กิจการของอัครสาวก 10:1-48
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
กอง: เป็นวิธีแบ่งกลุ่มทหารในกองทัพโรมัน ในศตวรรษแรกปกติแล้วทหารหนึ่งกองมีประมาณ 6,000 นาย คำว่า “12 กอง” ที่ใช้ในข้อนี้น่าจะหมายถึงกองทัพใหญ่ที่มีทหารมากมายนับไม่ถ้วน ดังนั้น พระเยซูกำลังบอกว่าถ้าท่านขอ พระเจ้าผู้เป็นพ่อจะส่งทูตสวรรค์มากมายมาปกป้องท่าน
นายร้อย: นายทหารในกองทัพโรมันที่มีทหารอยู่ใต้บังคับบัญชาประมาณ 100 นาย
กองทหารที่เรียกกันว่า หน่วยอิตาลี: กองทหารนี้น่าจะเป็นหน่วยย่อย และที่เรียกแบบนี้ก็เพื่อจะแยกหน่วยนี้ออกจากกองทหารปกติของโรมัน หน่วยนี้ถ้ามีกำลังพลเต็มที่ก็จะมีประมาณ 600 คน ซึ่งเท่ากับ 1 ใน 10 ของกองทหารปกติ (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 26:53) มีหลักฐานยืนยันว่ามีกองทหารอาสาพลเรือนอิตาลีหน่วยที่ 2 (ชื่อละติน Cohors II Italica voluntariorum civium Romanorum) อยู่ในซีเรียช่วงปี ค.ศ. 69 และบางคนก็คิดว่ากองทหารอาสานี้คือหน่วยอิตาลีที่พูดถึงในข้อนี้
ราว ๆ 9 โมงเช้า: แปลตรงตัวว่า “ชั่วโมงที่ 3” ในสมัยศตวรรษแรก ชาวยิวนับช่วงกลางวันยาว 12 ชั่วโมงเริ่มตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นตอนประมาณ 6 โมงเช้า (ยน 11:9) ดังนั้น ชั่วโมงที่ 3 จึงหมายถึงประมาณ 9 โมงเช้า ชั่วโมงที่ 6 หมายถึงประมาณเที่ยง และชั่วโมงที่ 9 หมายถึงประมาณบ่าย 3 โมง เนื่องจากผู้คนสมัยนั้นไม่มีเครื่องบอกเวลาที่แน่นอน บันทึกในพระคัมภีร์จึงมักบอกเวลาแบบประมาณ—ยน 1:39; 4:6; 19:14; กจ 10:3, 9
ประมาณบ่าย 3 โมง: แปลตรงตัวว่า “ชั่วโมงที่ 9”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 20:3
ซีโมนที่เป็นช่างฟอกหนัง: ช่างฟอกหนังจะฟอกหนังสัตว์โดยใช้น้ำปูนเพื่อกำจัดขน เศษเนื้อและไขมันที่ติดอยู่ แล้วเขาจะใช้แอลกอฮอล์เข้มข้นทำความสะอาดหนังสัตว์เพื่อจะสามารถนำมาทำเป็นเครื่องใช้ต่าง ๆ ได้ ขั้นตอนการฟอกหนังเหม็นมากและต้องใช้น้ำจำนวนมาก นี่อาจเป็นเหตุผลที่ซีโมนมีบ้านอยู่ริมทะเล ซึ่งน่าจะอยู่ในพื้นที่รอบนอกของเมืองยัฟฟา ตามกฎหมายของโมเสสคนที่ทำงานเกี่ยวกับซากสัตว์จะไม่สะอาดในสายตาของพระเจ้า (ลนต 5:2; 11:39) ดังนั้น คนยิวหลายคนดูถูกช่างฟอกหนังและไม่อยากพักที่บ้านของพวกเขา ที่จริง ในเวลาต่อมาคัมภีร์ทัลมุดกำหนดให้อาชีพช่างฟอกหนังเป็นอาชีพที่ต่ำกว่าคนเก็บมูลสัตว์ แต่เปโตรไม่มีอคติแบบนั้นและเขาก็พักที่บ้านของซีโมน การที่เขาเต็มใจทำแบบนั้นเป็นการเตรียมเขาให้พร้อมสำหรับงานมอบหมายที่กำลังจะได้รับ ซึ่งก็คือการไปหาคนต่างชาติที่บ้าน นักวิชาการบางคนคิดว่าคำภาษากรีกสำหรับ “ช่างฟอกหนัง” (บูร์ซืส) น่าจะเป็นฉายาของซีโมน
ราว ๆ 9 โมงเช้า: แปลตรงตัวว่า “ชั่วโมงที่ 3” ในสมัยศตวรรษแรก ชาวยิวนับช่วงกลางวันยาว 12 ชั่วโมงเริ่มตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นตอนประมาณ 6 โมงเช้า (ยน 11:9) ดังนั้น ชั่วโมงที่ 3 จึงหมายถึงประมาณ 9 โมงเช้า ชั่วโมงที่ 6 หมายถึงประมาณเที่ยง และชั่วโมงที่ 9 หมายถึงประมาณบ่าย 3 โมง เนื่องจากผู้คนสมัยนั้นไม่มีเครื่องบอกเวลาที่แน่นอน บันทึกในพระคัมภีร์จึงมักบอกเวลาแบบประมาณ—ยน 1:39; 4:6; 19:14; กจ 10:3, 9
ดาดฟ้า: หลังคาบ้านสมัยนั้นจะเป็นเหมือนดาดฟ้าที่แบนราบและใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น เก็บของ (ยชว 2:6) พักผ่อน (2ซม 11:2) นอนหลับ (1ซม 9:26) และฉลองเทศกาลเพื่อนมัสการพระเจ้า (นหม 8:16-18) จึงต้องมีกฎหมายสั่งให้ทำแนวกั้นรอบดาดฟ้า (ฉธบ 22:8) ปกติแล้ว จะมีบันไดที่สร้างไว้นอกตัวบ้าน หรือบันไดพาดสำหรับขึ้นลงดาดฟ้าโดยไม่ต้องเข้าไปในบ้าน คำพูดนี้ของพระเยซูเตือนว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องหนี
ประมาณเที่ยงวัน: แปลตรงตัวว่า “ชั่วโมงที่ 6”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 20:3
ดาดฟ้า: หลังคาบ้านสมัยนั้นจะเป็นเหมือนดาดฟ้าที่แบนราบและใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น เก็บของ (ยชว 2:6) พักผ่อน (2ซม 11:2) นอนหลับ (1ซม 9:26) ฉลองเทศกาลเพื่อนมัสการพระเจ้า (นหม 8:16-18) และเป็นที่ส่วนตัวที่ใช้สำหรับอธิษฐาน ตอนที่เปโตรอธิษฐานที่ดาดฟ้าเขาไม่ได้เป็นเหมือนพวกคนเสแสร้งที่ชอบให้คนอื่นเห็นตอนอธิษฐาน (มธ 6:5) ขอบกั้นที่ดาดฟ้าอาจช่วยบังคนอื่นไม่ให้เห็นเปโตร (ฉธบ 22:8) ดาดฟ้ายังเป็นที่สำหรับพักผ่อนและห่างจากถนนที่เสียงดังวุ่นวายในตอนเย็น—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:17
ผมก็เคลิ้มไป: สำหรับคำกรีก เอ็คสะทาซิส ในข้อนี้ที่แปลว่า “เคลิ้ม” ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 10:10 ฉบับแปลบางฉบับที่แปลพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกเป็นภาษาฮีบรูอ่านว่า “มือของพระยะโฮวาอยู่บนผม” ฉบับแปลอีกฉบับหนึ่งอ่านว่า “พลังของพระยะโฮวาปกคลุมตัวผม”
เคลิ้มไป: หรือ “รู้สึกทึ่งมาก” คำกรีก เอ็คสะทาซิส (มาจาก เอ็ค หมายถึง “ออกจาก” และ สะทาซิส หมายถึง “การยืนอยู่”) หมายถึงการหลุดออกจากสภาพปกติของความคิดจิตใจเพราะรู้สึกทึ่ง ประหลาดใจ หรือได้รับนิมิตจากพระเจ้า คำกรีกเดียวกันนี้ใน มก 5:42 แปลว่า “ตื่นเต้นดีใจ” ใน ลก 5:26 แปลว่า “ประหลาดใจมาก” และใน มก 16:8 แปลว่า “ทั้งกลัวทั้งสับสน” ในหนังสือกิจการคำกรีกนี้เกี่ยวข้องกับการกระทำของพระเจ้า ดูเหมือนว่าบางครั้งพลังบริสุทธิ์จะทำให้คนเห็นนิมิตหรือภาพที่เกี่ยวข้องกับความประสงค์ของพระเจ้าตอนที่เขากำลังอยู่ในภวังค์หรืออยู่ในสภาพที่เหมือนหลับ คนที่กำลังเคลิ้มแบบนี้จะสนใจแต่นิมิตที่เขาเห็นโดยไม่รู้เลยว่ามีอะไรเกิดขึ้นรอบตัวเขา—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 22:17
ได้รับคำสั่งจากพระเจ้า: มาจากคำกริยากรีก ฆเรมาทีโศ มีคำนี้อยู่ 9 ครั้งในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก (มธ 2:12, 22; ลก 2:26; กจ 10:22; 11:26; รม 7:3; ฮบ 8:5; 11:7; 12:25) ส่วนใหญ่แล้วมักใช้คำนี้เมื่อพูดถึงสิ่งที่มาจากพระเจ้า ตัวอย่างเช่น ในข้อนี้มีการใช้คำนี้กับสำนวน “ผ่านทางทูตสวรรค์บริสุทธิ์” และที่ มธ 2:12, 22 ก็ใช้คำนี้เพื่อพูดถึงความฝันที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้า คำนามที่เกี่ยวข้องกันคือ ฆเรมาทิสม็อส มีอยู่ที่ รม 11:4 ซึ่งพจนานุกรมและพระคัมภีร์ฉบับแปลส่วนใหญ่แปลว่า “พระเจ้าตอบ, คำตอบของพระเจ้า” พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกที่แปลเป็นภาษาฮีบรูฉบับหนึ่งก็แปลข้อความใน กจ 10:22 ว่า “ได้รับคำสั่งจากพระยะโฮวา”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 11:26
ได้ชื่อว่า . . . ตามการชี้นำจากพระเจ้า: คัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลส่วนใหญ่ใช้แค่คำว่า “ได้ชื่อว่า” แต่คำกรีกที่มักจะแปลว่า “ได้ชื่อว่า, เรียก” เป็นคนละคำกับที่ใช้ในข้อนี้ (มธ 1:16; 2:23; มก 11:17; ลก 1:32; กจ 1:12, 19) คำนี้มาจากคำกริยากรีก ฆเรมาทีโศ ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกมีคำนี้อยู่ 9 ครั้งและส่วนใหญ่แล้วมักใช้เมื่อพูดถึงสิ่งที่มาจากพระเจ้า (มธ 2:12, 22; ลก 2:26; กจ 10:22; 11:26; รม 7:3; ฮบ 8:5; 11:7; 12:25) ตัวอย่างเช่น ที่ กจ 10:22 มีการใช้คำนี้กับสำนวน “ผ่านทางทูตสวรรค์บริสุทธิ์” และที่ มธ 2:12, 22 ก็ใช้คำนี้เพื่อพูดถึงความฝันที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้า คำนามที่เกี่ยวข้องกันคือ ฆเรมาทิสม็อส มีอยู่ที่ รม 11:4 ซึ่งพจนานุกรมและฉบับแปลส่วนใหญ่แปลว่า “พระเจ้าตอบ, คำตอบของพระเจ้า” เป็นไปได้ว่าพระยะโฮวาชี้นำให้เซาโลกับบาร์นาบัสใช้ชื่อคริสเตียน บางคนเชื่อว่าพวกคนต่างชาติในอันทิโอกอาจใช้ชื่อคริสเตียนเพื่อเรียกสาวกของพระเยซูแบบเยาะเย้ยดูถูก แต่การใช้คำกรีก ฆเรมาทีโศ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพระเจ้าเป็นผู้ตั้งชื่อคริสเตียน และไม่น่าจะเป็นไปได้ที่พวกยิวจะเรียกคนที่ติดตามพระเยซูว่า “คริสเตียน” (มาจากคำกรีก) หรือ “พวกเมสสิยาห์” (มาจากคำฮีบรู) เพราะพวกเขาไม่ยอมรับว่าพระเยซูเป็นเมสสิยาห์หรือพระคริสต์ พวกเขาจึงไม่น่าจะเรียกสาวกของพระเยซูว่าคริสเตียน เพราะถ้าทำอย่างนั้นก็เหมือนเป็นการยอมรับพระเยซูว่าเป็นผู้ถูกเจิมหรือพระคริสต์
แสดงความเคารพ: หรือ “คำนับ, ทำความเคารพ” ตอนที่พระเยซูอยู่บนโลก มีคนเข้ามาคำนับท่านและท่านก็ไม่ได้ตำหนิพวกเขา (ลก 5:12; ยน 9:38) นี่เป็นเพราะพระเยซูเป็นลูกหลานของดาวิดที่มีสิทธิ์เป็นกษัตริย์ และสมควรได้รับการยกย่อง (มธ 21:9; ยน 12:13-15) นอกจากนั้น พระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูพูดถึงบางคนที่คำนับหรือทำความเคารพเมื่อพวกเขาเจอผู้พยากรณ์ กษัตริย์ หรือคนอื่น ๆ ที่เป็นตัวแทนของพระเจ้า ซึ่งคนเหล่านั้นก็ยอมรับการให้เกียรติแบบนั้น (1ซม 25:23, 24; 2ซม 14:4-7; 1พก 1:16; 2พก 4:36, 37) แต่ตอนที่โคร์เนลิอัสหมอบลงทำความเคารพเปโตร เขาปฎิเสธและไม่ยอมให้ทำแบบนั้น เปโตรบอกว่า “ลุกขึ้นเถอะ ผมเป็นคนธรรมดาเหมือนคุณนั่นแหละ” (กจ 10:26) ดูเหมือนว่าคำสอนของพระคริสต์ได้เปลี่ยนแปลงวิธีที่ผู้รับใช้ของพระเจ้าที่เป็นมนุษย์ปฏิบัติต่อกัน พระเยซูสอนสาวกว่า “คุณมีอาจารย์เพียงคนเดียว และพวกคุณทุกคนเป็นพี่น้องกัน . . . คุณมีผู้นำเพียงผู้เดียวนั่นคือพระคริสต์”—มธ 23:8-12
ผิดกฎที่คนยิว: ผู้นำศาสนาชาวยิวในสมัยเปโตรสอนว่าถ้าใครเข้าไปในบ้านของคนต่างชาติ เขาจะไม่สะอาดในสายตาพระเจ้า (ยน 18:28) แต่กฎหมายที่พระเจ้าให้ผ่านทางโมเสสไม่ได้มีข้อห้ามที่เฉพาะเจาะจงแบบนั้น นอกจากนั้น ตั้งแต่ที่พระเยซูสละชีวิตท่านเป็นค่าไถ่และตั้งสัญญาใหม่ขึ้น กำแพงระหว่างคนยิวกับคนต่างชาติก็ถูกกำจัดออกไป พระเยซูจึงทำให้ “สองกลุ่มมาเป็นพวกเดียวกัน” (อฟ 2:11-16) แม้แต่หลังวันเพ็นเทคอสต์ ปี ค.ศ. 33 สาวกรุ่นแรกก็ยังไม่เข้าใจอย่างเต็มที่ว่าสิ่งที่พระเยซูทำนั้นหมายถึงอะไร ที่จริง คริสเตียนชาวยิวต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะเลิกมีความคิดแบบเดียวกับที่พวกผู้นำศาสนาสมัยก่อนสอนไว้ เพราะความคิดแบบนี้ฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมของพวกเขา
ประมาณบ่าย 3 โมง: แปลตรงตัวว่า “ชั่วโมงที่ 9”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 20:3
ราว ๆ 9 โมงเช้า: แปลตรงตัวว่า “ชั่วโมงที่ 3” ในสมัยศตวรรษแรก ชาวยิวนับช่วงกลางวันยาว 12 ชั่วโมงเริ่มตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นตอนประมาณ 6 โมงเช้า (ยน 11:9) ดังนั้น ชั่วโมงที่ 3 จึงหมายถึงประมาณ 9 โมงเช้า ชั่วโมงที่ 6 หมายถึงประมาณเที่ยง และชั่วโมงที่ 9 หมายถึงประมาณบ่าย 3 โมง เนื่องจากผู้คนสมัยนั้นไม่มีเครื่องบอกเวลาที่แน่นอน บันทึกในพระคัมภีร์จึงมักบอกเวลาแบบประมาณ—ยน 1:39; 4:6; 19:14; กจ 10:3, 9
พระยะโฮวา: สำเนาพระคัมภีร์ภาษากรีกส่วนใหญ่ใช้คำว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า” (คำกรีก ทอคูริออ) แต่ก็มีเหตุผลที่ดีหลายอย่างที่จะเชื่อว่าในต้นฉบับเคยมีชื่อของพระเจ้าอยู่ในข้อนี้และต่อมาถูกแทนที่ด้วยตำแหน่งองค์พระผู้เป็นเจ้า ดังนั้น พระคัมภีร์ฉบับนี้จึงใช้ชื่อพระยะโฮวาในข้อนี้
ไม่ลำเอียง: คำกรีก “ไม่ลำเอียง” อาจแปลตรงตัวได้ว่า “ไม่เป็นคนที่รับ (ยอมรับ) หน้า” พระเจ้าไม่ลำเอียง พระองค์ไม่ตัดสินผู้คนจากภายนอก พระองค์ไม่ได้ชอบใครแค่เพราะเชื้อชาติ ฐานะทางสังคม หรือปัจจัยอื่น ๆ ที่อยู่ภายนอก การเลียนแบบพระเจ้าผู้ไม่ลำเอียงจึงหมายความว่าเราต้องไม่ตัดสินผู้คนจากภายนอก แต่สนใจที่บุคลิกและคุณลักษณะต่าง ๆ ของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณลักษณะที่เหมือนกับพระเจ้าผู้ไม่ลำเอียง
ชาวอิสราเอล: หรือ “ลูกหลานอิสราเอล”—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “อิสราเอล”
เสา: หรือ “ต้นไม้” คำกรีก คะซูลอน (แปลตรงตัวว่า “ไม้”) ที่ใช้ในข้อนี้มีความหมายเดียวกับคำกรีก สเทารอส (ที่แปลว่า “เสาทรมาน”) และคำนี้ยังใช้เพื่อหมายถึงเครื่องมือประหารที่ใช้ตรึงพระเยซู ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก ลูกา เปาโล และเปโตรใช้คำ คะซูลอน ในความหมายแบบนี้รวมกัน 5 ครั้ง (กจ 5:30; 10:39; 13:29; กท 3:13; 1ปต 2:24) ในฉบับเซปตัวจินต์ มีการใช้คำ คะซูลอน ที่ ฉธบ 21:22, 23 เพื่อแปลคำฮีบรู เอ็ทส์ (มีความหมายว่า “ต้นไม้, ไม้, ไม้ท่อนหนึ่ง”) ในประโยคที่บอกว่า “และคุณเอาศพเขาแขวนไว้บนเสา” ใน กท 3:13 ตอนที่เปาโลยกข้อความจากเฉลยธรรมบัญญัติขึ้นมา เขาก็ใช้คำว่า คะซูลอน ในประโยคที่บอกว่า “ทุกคนที่ถูกแขวนไว้บนเสาก็ถูกสาปแช่ง” นอกจากนั้น ยังมีการใช้คำกรีกเดียวกันนี้ในฉบับเซปตัวจินต์ ที่ อสร 6:11 (1เอสดรัส 6:31, LXX) เมื่อแปลคำอาระเมอิก เอ ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายเดียวกับคำฮีบรู เอ็ทส์ ในข้อนั้นบอกว่าถ้ามีคนขัดคำสั่งของกษัตริย์เปอร์เซีย “ให้ถอนไม้ท่อนหนึ่ง จากบ้านของคนนั้นออกมาและเอาตัวเขาตรึงไว้บนไม้นั้น” การที่ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลใช้คำ คะซูลอน ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายเดียวกับคำ สเทารอส ให้หลักฐานที่ชัดเจนว่าพระเยซูถูกประหารบนเสาที่ตั้งตรงโดยไม่มีไม้อีกท่อนพาดขวาง
ลูกกุญแจของรัฐบาลสวรรค์: ในคัมภีร์ไบเบิล คนที่ได้รับลูกกุญแจไม่ว่าจะเป็นลูกกุญแจจริง ๆ หรือในความหมายเป็นนัยคือคนที่ได้รับมอบอำนาจในระดับหนึ่ง (1พศ 9:26, 27; อสย 22:20-22) คำว่า “ลูกกุญแจ” จึงเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจและหน้าที่รับผิดชอบ เปโตรใช้ “ลูกกุญแจ” ที่เขาได้รับเพื่อเปิดโอกาสให้ชาวยิว (กจ 2:22-41) ชาวสะมาเรีย (กจ 8:14-17) และคนต่างชาติ (กจ 10:34-38) ได้พลังบริสุทธิ์จากพระเจ้าและมีความหวังที่จะได้เข้าในรัฐบาลสวรรค์
ทุกคนที่ฟังคำสอนนั้นก็ได้รับพลังบริสุทธิ์: นี่เป็นเหตุการณ์เดียวในคัมภีร์ไบเบิลที่บอกว่ามีการเทพลังบริสุทธิ์ลงบนสาวกก่อน ที่พวกเขาจะรับบัพติศมา นอกจากนั้น ตอนที่โคร์เนลิอัสและครอบครัวซึ่งทั้งหมดไม่ใช่ชาวยิวเข้ามาเป็นคริสเตียน เปโตรก็ทำหน้าที่สำคัญ เขาใช้ “ลูกกุญแจของรัฐบาลสวรรค์” ดอกที่ 3 เปิดทางให้มีการประกาศกับคนต่างชาติที่มีมากมายเพื่อพวกเขาจะมีความหวังได้เข้าในรัฐบาลของพระเจ้า คนต่างชาติเหล่านี้หมายถึงคนที่ไม่ใช่ชาวยิว คนที่เปลี่ยนมานับถือศาสนายิว หรือชาวสะมาเรีย เปโตรได้ใช้ลูกกุญแจดอกแรกเพื่อเปิดทางให้ชาวยิวและคนที่เปลี่ยนมานับถือศาสนายิวมีความหวังแบบนี้แล้ว และก็ใช้ลูกกุญแจดอกที่ 2 กับชาวสะมาเรียด้วย—กจ 2:22-41; 8:14-17; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 16:19
คนที่มีความเชื่อ . . . ซึ่งเป็นคนที่เข้าสุหนัต: หรือ “ผู้เชื่อถือที่เข้าสุหนัต” ซึ่งก็คือคริสเตียนชาวยิว—กจ 10:23
ภาษาต่าง ๆ: มาจากคำกรีก กะโลส์ซา ในคัมภีร์ไบเบิลคำนี้อาจหมายถึงลิ้นที่เป็นอวัยวะในการพูด (มก 7:33; ลก 1:64; 16:24) แต่ยังมีการใช้คำนี้ในความหมายเป็นนัยด้วยเพื่อหมายถึงภาษาหรือคนที่พูดภาษานั้น (วว 5:9; 7:9; 13:7) ใน กจ 2:3 มีการใช้คำกรีกนี้ในประโยคที่บอกว่า “พวกเขาก็เห็นบางสิ่งเหมือนเปลวไฟรูปร่างคล้ายลิ้น” ดังนั้น หลักฐานการให้พลังบริสุทธิ์จึงเห็นได้จากเปลวไฟคล้ายลิ้นที่ลอยอยู่เหนือหัวสาวกแต่ละคนและการที่พวกเขาสามารถพูดภาษาต่าง ๆ ได้
ภาษาต่าง ๆ: แปลตรงตัวว่า “ลิ้น” การอัศจรรย์นี้แสดงให้เห็นว่าตอนนี้พระเจ้าเปิดทางให้คนต่างชาติมีความหวังจะไปสวรรค์ พระยะโฮวาใช้พลังบริสุทธิ์เพื่อช่วยให้ผู้คนเห็นว่าการจัดเตรียมนี้มาจากพระองค์เหมือนพระองค์ทำในวันเพ็นเทคอสต์ สิ่งที่ผู้คนเห็นและได้ยินในเหตุการณ์นี้เป็นหลักฐานที่หนักแน่น—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 2:4