ในความหมายที่กว้างขึ้นเมื่อพูดถึงงานรับใช้ของผู้พยากรณ์และผู้สอนที่เป็นคริสเตียนในประชาคมอันทิโอกในแคว้นซีเรีย ในท้องเรื่องนี้ คำกรีกนี้ใช้เพื่อหมายถึงการรับใช้และการนมัสการพระเจ้าในหลายวิธี เช่น การอธิษฐาน การประกาศ และการสอน แน่นอนว่างานรับใช้ที่ผู้พยากรณ์และผู้สอนเหล่านี้ทำต้องรวมถึงการประกาศในที่สาธารณะด้วย—กจ 13:3
รับใช้พระยะโฮวา: คำว่า “รับใช้” มาจากคำกรีก เล่ทู่รเกะโอ ในฉบับเซปตัวจินต์ มักใช้คำกรีกนี้ในข้อความภาษาฮีบรูที่มีชื่อของพระยะโฮวา ตัวอย่างเช่นคำว่า “รับใช้พระยะโฮวา” ใน 2พศ 13:10; 35:3 ก็ใช้คำกรีกเดียวกันกับที่ใช้ใน กจ 13:2—1ซม 2:11; 3:1; อสค 45:4; ยอล 2:17
เซลูเคีย: เป็นเมืองที่อยู่ริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เมืองนี้เป็นเมืองท่าหน้าด่านให้กับเมืองอันทิโอกในแคว้นซีเรีย เมืองเซลูเคียตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองอันทิโอก สองเมืองนี้อยู่ห่างกันประมาณ 20 กม. ผู้คนสามารถเดินทางจากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่งได้โดยทางถนนและทางแม่น้ำโอรอนเตสที่ไหลผ่านเมืองอันทิโอกไปจนถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่อยู่ทางใต้ของเมืองเซลูเคีย เซเลอคุสที่ 1 (นิคาเตอร์) นายพลคนหนึ่งของอเล็กซานเดอร์มหาราชเป็นคนก่อตั้งเมืองนี้และตั้งชื่อเมืองนี้ตามชื่อของเขา และประมาณปี ค.ศ. 47 เปาโลกับบาร์นาบัสลงเรืองที่เมืองเซลูเคียซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางในฐานะมิชชันนารีรอบแรกของเปาโล เมืองเซลูเคียตั้งอยู่ทางเหนือของเมืองซูเวดิเย่หรือซัลมานดักของประเทศตุรกีในปัจจุบัน ทุกวันนี้ท่าเรือเซลูเคียกลายเป็นที่ลุ่มชื้นแฉะที่เต็มไปด้วยตะกอนจากแม่น้ำโอรอนเตส—ดูภาคผนวก ข13
ลงเรือ . . . ไปที่เกาะไซปรัส: การเดินทางนี้อาจมีระยะทางประมาณ 200 กม. ถ้ากระแสลมเอื้ออำนวยเรือในศตวรรษแรกจะเดินทางได้ประมาณ 150 กม. ต่อวัน แต่ถ้ากระแสลมไม่เอื้ออำนวย การเดินทางต้องใช้เวลานานกว่านั้นมาก เกาะไซปรัสเป็นบ้านของบาร์นาบัส—ดูภาคผนวก ข13
ซาลามิส: ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะไซปรัส ถึงแม้พวกโรมันจะตั้งเมืองปาโฟสที่อยู่ทางทิศตะวันตกให้เป็นเมืองหลวง แต่เมืองซาลามิสเหมาะมากที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการประกาศบนเกาะไซปรัส เพราะเมืองนี้อยู่ใกล้เมืองอันทิโอกในแค้นซีเรียมากกว่า ซึ่งเมืองอันทิโอกเป็นเมืองที่เปาโลเริ่มต้นการเดินทางในฐานะมิชชันนารี เมืองซาลามิสยังเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม การศึกษา และการค้าของเกาะนี้ นอกจากนั้น เมืองนี้ยังมีชาวยิวอยู่จำนวนมาก และมีที่ประชุมของชาวยิวมากกว่า 1 แห่ง เนื่องจากบาร์นาบัสเป็นชาวเกาะไซปรัส เขาจึงสามารถให้ข้อมูลเรื่องการเดินทางได้ดี เพื่อจะประกาศทั่วเกาะไซปรัสพวกเขาคงต้องเดินทางอย่างน้อย 150 กม.—ดูภาคผนวก ข13
ยอห์น: คือยอห์นมาระโก เขาเป็นสาวกคนหนึ่งของพระเยซู เป็น “ลูกพี่ลูกน้องของบาร์นาบัส” (คส 4:10) และเป็นผู้เขียนหนังสือข่าวดีของมาระโก (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ชื่อหนังสือมาระโก) ที่ กจ 13:13 เรียกเขาว่ายอห์น แต่อีก 3 ข้อในหนังสือกิจการที่พูดถึงเขาก็ยังบอกด้วยว่าเขา “มีอีกชื่อหนึ่งว่ามาระโก” ซึ่งเป็นเป็นนามสกุลโรมันของเขา (กจ 12:12, 25; 15:37) ชื่อยอห์นตรงกับชื่อภาษาฮีบรูเยโฮฮานัน หรือโยฮานัน ซึ่งหมายความว่า “พระยะโฮวาแสดงความโปรดปราน, พระยะโฮวากรุณา” ส่วนในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกข้ออื่น ๆ เรียกเขาว่า “มาระโก”—คส 4:10; 2ทธ 4:11; ฟม 24; 1ปต 5:13
มาระโก: มาจากคำละติน มาร์คัส (Marcus) มาระโกเป็นนามสกุลโรมันของ “ยอห์น” ที่พูดถึงใน กจ 12:12 แม่ของเขาชื่อมารีย์เป็นสาวกรุ่นแรกที่อยู่ในกรุงเยรูซาเล็ม ยอห์น มาระโกเป็น “ลูกพี่ลูกน้องของบาร์นาบัส” (คส 4:10) พวกเขามักเดินทางไปด้วยกัน มาระโกยังเดินทางกับเปาโลและมิชชันนารีคริสเตียนคนอื่น ๆ ในยุคแรกด้วย (กจ 12:25; 13:5, 13; 2ทธ 4:11) ถึงแม้ไม่มีที่ไหนในหนังสือข่าวดีนี้บอกว่าใครเป็นคนเขียน แต่พวกนักเขียนในศตวรรษที่ 2 และ 3 ลงความเห็นว่ามาระโกเป็นผู้เขียนหนังสือเล่มนี้
ผู้สำเร็จราชการ: คือตำแหน่งผู้ปกครองแคว้นที่สภาสูงของโรมันดูแล บางแคว้นของโรม เช่น แคว้นยูเดียเป็นแคว้นที่ปกครองโดยจักรพรรดิ และจักรพรรดิก็เป็นผู้แต่งตั้งผู้ว่าราชการ เนื่องจากไซปรัสเป็นแคว้นที่สภาสูงของโรมันดูแลตั้งแต่ปี 22 ก่อน ค.ศ. แคว้นนี้จึงปกครองโดยผู้สำเร็จราชการ มีการพบเหรียญจากเกาะไซปรัส ซึ่งด้านหนึ่งสลักหน้าของจักรพรรดิโรมันคลาวดิอัสและตำแหน่งของเขา (ในภาษาละติน) ส่วนอีกด้านหนึ่งมีข้อความว่า “ภายใต้การปกครองของโคมินิอัสโพรคลุส ผู้สำเร็จราชการของชาวไซปรัส” (ในภาษากรีก)—ดูส่วนอธิบายศัพท์
เซาโล: แปลว่า “ขอ [พระเจ้า]; ถาม [พระเจ้า]” เซาโลยังเป็นที่รู้จักกันในชื่อโรมันคือเปาโล เขา “อยู่ในตระกูลเบนยามิน เป็นฮีบรูแท้ที่เกิดจากพ่อแม่ชาวฮีบรู” (ฟป 3:5) เนื่องจากเซาโลเป็นพลเมืองโรมันตั้งแต่เกิด (กจ 22:28) จึงมีเหตุผลที่พ่อแม่ที่เป็นชาวยิวของเขาจะตั้งชื่อโรมันให้เขาด้วย ชื่อโรมันของเขาคือเปาลุสหรือเปาโลที่มีความหมายว่า “เล็ก” เขาน่าจะมี 2 ชื่อนี้ตั้งแต่เด็ก อาจมีเหตุผลหลายอย่างที่พ่อแม่ตั้งชื่อเขาว่าเซาโล เซาโลเป็นชื่อที่มีความสำคัญในหมู่คนตระกูลเบนยามินเพราะกษัตริย์องค์แรกที่ปกครองอิสราเอลมีชื่อว่าซาอูล (เซาโล) และอยู่ในตระกูลเบนยามิน (1ซม 9:2; 10:1; กจ 13:21) หรือพ่อแม่อาจตั้งชื่อให้เขาเพราะชื่อนี้มีความหมายดี หรือเป็นไปได้ว่าพ่อของเขาก็มีชื่อว่าเซาโลซึ่งปกติแล้วเป็นธรรมเนียมที่จะตั้งชื่อลูกเหมือนชื่อพ่อ (เทียบกับ ลก 1:59) ไม่ว่าจะอย่างไร ตอนที่เขาอยู่กับชาวยิวโดยเฉพาะช่วงที่กำลังเรียนที่จะเป็นฟาริสี หรือตอนที่เป็นฟาริสีแล้วเขาก็น่าจะใช้ชื่อฮีบรูซึ่งก็คือเซาโล (กจ 22:3) และเป็นเวลามากกว่า 10 ปีหลังจากที่เข้ามาเป็นคริสเตียนแล้ว ดูเหมือนว่าคนส่วนใหญ่ก็ยังรู้จักเขาในชื่อฮีบรูนี้—กจ 11:25, 30; 12:25; 13:1, 2, 9.
เซาโลซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่าเปาโล: ตั้งแต่เหตุการณ์นี้ มีการเรียกเซาโลว่าเปาโล เขาเป็นชาวฮีบรูที่ได้สัญชาติโรมัน (กจ 22:27, 28; ฟป 3:5) ดังนั้น ดูเหมือนว่าตั้งแต่เด็กเขามีทั้งชื่อฮีบรูว่าเซาโลและชื่อโรมันว่าเปาโล ในตอนนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชาวยิวโดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่นอกอิสราเอลจะมีสองชื่อ (กจ 12:12; 13:1) ญาติของเปาโลบางคนก็มีทั้งชื่อโรมันและชื่อกรีก (รม 16:7, 21) ในฐานะที่เปาโลเป็น “อัครสาวกที่ถูกส่งไปหาคนต่างชาติ” เขาได้รับมอบหมายให้ไปประกาศข่าวดีกับคนที่ไม่ใช่ชาวยิว (รม 11:13) ที่เปาโลตัดสินใจใช้ชื่อโรมันอาจเป็นเพราะเขารู้สึกว่าชื่อนี้จะทำให้ได้รับการยอมรับมากกว่า (กจ 9:15; กท 2:7, 8) บางคนบอกว่า ที่เขาใช้ชื่อโรมันก็เพราะเขาต้องการให้เกียรติเสอร์จีอัสเปาลุส ซึ่งนั่นไม่น่าจะใช่ เพราะถึงแม้จะออกจากเกาะไซปรัสไปแล้วเปาโลก็ยังใช้ชื่อนี้อยู่ ส่วนบางคนบอกว่าเปาโลไม่อยากใช้ชื่อฮีบรู เพราะชื่อของเขาเมื่อออกเสียงในภาษากรีกจะคล้ายกับคำที่มีความหมายไม่ดี—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 7:58
เปาโล: มาจากชื่อภาษาละตินเปาลุส (Paulus) ซึ่งแปลว่า “เล็ก” ในต้นฉบับพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกมีการใช้ชื่อกรีก เพาลอส 157 ครั้งเมื่อพูดถึงอัครสาวกเปาโล และ 1 ครั้งเมื่อพูดถึงผู้สำเร็จราชการของเกาะไซปรัสที่ชื่อเสอร์จีอัสเปาลุส—กจ 13:7
แนวทาง . . . ของพระยะโฮวา: คำพูดที่เปาโลพูดกับบาร์เยซูพ่อมดชาวยิว (ในข้อ 10 และ 11) มีหลายส่วนที่มาจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู ตัวอย่างเช่น สำนวนกรีก “ขัดขวางแนวทาง” ในข้อนี้ เป็นสำนวนเดียวกับที่ใช้ใน สภษ 10:9 (“คดโกง”) ในฉบับเซปตัวจินต์ และคำกรีกที่อยู่ในสำนวน “แนวทางที่ถูกต้อง ของพระยะโฮวา” ก็เป็นคำเดียวกับใน ฮชย 14:9 ในฉบับเซปตัวจินต์ และในข้อนั้น ข้อความภาษาฮีบรูมีชื่อของพระเจ้าอยู่ด้วย (“เพราะทางของพระยะโฮวาเป็นทางที่ถูกต้อง”)
พระยะโฮวา: แปลตรงตัวว่า “มือของพระยะโฮวา” มักมีสำนวนนี้อยู่ในต้นฉบับพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู สำนวนนี้มาจากคำฮีบรูรวมกัน 2 คำ คือ “มือ” และเททรากรัมมาทอน (ตัวอย่างของสำนวนนี้อยู่ที่ อพย 9:3; กดว 11:23; วนฉ 2:15; นรธ 1:13; 1ซม 5:6, 9; 7:13; 12:15; 1พก 18:46; อสร 7:6; โยบ 12:9; อสย 19:16; 40:2; อสค 1:3) ในคัมภีร์ไบเบิล คำว่า “มือ” มักใช้ในความหมายเป็นนัยเพื่อหมายถึง “พลังอำนาจ” เหมือนกับมือที่ต้องอาศัยพลังจากแขน คำว่า “มือ” ในข้อนี้จึงอาจหมายถึงการ “ใช้พลังอำนาจ” ด้วย
พระยะโฮวา: แปลตรงตัวว่า “มือของพระยะโฮวา”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 11:21
คำสอนของพระยะโฮวา: มีสำนวนคล้ายกันนี้อยู่ที่ กจ 13:5 ในข้อนั้นบอกว่าตอนที่เปาโลกับเพื่อน ๆ ไปถึงเกาะไซปรัส พวกเขาก็ “ประกาศคำสอนของพระเจ้าตามที่ประชุมของชาวยิว” นั่นทำให้ผู้สำเร็จราชการที่ชื่อเสอร์จีอัสเปาลุส “อยากจะฟังคำสอนของพระเจ้ามาก” (กจ 13:7) หลังจากได้ยินสิ่งที่เปาโลพูดและได้เห็นสิ่งที่เขาทำ เสอร์จีอัสเปาลุสก็รู้สึกทึ่งกับสิ่งที่เขาเรียนเกี่ยวกับพระยะโฮวาและคำสอนที่มาจากพระองค์
อันทิโอกในแคว้นปิสิเดีย: เนื่องจากเมืองนี้ตั้งอยู่ตรงชายแดนระหว่างแคว้นฟรีเจียและแคว้นปิสิเดีย ดังนั้น ในบางช่วงผู้คนก็มองว่าเมืองนี้เป็นส่วนหนึ่งของแคว้นฟรีเจีย และบางช่วงพวกเขาก็มองว่าเป็นส่วนของแคว้นปิสิเดีย นอกจากนั้น เมืองนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นกาลาเทียของโรมด้วย ซากของเมืองนี้ตั้งอยู่ใกล้เมืองเยาวัคของประเทศตุรกีในปัจจุบัน มีการพูดถึงเมืองอันทิโอกในแคว้นปิสิเดียในข้อนี้และที่ กจ 14:19, 21 ด้วย การเดินทางจากเมืองเปอร์กาที่อยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมาที่เมืองอันทิโอกในแคว้นปิสิเดียเป็นการเดินทางที่ยากลำบาก เพราะเมืองอันทิโอกอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 1,100 เมตร (ดูภาคผนวก ข13) และยังมีกองโจรซุ่มอยู่ตามจุดต่าง ๆ บนภูเขาด้วย เมือง “อันทิโอกในแคว้นปิสิเดีย” เป็นคนละเมืองกับเมืองอันทิโอกในแคว้นซีเรีย (กจ 6:5; 11:19; 13:1; 14:26; 15:22; 18:22) และส่วนใหญ่แล้วเมื่อพูดถึงเมืองอันทิโอกในหนังสือกิจการก็มักจะหมายถึงเมืองอันทิโอกในแคว้นซีเรีย
การอ่านกฎหมายของโมเสสและหนังสือของพวกผู้พยากรณ์ให้ประชาชนฟัง: ในศตวรรษแรกจะมีการอ่านให้ประชาชนฟัง “ทุกวันสะบาโต” (กจ 15:21) ส่วนหนึ่งของการนมัสการในที่ประชุมของชาวยิวก็คือ การท่องบทสวดยืนยันความเชื่อของชาวยิวที่เรียกว่าเชมา (ฉธบ 6:4-9; 11:13-21) เชมาเป็นคำแรกของข้อคัมภีร์ที่ใช้เป็นบทสวดที่บอกว่า “ชาวอิสราเอล ฟังให้ดี [เชมา] พระยะโฮวาเป็นพระเจ้าของเรา” (ฉธบ 6:4) ส่วนสำคัญที่สุดของการนมัสการก็คือการอ่านหนังสือโทราห์หรือเพนทาทุก ในที่ประชุมของชาวยิวหลายแห่งมีการจัดตารางอ่านกฎหมายทั้งหมดของโมเสสให้จบภายใน 1 ปี ส่วนที่ประชุมของชาวยิวอื่น ๆ อาจใช้เวลา 3 ปี และยังมีการอ่านและอธิบายหนังสือของผู้พยากรณ์ด้วย หลังจากมีการอ่านให้ประชาชนฟังก็จะมีการบรรยาย ในท้องเรื่องนี้ เปาโลอยู่ในที่ประชุมของชาวยิวในเมืองอันทิโอกในแคว้นปิสิเดีย หลังจากมีการอ่านพระคัมภีร์ให้ประชาชนฟังเขาก็ได้รับเชิญให้พูดให้กำลังใจประชาชน—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 4:16
ยืนขึ้นเพื่อจะอ่าน: ผู้เชี่ยวชาญบางคนให้ข้อสังเกตว่าข้อความนี้เป็นครั้งแรกที่คัมภีร์ไบเบิลให้รายละเอียดเกี่ยวกับการนมัสการในที่ประชุมของชาวยิว ตามคำสอนสืบปากของชาวยิวปกติแล้วการนมัสการเริ่มโดยแต่ละคนจะอธิษฐานส่วนตัวตอนที่เดินเข้าไปในที่ประชุม จากนั้นก็จะมีการท่องข้อความจาก ฉธบ 6:4-9 และ 11:13-21 แล้วก็มีการอธิษฐานด้วยกัน ต่อด้วยการอ่านออกเสียงส่วนหนึ่งของเพนทาทุกตามที่กำหนดไว้ บันทึกใน กจ 15:21 บอกไว้ว่าในศตวรรษแรกมีการอ่านแบบนี้ “ทุกวันสะบาโต” หลังจากนั้น พวกเขาจะทำเหมือนที่ข้อนี้บอกคืออ่านหนังสือของผู้พยากรณ์และพูดถึงบทเรียนต่าง ๆ ที่ได้จากการอ่าน ตามธรรมเนียมแล้วผู้อ่านจะยืนขึ้นและเขาอาจเลือกได้เองว่าจะอ่านส่วนไหนของคำพยากรณ์—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 13:15
ช่วงเวลาประมาณ 450 ปี: คำพูดของเปาโลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติอิสราเอลเริ่มต้นด้วยเหตุการณ์ที่สำคัญ ซึ่งก็คือตอนที่พระเจ้า “เลือกบรรพบุรุษของพวกเรา” (กจ 13:17) ดูเหมือนเปาโลคิดถึงเหตุการณ์ตอนที่อิสอัคซึ่งเป็นลูกหลานตามที่พระเจ้าสัญญาเกิด (ปฐก 17:19; 21:1-3; 22:17, 18) ตอนแรกซาราย (ซาราห์) เป็นหมัน (ปฐก 11:30) แต่หลังจากอิสอัคเกิดก็ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าใครเป็นลูกหลานตามที่พระเจ้าสัญญา เรื่องที่เปาโลเล่าเริ่มจากเหตุการณ์นี้ไปจนถึงเวลาที่พระเจ้าให้พวกเขามีผู้วินิจฉัยจนถึงสมัยของผู้พยากรณ์ซามูเอล ดังนั้น ช่วงเวลา “ประมาณ 450 ปี” ก็น่าจะเริ่มตั้งแต่ตอนที่อิสอัคเกิดในปี 1918 ก่อน ค.ศ. และสิ้นสุดลงในปี 1467 ก่อน ค.ศ. ซึ่งปี 1467 ก่อน ค.ศ. เป็นปีที่ชาติอิสราเอลออกมาจากอียิปต์แล้ว 46 ปี (ชาติอิสราเอลออกมาในปี 1513 ก่อน ค.ศ.) ข้อสรุปแบบนี้จึงถูกต้องเพราะชาติอิสราเอลเดินทางในที่กันดารเป็น 40 ปี และใช้เวลา 6 ปีเพื่อยึดครองแผ่นดินคานาอัน—กดว 9:1; 13:1, 2, 6; ฉธบ 2:7; ยชว 14:6, 7, 10
ลูกหลาน: หรือ “ผู้สืบเชื้อสาย”—ดูภาคผนวก ก2
เสา: หรือ “ต้นไม้” คำกรีก คะซูลอน (แปลตรงตัวว่า “ไม้”) ที่ใช้ในข้อนี้มีความหมายเดียวกับคำกรีก สเทารอส (ที่แปลว่า “เสาทรมาน”) และคำนี้ยังใช้เพื่อหมายถึงเครื่องมือประหารที่ใช้ตรึงพระเยซู ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก ลูกา เปาโล และเปโตรใช้คำ คะซูลอน ในความหมายแบบนี้รวมกัน 5 ครั้ง (กจ 5:30; 10:39; 13:29; กท 3:13; 1ปต 2:24) ในฉบับเซปตัวจินต์ มีการใช้คำ คะซูลอน ที่ ฉธบ 21:22, 23 เพื่อแปลคำฮีบรู เอ็ทส์ (มีความหมายว่า “ต้นไม้, ไม้, ไม้ท่อนหนึ่ง”) ในประโยคที่บอกว่า “และคุณเอาศพเขาแขวนไว้บนเสา” ใน กท 3:13 ตอนที่เปาโลยกข้อความจากเฉลยธรรมบัญญัติขึ้นมา เขาก็ใช้คำว่า คะซูลอน ในประโยคที่บอกว่า “ทุกคนที่ถูกแขวนไว้บนเสาก็ถูกสาปแช่ง” นอกจากนั้น ยังมีการใช้คำกรีกเดียวกันนี้ในฉบับเซปตัวจินต์ ที่ อสร 6:11 (1เอสดรัส 6:31, LXX) เมื่อแปลคำอาระเมอิก เอ ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายเดียวกับคำฮีบรู เอ็ทส์ ในข้อนั้นบอกว่าถ้ามีคนขัดคำสั่งของกษัตริย์เปอร์เซีย “ให้ถอนไม้ท่อนหนึ่ง จากบ้านของคนนั้นออกมาและเอาตัวเขาตรึงไว้บนไม้นั้น” การที่ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลใช้คำ คะซูลอน ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายเดียวกับคำ สเทารอส ให้หลักฐานที่ชัดเจนว่าพระเยซูถูกประหารบนเสาที่ตั้งตรงโดยไม่มีไม้อีกท่อนพาดขวาง
เสา: หรือ “ต้นไม้”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 5:30
อุโมงค์ฝังศพ: หรือ “อุโมงค์รำลึก”—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “อุโมงค์รำลึก”
ทุกสิ่งที่พระเจ้าอยากให้เราทำ: หรือ “ความประสงค์ทั้งหมดของพระเจ้า” สำนวนนี้หมายถึงทุกสิ่งที่พระเจ้าตั้งใจจะทำโดยทางรัฐบาลของพระองค์ ซึ่งรวมถึงทุกสิ่งที่พระองค์มองว่าเป็นเรื่องสำคัญเพื่อจะช่วยมนุษย์ให้รอด (กจ 20:25) คำกรีก บู่เล มีการแปลไว้ที่ ลก 7:30 ว่า “คำแนะนำ [หรือ “คำสั่ง,” เชิงอรรถ]” และที่ ฮบ 6:17 ว่า “ความประสงค์”
รับใช้พระเจ้า: หรือ “ทำตามความประสงค์ของพระเจ้า”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 20:27
ความกรุณาที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้า: เมื่อคิดถึงภูมิหลังของเปาโลที่เคยต่อต้านพระเยซูและสาวก เขาจึงมีเหตุผลมากมายที่จะเน้นเรื่องความกรุณาที่ยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวา (ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “ความกรุณาที่ยิ่งใหญ่”) เปาโลรู้ว่าเพราะความกรุณาที่ยิ่งใหญ่นี้เขาถึงมารับใช้พระเจ้าได้ (1คร 15:10; 1ทธ 1:13, 14) ตอนที่เจอกับผู้ดูแลในเมืองเอเฟซัส เขาพูดถึงความกรุณาที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้า 2 ครั้ง (กจ 20:24, 32) ในจดหมาย 14 ฉบับที่เปาโลเขียน เขาพูดถึง “ความกรุณาที่ยิ่งใหญ่” ประมาณ 90 ครั้ง ซึ่งมากกว่าผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลคนอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น เขาพูดถึงความกรุณาที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้าหรือของพระเยซูในตอนเริ่มต้นจดหมายของเขาทุกฉบับยกเว้นหนังสือฮีบรู และเขาพูดถึงคุณลักษณะนี้ในคำลงท้ายจดหมายทุกฉบับด้วย
คำสอนของพระยะโฮวา: สำนวนนี้มาจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู ซึ่งมีคำฮีบรูรวมกัน 2 คำ คือ “คำสอน” และเททรากรัมมาทอน จึงรวมกันเป็น “คำสอนของพระยะโฮวา” มีสำนวนนี้และสำนวนคล้าย ๆ กันอยู่ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูประมาณ 200 ครั้ง (ตัวอย่างของสำนวนนี้อยู่ที่ 2ซม 12:9; 24:11; 2พก 7:1; 20:16; 24:2; อสย 1:10; 2:3; 28:14; 38:4; ยรม 1:4; 2:4; อสค 1:3; 6:1; ฮชย 1:1; มคา 1:1; ศคย 9:1) ในสำเนาหนึ่งของฉบับเซปตัวจินต์ ยุคแรก ที่ ศคย 9:1 มีการใช้คำกรีก ลอกอส ตามด้วยชื่อพระเจ้าที่เขียนด้วยอักษรฮีบรูโบราณ () ชิ้นส่วนของสำเนานี้ถูกพบในถ้ำแห่งหนึ่งที่ทะเลทรายยูเดียใกล้ทะเลเดดซี ในนาฮาล เฮเวอร์ ประเทศอิสราเอล สำเนานี้ทำขึ้นระหว่างปี 50 ก่อน ค.ศ. ถึงปี ค.ศ. 50 ถึงแม้สำเนาพระคัมภีร์ภาคภาษากรีกส่วนใหญ่จะไม่มีชื่อของพระเจ้าในข้อนี้ แต่ก็มีเหตุผลที่ดีที่ฉบับแปลโลกใหม่ ใช้ชื่อของพระยะโฮวาในข้อนี้—ดูภาคผนวก ก5
คำสอนของพระยะโฮวา: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 8:25
ขับไล่ความมืดที่ปกคลุมชนชาติต่าง ๆ: หรือ “เปิดเผยให้กับชนชาติต่าง ๆ” คำกรีก อาพอคาลูพซิส ที่แปลว่า “ขับไล่ความมืด” หมายถึง “การเปิด” หรือ “การเปิดเผย” และมักมีการใช้คำนี้เมื่อพูดถึงการเปิดเผยความรู้ของพระเจ้าหรือความประสงค์ของพระองค์ (รม 16:25; อฟ 3:3; วว 1:1) ในข้อนี้สิเมโอนที่อายุมากแล้วบอกว่าพระเยซูที่ยังเป็นทารกเป็นแสงสว่าง และเขายังบอกว่าชนชาติต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ชาวยิวจะได้ประโยชน์จากความสว่างนี้ด้วย ไม่ใช่แค่ชาวยิวโดยกำเนิดหรือคนที่เปลี่ยนมานับถือศาสนายิวเท่านั้น คำพยากรณ์ของสิเมโอนสอดคล้องกับคำพยากรณ์อื่นในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู เช่นที่ อสย 42:6 และ 49:6
พระยะโฮวาสั่งพวกเราไว้ว่า: ข้อความต่อจากนี้ยกมาจาก อสย 49:6 ซึ่งในข้อความต้นฉบับภาษาฮีบรูของข้อนั้นทำให้เห็นชัดเจนว่าพระยะโฮวาเป็นผู้พูด (อสย 49:5; เทียบกับ อสย 42:6) งานรับใช้ของพระเยซูและสาวกทำให้คำพยากรณ์ข้อนี้เกิดขึ้นจริง—อสย 42:1; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 2:32
ถึงสุดขอบโลก: คำพยากรณ์นี้ยกมาจาก อสย 49:6 ซึ่งในฉบับเซปตัวจินต์ ใช้คำกรีกเดียวกันกับข้อนี้ อิสยาห์บอกล่วงหน้าว่าผู้รับใช้ของพระยะโฮวาจะเป็น “แสงสว่างของชาติต่าง ๆ” และความรอดจากพระเจ้าจะไปจน “ถึงสุดขอบโลก” ตอนที่พูดกับผู้คนในเมืองอันทิโอกในแคว้นปิสิเดีย เปาโลและบาร์นาบัสบอกว่าคำพยากรณ์นี้คือคำสั่งจากพระยะโฮวาให้กับสาวกของพระเยซูว่าพวกเขาต้องเป็นแสงสว่างของชาติต่าง ๆ ใน กจ 1:8 ก็มีการใช้คำกรีกเดียวกันนี้ (ดูข้อมูลสำหรับศึกษา) เพื่อแสดงให้เห็นว่าสาวกของพระเยซูต้องประกาศไปกว้างไกลขนาดไหน
จนถึงสุดขอบโลก: หรือ “จนทั่วทุกมุมโลก” มีสำนวนกรีกเดียวกันนี้ที่ กจ 13:47 ซึ่งอ้างถึงคำพยากรณ์ใน อสย 49:6 และในฉบับเซปตัวจินต์ ที่ อสย 49:6 ก็ใช้สำนวนกรีกเดียวกันนี้ด้วย ดูเหมือนว่าคำพูดของพระเยซูใน กจ 1:8 ก็อ้างถึงคำพยากรณ์ข้อเดียวกันนี้ที่บอกล่วงหน้าว่าผู้รับใช้ของพระยะโฮวาจะเป็น “แสงสว่างของชาติต่าง ๆ” เพื่อที่ความรอดจะไปจน “สุดขอบโลก” นี่สอดคล้องกับคำพูดของพระเยซูที่เคยบอกว่าสาวกของท่านจะ “ทำงานใหญ่กว่า” ที่ท่านทำ (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 14:12) และยังสอดคล้องกับคำพูดของพระเยซูที่บอกว่าคริสเตียนจะทำงานประกาศไปทั่วโลก—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:14; 26:13; 28:19
คำสอนของพระยะโฮวา: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 8:25
เต็มใจตอบรับความจริง: มีการใช้คำนี้เพื่อพูดถึงชาวต่างชาติที่อยู่ในเมืองอันทิโอกในแคว้นปิสิเดียที่เข้ามาเป็นสาวกหลังจากได้ยินเปาโลและบาร์นาบัสประกาศ คำกรีกในข้อนี้ที่แปลว่า “เต็มใจตอบรับความจริง” (รูปหนึ่งของคำกริยา ทาส์โซ) มีความหมายได้หลายอย่าง เช่น “วาง, ทำให้อยู่ในตำแหน่ง, จัดให้, แต่งตั้ง” ท้องเรื่องทำให้รู้ว่าคำนี้น่าจะหมายถึงอะไร ใน กจ 13:46 พูดถึงความแตกต่างของชาวยิวในเมืองอันทิโอกในแคว้นปิสิเดียกับชาวต่างชาติที่พูดถึงในข้อนี้คือข้อ 48 ในวันสะบาโตก่อนหน้านี้ คนทั้ง 2 กลุ่มได้ฟังคำบรรยายที่น่าตื่นเต้นของเปาโล (กจ 13:16-41) อย่างที่เปาโลกับบาร์นาบัสบอกไว้ ชาวยิวไม่ยอมรับ “คำสอนของพระเจ้า” และแสดงให้เห็นทั้งความคิดและการกระทำของพวกเขาว่าพวกเขาไม่ “ทำตัวให้คู่ควรกับชีวิตตลอดไป” (กจ 13:46) แต่พวกคนต่างชาติในเมืองนั้นไม่ได้เป็นแบบนั้น ในบันทึกเหตุการณ์นี้บอกว่าพวกเขาดีใจมากและยกย่องคำสอนของพระยะโฮวา ดังนั้น ในท้องเรื่องนี้คำกริยากรีก ทาส์โซ จึงถ่ายทอดแนวคิดที่ว่าพวกคนต่างชาติในเมืองอันทิโอก “ทำให้ตัวเองอยู่ในตำแหน่ง” ที่จะได้ชีวิต พวกเขาแสดงให้เห็นทั้งทางความคิดและลักษณะนิสัยว่าพวกเขาคู่ควรที่จะได้ชีวิตตลอดไป ดังนั้น จึงเหมาะที่จะแปลคำกรีกนี้ว่า “เต็มใจตอบรับความจริง” แต่คัมภีร์ไบเบิลหลายฉบับแปลข้อความที่ กจ 13:48 ว่า “ถูกกำหนดไว้เพื่อ, ถูกเลือกไว้เพื่อ” ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่าพระเจ้าได้กำหนดไว้ล่วงหน้าว่าพวกเขาจะได้ชีวิต แต่ในท้องเรื่องนี้และส่วนอื่น ๆ ในคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้สนับสนุนแนวคิดที่ว่าคนต่างชาติในอันทิโอกถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าว่าจะได้ชีวิต เหมือนกับที่ชาวยิวก็ไม่ได้ถูกกำหนดว่าจะไม่ได้ชีวิต เปาโลพยายามโน้มน้าวใจชาวยิวให้ตอบรับข่าวดี แต่พวกเขากลับเลือกที่จะปฏิเสธ พวกเขาไม่ได้ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าให้เลือกแบบนั้น พระเยซูก็บอกว่าบางคนจะทำให้เห็นว่าพวกเขาไม่ “เหมาะสมกับรัฐบาลของพระเจ้า” (ลก 9:62) แต่พวกคนต่างชาติในเมืองอันทิโอกอยู่ในกลุ่มคนที่พระเยซูบอกว่าพวกเขา “เต็มใจ” ตอบรับข่าวดี—มธ 10:11, 13
คำสอนของพระยะโฮวา: สำนวนนี้มาจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู ซึ่งมีคำฮีบรูรวมกัน 2 คำ คือ “คำสอน” และเททรากรัมมาทอน จึงรวมกันเป็น “คำสอนของพระยะโฮวา” มีสำนวนนี้และสำนวนคล้าย ๆ กันอยู่ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูประมาณ 200 ครั้ง (ตัวอย่างของสำนวนนี้อยู่ที่ 2ซม 12:9; 24:11; 2พก 7:1; 20:16; 24:2; อสย 1:10; 2:3; 28:14; 38:4; ยรม 1:4; 2:4; อสค 1:3; 6:1; ฮชย 1:1; มคา 1:1; ศคย 9:1) ในสำเนาหนึ่งของฉบับเซปตัวจินต์ ยุคแรก ที่ ศคย 9:1 มีการใช้คำกรีก ลอกอส ตามด้วยชื่อพระเจ้าที่เขียนด้วยอักษรฮีบรูโบราณ () ชิ้นส่วนของสำเนานี้ถูกพบในถ้ำแห่งหนึ่งที่ทะเลทรายยูเดียใกล้ทะเลเดดซี ในนาฮาล เฮเวอร์ ประเทศอิสราเอล สำเนานี้ทำขึ้นระหว่างปี 50 ก่อน ค.ศ. ถึงปี ค.ศ. 50 ถึงแม้สำเนาพระคัมภีร์ภาคภาษากรีกส่วนใหญ่จะไม่มีชื่อของพระเจ้าในข้อนี้ แต่ก็มีเหตุผลที่ดีที่ฉบับแปลโลกใหม่ ใช้ชื่อของพระยะโฮวาในข้อนี้—ดูภาคผนวก ก5
คำสอนของพระยะโฮวา: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 8:25
คำสอนของพระยะโฮวา: สำนวนนี้มาจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู ซึ่งมีคำฮีบรูรวมกัน 2 คำ คือ “คำสอน” และเททรากรัมมาทอน จึงรวมกันเป็น “คำสอนของพระยะโฮวา” มีสำนวนนี้และสำนวนคล้าย ๆ กันอยู่ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูประมาณ 200 ครั้ง (ตัวอย่างของสำนวนนี้อยู่ที่ 2ซม 12:9; 24:11; 2พก 7:1; 20:16; 24:2; อสย 1:10; 2:3; 28:14; 38:4; ยรม 1:4; 2:4; อสค 1:3; 6:1; ฮชย 1:1; มคา 1:1; ศคย 9:1) ในสำเนาหนึ่งของฉบับเซปตัวจินต์ ยุคแรก ที่ ศคย 9:1 มีการใช้คำกรีก ลอกอส ตามด้วยชื่อพระเจ้าที่เขียนด้วยอักษรฮีบรูโบราณ () ชิ้นส่วนของสำเนานี้ถูกพบในถ้ำแห่งหนึ่งที่ทะเลทรายยูเดียใกล้ทะเลเดดซี ในนาฮาล เฮเวอร์ ประเทศอิสราเอล สำเนานี้ทำขึ้นระหว่างปี 50 ก่อน ค.ศ. ถึงปี ค.ศ. 50 ถึงแม้สำเนาพระคัมภีร์ภาคภาษากรีกส่วนใหญ่จะไม่มีชื่อของพระเจ้าในข้อนี้ แต่ก็มีเหตุผลที่ดีที่ฉบับแปลโลกใหม่ ใช้ชื่อของพระยะโฮวาในข้อนี้—ดูภาคผนวก ก5
เคร่งศาสนา: หรือ “นมัสการพระเจ้า” คำกรีก เซะโบไม ที่ใช้ในข้อนี้อาจแปลได้ว่า “เคารพ, กราบไหว้” พระคัมภีร์ฉบับเพชิตตา ภาษาซีรีแอกแปลคำนี้ว่า “เกรงกลัวพระเจ้า” ฉบับแปลบางฉบับที่แปลพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกเป็นภาษาฮีบรูมีชื่อของพระเจ้าในข้อนี้ จึงแปลได้ว่า “เกรงกลัวพระยะโฮวา”
สะบัดฝุ่นออกจากเท้าเพื่อให้รู้ว่าได้เตือนพวกเขาแล้ว: เปาโลกับบาร์นาบัสทำตามคำแนะนำของพระเยซูที่บันทึกไว้ใน มธ 10:14; มก 6:11; ลก 9:5 เวลาคนยิวที่เคร่งเดินทางผ่านเขตแดนของคนต่างชาติ พวกเขามักจะสะบัดฝุ่นผงที่คิดว่าไม่สะอาดออกจากรองเท้าก่อนจะกลับเข้าเขตแดนของชาวยิว แต่เห็นได้ว่าพระเยซูไม่ได้คิดถึงความหมายนี้ตอนที่ให้คำแนะนำกับสาวก การสะบัดฝุ่นออกจากเท้าเป็นท่าทางที่แสดงว่าพวกสาวกจะไม่รับผิดชอบต่อผลที่ตามมาตอนที่พระเจ้ามาพิพากษา ตอนที่เปาโลอยู่ในเมืองโครินธ์ เขาก็ทำคล้าย ๆ กันโดยสะบัดเสื้อและพูดด้วยว่า “พวกคุณรับผิดชอบชีวิตของพวกคุณเองก็แล้วกัน ผมพ้นความรับผิดชอบแล้ว”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 18:6
เขาจึงสะบัดเสื้อ: การที่เปาโลทำแบบนี้แสดงว่าเขาจะไม่รับผิดชอบที่ชาวยิวปฏิเสธข่าวสารเกี่ยวกับพระคริสต์ที่ให้ชีวิต เปาโลทำหน้าที่ของตัวเองสำเร็จแล้ว และเขาไม่ต้องรับผิดชอบชีวิตของคนเหล่านี้ (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาคำว่าพวกคุณรับผิดชอบชีวิตของพวกคุณเองก็แล้วกันที่อยู่ในข้อนี้) มีการพูดถึงท่าทางแบบนี้ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูด้วย ตอนที่เนหะมีย์พูดกับชาวยิวที่กลับไปกรุงเยรูซาเล็ม เขาสะบัดเสื้อส่วนที่อยู่ตรงหน้าอกเพื่อเป็นการบอกว่าคนที่ไม่ทำตามสัญญาจะถูกพระเจ้าลงโทษ (นหม 5:13) เปาโลก็ทำท่าทางคล้าย ๆ กันในเมืองอันทิโอกในแคว้นปิสิเดีย เขา “สะบัดฝุ่นออกจากเท้า” ต่อหน้าคนที่ต่อต้านเขาในเมืองนั้น—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 13:51; ลก 9:5
วีดีโอและรูปภาพ
เมืองอันทิโอกเป็นเมืองหลวงของแคว้นซีเรียในจักรวรรดิโรมัน พอถึงในศตวรรษที่ 1 ว่ากันว่าเมืองนี้มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของจักรวรรดิโรมัน เป็นรองก็แค่โรมและอเล็กซานเดรีย เมืองอันทิโอกตั้งอยู่ทางชายฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโอรอนเตส (หมายเลข 1) ซึ่งในตอนแรกเมืองนี้ก็รวมเอาเกาะ ๆ หนึ่งไว้ด้วย (หมายเลข 2) ด้านล่างของเมืองนี้คือเมืองเซลูเคียซึ่งเป็นเมืองท่าที่อยู่ห่างออกไปหลายสิบกิโลเมตร เมืองอันทิโอกมีชื่อเสียงเรื่องสนามแข่งม้า (หมายเลข 3) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในสมัยนั้น นอกจากนั้น ยังมีถนนสายหนึ่งในเมืองอันทิโอกที่มีชื่อเสียง ถนนนั้นมีเสาเรียงราย (หมายเลข 4) ซึ่งเฮโรดมหาราชได้ปูพื้นถนนนั้นด้วยหินอ่อน ต่อมาซีซาร์ทิเบริอัสได้ทำหลังคาและตกแต่งถนนด้วยโมเสกกับรูปปั้น เมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมนี้มีชุมชนชาวยิวขนาดใหญ่ (หมายเลข 5).ซึ่งต่อมาก็มีหลายคนในชุมชนนั้นเข้ามาเป็นคริสเตียน เมืองอันทิโอกเป็นเมืองที่สาวกของพระเยซูได้ชื่อว่าคริสเตียนเป็นครั้งแรก (กจ 11:26) ต่อมาก็มีคนต่างชาติหลายคนเข้ามาเป็นคริสเตียนด้วย ประมาณปี ค.ศ. 49 มีประเด็นเกี่ยวกับการเข้าสุหนัตเกิดขึ้น เปาโลและบาร์นาบัสได้รับมอบหมายให้ไปถามคณะกรรมการปกครองที่กรุงเยรูซาเล็มเกี่ยวกับเรื่องนี้ (กจ 15:1, 2, 30) อัครสาวกเปาโลใช้เมืองอันทิโอกเป็นฐานตอนที่เขาเดินทางในฐานะมิชชันนารีทั้ง 3 ครั้ง (กจ 13:1-3; 15:35, 40, 41; 18:22) ในแผนที่นี้ยังมีภาพของกำแพงเมืองที่อาจตั้งอยู่มานานหลายศตวรรษ
นี่เป็นภาพเมืองอันทาเกียของประเทศตุรกีในปัจจุบัน เมืองนี้ตั้งอยู่ตรงที่ที่เคยเป็นเมืองอันทิโอกในสมัยโบราณ เมืองอันทิโอกเป็นเมืองหลวงของแคว้นซีเรียในจักรวรรดิโรมัน พอถึงในศตวรรษที่ 1 ว่ากันว่าเมืองนี้มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของจักรวรรดิโรมัน เป็นรองก็แค่โรมและอเล็กซานเดรีย บางคนคิดว่าเมืองนี้มีประชากรประมาณ 250,000 คนหรือมากกว่านั้น หลังจากสเทเฟนถูกฝูงชนในกรุงเยรูซาเล็มฆ่าและสาวกของพระเยซูเริ่มถูกข่มเหง สาวกบางคนก็ย้ายมาที่เมืองอันทิโอก พวกเขาประกาศข่าวดีกับคนที่พูดภาษากรีกและมีหลายคนสนใจ (กจ 11:19-21) ต่อมาอัครสาวกเปาโลใช้เมืองนี้เป็นฐานตอนที่เขาเดินทางในฐานะมิชชันนารี และ “ที่เมืองอันทิโอกนี่เองที่สาวกได้ชื่อว่าคริสเตียนเป็นครั้งแรก” (กจ 11:26) เมืองอันทิโอกในแคว้นซีเรียเป็นคนละเมืองกับ “อันทิโอกในแคว้นปิสิเดีย” (ซึ่งอยู่ตอนกลางของตุรกี) ที่พูดถึงใน กจ 13:14; 14:19, 21 และ 2ทธ 3:11
เหตุการณ์เรียงตามลำดับเวลา
1. บาร์นาบัสกับเซาโลถูกส่งไปในฐานะมิชชันนารี พวกเขาเริ่มเดินทางจากเมืองอันทิโอกในแคว้นซีเรีย—ดูภาคผนวก ข13 เพื่อจะเห็นเส้นทางที่พวกเขาใช้เดินทางไปประกาศในต่างประเทศแต่ละรอบ (กจ 13:1-3)
2. บาร์นาบัสกับเซาโลนั่งเรือจากเมืองเซลูเคียไปที่เมืองซาลามิสบนเกาะไซปรัส พวกเขาประกาศคำสอนของพระเจ้าตามที่ประชุมของชาวยิวในเมืองนั้น (กจ 13:4-6)
3. ในเมืองปาโฟสเป็นครั้งแรกที่บันทึกในหนังสือกิจการเรียกเซาโลว่าเปาโล (กจ 13:6, 9)
4. เสอร์จีอัสเปาลุสผู้สำเร็จราชการเกาะไซปรัสเข้ามาเป็นผู้เชื่อถือ (กจ 13:7, 12)
5. เปาโลและเพื่อนร่วมเดินทางของเขามาถึงเมืองเปอร์กาในแคว้นปัมฟีเลีย ยอห์นมาระโกกลับไปกรุงเยรูซาเล็ม (กจ 13:13)
6. เปาโลกับบาร์นาบัสประกาศในที่ประชุมของชาวยิวที่เมืองอันทิโอกในแคว้นปิสิเดีย (กจ 13:14-16)
7. หลายคนในเมืองอันทิโอกมาชุมนุมกันเพื่อฟังเปาโลกับบาร์นาบัส แต่พวกยิวต่อต้านอย่างหนัก (กจ 13:44, 45, 50)
8. เปาโลกับบาร์นาบัสบรรยายในที่ประชุมของชาวยิวในเมืองอิโคนียูม คนยิวและคนกรีกมากมายเข้ามาเป็นสาวกของพระเยซู (กจ 14:1)
9. คนยิวบางคนในเมืองอิโคนียูมต่อต้านเปาโลกับบาร์นาบัส คนในเมืองนี้แตกแยกเป็น 2 พวก คนยิวพยายามเอาหินขว้างเปาโลกับบาร์นาบัส (กจ 14:2-5)
10. เปาโลกับบาร์นาบัสไปที่เมืองลิสตราในแคว้นลิคาโอเนีย ผู้คนเข้าใจผิดว่าพวกเขาเป็นเทพเจ้า (กจ 14:6-11)
11. คนยิวจากเมืองอันทิโอกและอิโคนียูมตามมาที่เมืองลิสตราและต่อต้านเปาโลอย่างหนัก แต่เปาโลรอดตายจากการถูกหินขว้าง (กจ 14:19, 20ก)
12. เปาโลกับบาร์นาบัสไปประกาศข่าวดีที่เมืองเดอร์บี มีหลายคนเข้ามาเป็นสาวก (กจ 14:20ข, 21ก)
13. เปาโลกับบาร์นาบัสกลับไปที่ประชาคมที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ในเมืองลิสตรา เมืองอิโคนียูม และเมืองอันทิโอก พวกเขาไปที่นั่นเพื่อให้กำลังใจพี่น้อง และแต่งตั้งผู้ดูแลไว้ในแต่ละประชาคม (กจ 14:21ข-23)
14. เปาโลกับบาร์นาบัสเดินทางกลับไปที่เมืองเปอร์กาเพื่อประกาศคำสอนของพระเจ้า จากนั้นก็ไปที่เมืองอัททาลิยา (กจ 14:24, 25)
15. จากเมืองอัททาลิยา พวกเขานั่งเรือกลับไปที่เมืองอันทิโอกในแคว้นซีเรีย (กจ 14:26, 27)
เหรียญที่เห็นในภาพนี้พบที่เกาะไซปรัส เหรียญนี้ทำขึ้นสมัยที่จักรพรรดิโรมันคลาวดิอัสปกครองซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เปาโลและบาร์นาบัสไปประกาศที่เกาะไซปรัสประมาณปี ค.ศ. 47 ด้านหนึ่งของเหรียญมีภาพของจักรพรรดิโรมันคลาวดิอัสและตำแหน่งของเขา ส่วนอีกด้านหนึ่งมีคำกรีกที่แปลว่า “ผู้สำเร็จราชการ” ซึ่งเป็นคำที่ใช้เพื่อหมายถึงผู้ปกครองเกาะนี้ ข้อความที่อยู่บนเหรียญนี้ยืนยันความถูกต้องของบันทึกที่ลูกาเขียนซึ่งบอกว่าเสอร์จีอัสเปาลุสเป็น “ผู้สำเร็จราชการ” เกาะไซปรัส—กจ 13:4, 7