ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ทิมกาด—เมืองที่ถูกฝังเผยความลับ

ทิมกาด—เมืองที่ถูกฝังเผยความลับ

นักสำรวจผู้กล้าหาญแทบไม่เชื่อสายตาตัวเอง เขาเห็นซุ้มประตูฉลองชัยของโรมันตั้งอยู่! มีบางส่วนที่ถูกฝังอยู่ใต้ทะเลทรายในแอลจีเรีย ในปี ค.ศ. 1765 เจมส์ บรูซ นักสำรวจชาวสกอตไม่รู้เลยว่าจริง ๆ แล้วเขายืนอยู่บนซากของเมืองโบราณทาเมอกาดี ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า ทิมกาด เมืองนี้เคยเป็นอาณานิคมที่ใหญ่ที่สุดของโรมันเท่าที่เคยสร้างมาในแอฟริกาเหนือ

หลังจากนั้นประมาณ 100 กว่าปี คือในปี 1881 นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสเริ่มขุดค้นซากเมืองทิมกาดที่ยังอยู่ในสภาพดี พวกเขาลงความเห็นว่าผู้คนที่เคยอาศัยอยู่ใช้ชีวิตสะดวกสบายและหรูหรา ทั้ง ๆ ที่แถบนั้นแห้งแล้งและไม่น่าจะมีใครอาศัยอยู่ได้ อะไรทำให้ชาวโรมันอยากสร้างอาณานิคมที่รุ่งเรืองในพื้นที่แถบนั้น? และเราเรียนอะไรได้จากเมืองโบราณและผู้คนที่เคยอยู่ในเมืองนั้น?

จุดประสงค์ทางการเมืองที่แฝงอยู่

ในศตวรรษแรกก่อนคริสต์ศักราช อาณาจักรโรมันขยายการปกครองไปจนถึงแอฟริกาเหนือ แต่ถูกชนเผ่าเร่ร่อนบางกลุ่มต่อต้านอย่างหนัก ชาวโรมันทำอย่างไรเพื่อจะอยู่กับคนในท้องถิ่นได้อย่างสันติ? ทีแรก กองทหารของเอากุสตุสที่ 3 สร้างค่ายหลายแห่งและตั้งแนวป้องกันในแถบภูเขาที่ปัจจุบันอยู่ทางเหนือของแอลจีเรีย ต่อมา พวกเขาสร้างเมืองทิมกาดขึ้นแต่เป็นคนละจุดประสงค์

ดูเหมือนว่าชาวโรมันสร้างเมืองทิมกาดไว้เป็นที่พักสำหรับทหารที่ปลดประจำการ แต่ที่จริงแล้วพวกเขาสร้างไว้เพื่อลดแรงต่อต้านของชนเผ่าท้องถิ่น และแผนของพวกเขาก็ได้ผล ชีวิตที่แสนสบายในเมืองทิมกาดก็เริ่มดึงดูดผู้คนท้องถิ่นให้เข้ามาค้าขายในเมืองนั้น ถึงแม้เมืองทิมกาดสร้างไว้ให้คนสัญชาติโรมันอาศัยอยู่ แต่ชนเผ่าท้องถิ่นก็ชอบพาลูกหลานเข้ามาอยู่เมืองนี้เพื่อจะได้สัญชาติโรมัน ทั้ง ๆ ที่ต้องอยู่นานถึง 25 ปีขึ้นไปจึงจะได้สิทธิ์นั้น

ชาวแอฟริกาบางคนไม่ใช่แค่ได้สัญชาติโรมันเท่านั้น พวกเขาถึงกับได้รับตำแหน่งถาวรในเมืองทิมกาดหรือในเมืองอาณานิคมอื่น ๆ ด้วย แผนการที่น่าดึงดูดใจของชาวโรมันประสบผลสำเร็จภายในเวลาแค่ 50 ปี ทิมกาดกลายเป็นเมืองใหญ่ที่สุดเมืองหนึ่งในแอฟริกาเหนือ

แผนน่าดึงดูดใจของโรมัน

ตลาดที่มีเสาระเบียงสวยงามห่างกันเป็นช่วง ๆ

ชาวโรมันชนะใจชนเผ่าพื้นเมืองอย่างรวดเร็วได้อย่างไร? อย่างหนึ่งก็คือ พวกเขาให้พลเมืองมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน ตาม หลักการของรัฐบุรุษชาวโรมันชื่อซิเซโร มีการแบ่งที่ดินให้ทหารปลดประจำการของโรมันและพลเมืองท้องถิ่นชาวแอฟริกาเท่า ๆ กัน มีการวางผังเมืองอย่างดีโดยมีลักษณะเป็นตารางสี่เหลี่ยมจัตุรัส แต่ละด้านยาว 20 เมตร แต่ละส่วนมีถนนแคบ ๆ กั้นอยู่ การจัดการให้ทุกคนเสมอภาคกันและเป็นระเบียบแบบนี้ต้องดึงดูดใจผู้คนให้มาอาศัยอยู่ในเมืองนี้แน่ ๆ

เช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ ของโรมัน ประชาชนสามารถพบปะกันในที่สาธารณะแห่งหนึ่งในตลาดที่มีผู้คนจอแจเพื่อทำธุรกิจและติดตามข่าวสารล่าสุดหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ชนพื้นเมืองที่อยู่แถบภูเขาที่แห้งแล้งใกล้ ๆ คงนึกไม่ถึงว่า ในวันที่อากาศร้อนจัดพวกเขาจะได้เดินอยู่ใต้ร่มเงาของเสาระเบียงใหญ่ ได้พักผ่อนหย่อนใจในโรงอาบน้ำสาธารณะและได้ฟังเสียงน้ำไหล หรือได้นั่งคุยกับเพื่อนฝูงรอบ ๆ น้ำพุที่สดชื่น ทั้งหมดนี้คงเป็นเหมือนความฝันสำหรับพวกเขา

แผ่นศิลาประดับหลุมศพที่มีรูปเทพเจ้าสามองค์

โรงละครกลางแจ้ง เป็นอีกที่หนึ่งที่ดึงดูดใจผู้คนจากทิมกาดและเมืองใกล้เคียง ที่นั่นสามารถจุคนได้มากกว่า 3,500 คน ผู้ชมต่างก็ส่งเสียงอึกทึกขณะที่พวกเขาได้ชมความบันเทิงในแบบของโรมันที่นิยมเรื่องลามก ผิดศีลธรรม และความรุนแรง

ศาสนาของโรมันก็มีส่วนดึงดูดผู้คนด้วย พื้นและผนังของโรงอาบน้ำสาธารณะจะตกแต่งด้วยภาพโมเสกที่มีสีสันแสดงตำนานของเทพเจ้าต่าง ๆ เมื่อผู้คนไปอาบน้ำและได้เห็นภาพเหล่านั้นทุกวันพวกเขาก็ซึมซับเอาศาสนาและเทพเจ้าต่าง ๆ ของโรมัน ความพยายามในการดึงดูดชาวแอฟริกาให้รับเอาวัฒนธรรมของโรมันนั้นประสบความสำเร็จ เห็นได้จากการที่พวกเขาประดับประดาหลุมศพด้วยแผ่นศิลาที่มีรูปเทพเจ้าสามองค์ทั้งของชนพื้นเมืองและของชาวโรมัน

เมืองงดงามที่ถูกลืม

หลังจากที่จักรพรรดิทราจันก่อตั้งเมืองในปี ค.ศ. 100 ชาวโรมันได้รับผลผลิตที่มาจากทั่วแอฟริกาเหนือ เช่น ธัญพืช น้ำมันมะกอก และเหล้าองุ่น ไม่นานแถบนั้นก็กลายเป็นแหล่งเสบียงสำคัญของจักรวรรดิโรมัน เมืองทิมกาดก็เหมือนกับเมืองอาณานิคมอื่น ๆ ที่รุ่งเรืองตอนโรมันปกครอง ต่อมา เมื่อประชากรของทิมกาดเพิ่มขึ้น เมืองก็ขยายจากกำแพงออกไปอีกไกล

ผู้อยู่อาศัยในเมืองและเจ้าของที่ดินร่ำรวยจากการค้าขายกับโรม แต่ชาวไร่ชาวสวนท้องถิ่นกลับได้รับประโยชน์เพียงน้อยนิด ในศตวรรษที่ 3 (ปี ค.ศ. 201-300) ความไม่ยุติธรรมในสังคมและภาษีที่แพงเกินไปทำให้ชาวไร่ชาวสวนกลุ่มเล็ก ๆ ลุกขึ้นมาต่อต้าน ส่วนบางคนที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาคาทอลิกก็เข้าร่วมกับกลุ่มที่อ้างว่าเป็นคริสเตียนนิกายหนึ่งที่ชื่อนิกายโดนาติสต์ และพวกเขาได้ลุกขึ้นมาต่อต้านการทุจริตภายในคริสตจักรคาทอลิก—ดูกรอบ “ นิกายโดนาติสต์ไม่ใช่ ‘คริสตจักรบริสุทธิ์’

หลายร้อยปีต่อมา ความขัดแย้งทางศาสนา สงครามกลางเมือง และการรุกรานจากพวกบาร์บาเรียนที่ป่าเถื่อนทำให้อารยธรรมโรมันในแอฟริกาเหนือค่อย ๆ เสื่อมไป พอถึงศตวรรษที่ 6 (ปี ค.ศ. 501-600) เมืองทิมกาดถูกชาวอาหรับ ท้องถิ่นเผาจนสิ้นซาก และในที่สุดเมืองนี้ก็ค่อย ๆ เลือนหายไปจากความทรงจำนานกว่า 1,000 ปี

“นี่แหละชีวิต!”

ข้อความภาษาละตินที่จารึกไว้แถว ๆ ตลาดที่ว่า “การล่า การอาบน้ำ การละเล่น การหัวเราะ นี่แหละชีวิต!”

นักโบราณคดีที่ได้ขุดค้นซากเมืองทิมกาดรู้สึกขบขันเมื่อได้พบข้อความภาษาละตินที่จารึกไว้แถว ๆ ตลาด ที่ว่า “การล่า การอาบน้ำ การละเล่น การหัวเราะ นี่แหละชีวิต!” นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งพูดถึงข้อความนี้ว่า “ปรัชญานี้อาจเป็นคำพูดธรรมดา ๆ แต่บางคนก็ถือว่าเป็นเคล็ดลับของความสุข”

ที่จริง ชาวโรมันได้ใช้ชีวิตตามปรัชญาแบบนั้นมาระยะหนึ่งแล้ว คริสเตียนยุคแรกชื่อเปาโลก็เคยอ้างถึงคำพูดของพวกเขาที่ว่า “ให้เรากินและดื่มเถิด เพราะพรุ่งนี้เราก็จะต้องตาย” แม้ชาวโรมันจะเคร่งศาสนา แต่พวกเขาก็ใช้ชีวิตเพื่อความเพลิดเพลินไปวัน ๆ ไม่ค่อยคิดว่าอะไรเป็นเป้าหมายจริง ๆ ในชีวิต ดังนั้น เปาโลจึงเตือนเพื่อนคริสเตียนให้ระวังที่จะไม่คิดเหมือนคนเหล่านั้น โดยบอกว่า “อย่าให้ใครชักนำให้หลง การคบหาที่ไม่ดีย่อมทำให้นิสัยดีเสียไป”—1 โครินท์ 15:32, 33

แม้ผู้คนในเมืองทิมกาดเคยมีชีวิตอยู่เมื่อ 1,500 ปีมาแล้ว แต่มุมมองเรื่องชีวิตก็ไม่ได้เปลี่ยนไปมากเท่าไร หลายคนในทุกวันนี้ยังมีมุมมองเหมือนกับชาวโรมันที่ใช้ชีวิตอยู่ไปวัน ๆ และไม่สนใจว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่คัมภีร์ไบเบิลบอกความจริงสั้น ๆ ว่า “โลกนี้กำลังเปลี่ยนไปเหมือนละครเปลี่ยนฉาก” นั่นเตือนเรา ‘ไม่ให้ใช้ประโยชน์จากโลกนี้อย่างเต็มที่’—1 โครินท์ 7:31

ซากของเมืองทิมกาดยืนยันความจริงที่ว่า เคล็ดลับของชีวิตที่มีความสุขและมีความหมายไม่ได้ขึ้นอยู่กับการทำตามข้อความที่ถูกฝังในทรายมานานแล้วของแอฟริกาเหนือ แต่ขึ้นอยู่กับการทำตามข้อความที่เตือนใจจากคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า “โลกกำลังจะสูญไปและความปรารถนาของโลกก็เช่นกัน แต่ผู้ที่ทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าจะคงอยู่ตลอดไป”—1 โยฮัน 2:17