ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ก้าวเดินต่อไปหลังหย่าร้าง

ก้าวเดินต่อไปหลังหย่าร้าง

“ผมรู้สึกเหมือนตกลงมาจากหน้าผา. ชีวิตของคุณกำลังไปได้สวย แต่จู่ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป คุณไม่เหลืออะไรเลย.”—มาร์ก * หย่าร้างได้หนึ่งปี

“สามีฉันแอบไปมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงที่อายุคราวลูก. เมื่อเราหย่ากัน ฉันรู้สึกโล่งอกที่ไม่ต้องทนกับความเจ้าอารมณ์ของเขาอีกต่อไป แต่ฉันก็รู้สึกอับอายและไร้ค่า.”—เอมเมลลีน หย่าร้างได้ 17 ปี

บางคนหย่าร้างเพราะคิดว่าชีวิตของพวกเขาจะดีขึ้น ขณะที่บางคนแม้จะไม่อยากหย่า แต่ก็ไม่สามารถเหนี่ยวรั้งคู่สมรสเอาไว้ได้. อย่างไรก็ตาม แทบทุกรายพบว่าชีวิตหลังจากหย่าร้างยากยิ่งกว่าที่คิดไว้. ที่จริง ถ้าคุณเพิ่งหย่าเมื่อไม่นานมานี้ คุณอาจพบว่าการหย่าร้างเป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้เครียดมากที่สุดในชีวิต. ดังนั้น การพิจารณาคำแนะนำที่เป็นประโยชน์บางข้อจากคัมภีร์ไบเบิลอาจช่วยให้คุณรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นหลังการหย่าร้างได้.

ปัญหา 1: คิดในแง่ลบ.

ความเครียดที่เกิดจากปัญหาเรื่องเงิน การเลี้ยงดูลูก และความเหงาอาจถาโถมเข้ามา และคุณไม่อาจสลัดความรู้สึกเหล่านี้ออกไปได้ง่ายๆ. นักจิตวิทยาจูดิท วอลเลอร์สไตน์พบว่าบางคนยังรู้สึกว่าตนถูกทรยศและถูกทอดทิ้งแม้จะหย่าร้างมานานหลายปีแล้ว. พวกเขาคิดว่า “ชีวิตช่างไร้ความยุติธรรม น่าผิดหวัง และโดดเดี่ยวอ้างว้าง.”

 สิ่งที่คุณทำได้

  • ร้องไห้เสียให้พอ. คุณอาจอาลัยอาวรณ์อดีตคู่สมรสเพราะคุณยังรักเขาอยู่. แม้ว่าที่ผ่านมาความสัมพันธ์จะไม่ราบรื่น แต่คุณคงอดเศร้าใจไม่ได้เพราะตอนนี้ความสุขในชีวิตสมรสที่คุณเคยหวังไว้หมดสิ้นไปแล้ว. (สุภาษิต 5:18) อย่าอายที่จะให้เวลาตัวเองสำหรับ ‘การร้องไห้.’—ท่านผู้ประกาศ 3:1, 4

  • อย่าอยู่คนเดียวตามลำพัง. คุณอาจต้องการร้องไห้กับตัวเอง แต่การปลีกตัวอยู่คนเดียวเป็นเวลานานก็ไม่ฉลาด. (สุภาษิต 18:1) เมื่อคุยกับเพื่อน ให้คุยเรื่องที่เสริมสร้าง. อย่าบ่นว่าอดีตคู่สมรสให้เพื่อนฟังบ่อยแม้จะมีเหตุผล เพราะการทำเช่นนั้นอาจทำให้พวกเขาพากันหนีหน้าไปจากคุณ. ถ้าคุณมีเรื่องสำคัญที่ต้องรีบตัดสินใจหลังจากหย่าร้าง คุณควรขอความช่วยเหลือจากใครสักคนที่ไว้ใจได้.

  • ดูแลสุขภาพของคุณ. ความเครียดเพราะการหย่าร้างอาจทำให้คุณมีปัญหาสุขภาพ เช่น ความดันโลหิตสูงหรือไมเกรน. ดังนั้น คุณควรกินอาหารที่ดีมีประโยชน์ ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ.—เอเฟโซส์ 5:29

  • ทิ้งข้าวของที่อาจกระตุ้นให้คุณรู้สึกโกรธแค้นอดีตคู่สมรสหรือของที่ไม่ต้องการ แต่ให้เก็บเอกสารสำคัญไว้. ถ้าของบางอย่าง เช่น ภาพแต่งงานทำให้คุณรู้สึกเจ็บปวดใจ คุณอาจเก็บใส่กล่องไว้ให้ลูกของคุณในวันข้างหน้า.

  • สู้กับความคิดในแง่ลบ. โอลกาซึ่งหย่ากับสามีหลังจากที่จับได้ว่าเขาเล่นชู้ บอกว่า “ฉันเฝ้าถามตัวเองว่า ‘ผู้หญิงคนนั้นมีดีกว่าฉันตรงไหน?’” แต่ต่อมา โอลกายอมรับว่าการคิดลบในเรื่องเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีกทำให้ “จิตใจชอกช้ำ.”—สุภาษิต 18:14

    หลายคนพบว่าการเขียนเรื่องที่พวกเขาครุ่นคิดลงในสมุดจะช่วยกลั่นกรองและควบคุมความคิดได้. ถ้าคุณทำอย่างนั้น ขอให้พยายามนึกถึงความคิดใหม่ในแง่บวกแทนที่จะนึกถึงความคิดแบบลบที่คุณกำลังต่อสู้อยู่. (เอเฟโซส์ 4:23) ลองพิจารณาสองตัวอย่างนี้:

    ความคิดเดิม: เขานอกใจฉันเพราะฉันไม่ดีเอง.

    ความคิดใหม่: ถึงฉันจะมีข้อบกพร่อง แต่เขาก็ไม่มีสิทธิ์นอกใจฉัน.

    ความคิดเดิม: ฉันเสียเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตไปกับผู้ชายที่ไม่เอาไหน.

    ความคิดใหม่: ฉันจะมีความสุขมากกว่านี้ถ้ามองไปข้างหน้า ไม่ใช่มองย้อนหลัง.

  • อย่าใส่ใจกับคำพูดที่ทำให้เจ็บปวด. เพื่อนและญาติที่หวังดีอาจพูดอะไรบางอย่างให้คุณเสียใจหรือพูดโดยที่ไม่รู้ปัญหาของคุณจริงเช่น ‘ผู้ชายคนนั้นไม่มีอะไรคู่ควรกับเธอเลย’ หรือ ‘พระเจ้าเกลียดการหย่าร้าง.’ * ด้วยเหตุนี้ คัมภีร์ไบเบิลให้คำแนะนำว่า “อย่าปล่อยใจให้ไปฟังบรรดาถ้อยคำที่ใครกล่าว.” (ท่านผู้ประกาศ 7:21) มาร์ตีนาซึ่งหย่ามาสองปีแล้วบอกว่า “แทนที่จะคิดวนเวียนอยู่กับคำพูดที่ทำให้เจ็บปวด ฉันพยายามมองเรื่องต่างจากทัศนะของพระเจ้า. ความคิดของพระองค์สูงส่งกว่าเรา.”—ยะซายา 55:8, 9

  • อธิษฐานถึงพระเจ้า. พระเจ้าอยากให้ผู้นมัสการพระองค์ “ฝากความวิตกกังวลทั้งสิ้นไว้กับพระองค์” โดยเฉพาะในยามที่พวกเขาทุกข์ใจ.—1 เปโตร 5:7

ลองวิธีนี้: เขียนข้อคัมภีร์ที่คุณคิดว่าสามารถช่วยคุณได้แล้วติดไว้ในที่ที่คุณมองเห็นได้ง่าย. นอกจากข้อคัมภีร์ที่ยกมาแล้ว หลายคนที่หย่าร้างได้รับกำลังใจจากข้อคัมภีร์ต่อไปนี้: บทเพลงสรรเสริญ 27:10; 34:18; ยะซายา 41:10; และโรม 8:38, 39.

ให้พระคำของพระเจ้าปลอบโยนคุณในช่วงที่ทุกข์ใจ

 ปัญหา 2: ความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับอดีตคู่ชีวิต.

จูเลียนา ซึ่งแต่งงานมา 11 ปีบอกว่า “ฉันขอร้องสามีว่าอย่าทิ้งฉัน. แต่เมื่อเขาจากไปจริงฉันรู้สึกโกรธแค้นเขากับผู้หญิงที่เขาย้ายไปอยู่กินด้วย.” หลายคนที่หย่าร้างยังคงรู้สึกโกรธเกลียดอดีตคู่สมรสแม้เวลาผ่านไปหลายปี. แต่ในบางกรณีพวกเขาอาจยังต้องติดต่อกันเป็นประจำ เช่น ถ้ามีลูกด้วยกัน.

สิ่งที่คุณทำได้

  • ปฏิบัติต่ออดีตคู่สมรสอย่างสุภาพและให้เกียรติเสมอ. พูดแต่เรื่องที่จำเป็นเท่านั้นและพูดให้ตรงประเด็น. หลายคนพบว่าวิธีนี้จะช่วยให้ทั้งสองพูดคุยกันได้อย่างสันติ.—โรม 12:18

  • อย่าพูดจาเชือดเฉือน. แม้แต่เมื่อคุณรู้สึกว่ากำลังถูกอีกฝ่ายหนึ่งต่อว่าหรือติเตียน ขอให้ทำตามคำแนะนำที่สุขุมในคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า “บุคคลที่ยับยั้งถ้อยคำของเขาเป็นคนมีความรู้.” (สุภาษิต 17:27, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน ) ถ้าคุณรู้สึกว่าเริ่มคุยกันไม่รู้เรื่อง คุณอาจพูดว่า “ฉันขอกลับไปคิดเรื่องที่คุณพูดก่อน แล้วเราค่อยมาคุยกันทีหลัง.”

  • พยายามแยกเรื่องส่วนตัวของคุณกับอดีตคู่สมรสให้ชัดเจน รวมทั้งเอกสารทางกฎหมาย การเงิน และสุขภาพ.

ลองวิธีนี้: เมื่อคุณพูดกับอดีตคู่สมรสในคราวหน้า ถ้าคุณสังเกตว่าเริ่มมีการโต้เถียงหรือไม่ยอมอ่อนข้อให้กัน คุณอาจขอพักเรื่องนั้นไว้ก่อนหรือตกลงกันว่าจะคุยกันทางจดหมายหรืออีเมลแทน.—สุภาษิต 17:14

ปัญหา 3: ช่วยลูกให้ปรับตัว.

มารีอา เล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากหย่าร้างกับสามีว่า “ลูกสาวคนเล็กร้องไห้ตลอดเวลา แล้วก็เริ่มฉี่รดที่นอนอีก. ส่วนลูกสาวคนโตพยายามซ่อนความรู้สึกเอาไว้ แต่ฉันก็สังเกตว่าเธอเปลี่ยนไป.” ที่น่าเศร้าคือ คุณอาจรู้สึกว่าตนเองไม่มีเวลาหรือไม่มีกะจิตกะใจช่วยลูกในยามที่พวกเขาต้องการคุณมากที่สุด.

สิ่งที่คุณทำได้

  • สนับสนุนลูกให้ระบายความรู้สึกกับคุณ แม้บางครั้งพวกเขาอาจพูดแบบ “ไม่ยั้งคิด” ก็ตาม.—โยบ 6:2, 3, ฉบับมาตรฐาน

  • รักษาบทบาทของคุณ. แม้คุณอาจต้องการกำลังใจและลูกก็ดูเหมือนเต็มใจอยู่เคียงข้างคุณ แต่ก็นับว่าไม่ยุติธรรมและไม่มีประโยชน์กับลูกเลยถ้าคุณขอให้เขาช่วยแก้ปัญหาของผู้ใหญ่. (1 โครินท์ 13:11) อย่าใช้ลูกเป็นกรรมการ เป็นที่ปรึกษา หรือเป็นบุรุษไปรษณีย์คอยส่งข่าวเมื่อคุณต้องการติดต่อกับอดีตคู่สมรส.

  • อย่าเปลี่ยนชีวิตของลูก. การอยู่ในบ้านเดิมและทำกิจวัตรแบบเดิมนับว่าดีสำหรับลูก แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือการรักษากิจวัตรที่ดีของคริสเตียน รวมถึงการอ่านคัมภีร์ไบเบิลและการนมัสการประจำครอบครัว.—พระบัญญัติ 6:6-9

ลองวิธีนี้: ในสัปดาห์นี้ให้หาโอกาสบอกลูกว่าคุณรักเขาและเขาไม่ได้เป็นต้นเหตุที่ทำให้พ่อแม่แยกทางกัน. ตอบคำถามของลูกโดยไม่กล่าวโทษหรือตำหนิอดีตคู่สมรส.

คุณสามารถ ก้าวเดินต่อไปหลังหย่าร้าง. เมลิสซา ซึ่งแต่งงานมา 16 ปีบอกว่า “ตอนที่หย่ากับสามี ฉันคิดว่า ‘ฉันไม่ได้อยากให้ชีวิตลงเอยแบบนี้.’” แต่ตอนนี้เธอก็มีความสุขทั้งที่ชีวิตเปลี่ยนไป. เธอพูดว่า “เมื่อฉันเลิกคิดที่จะเปลี่ยนอดีต ฉันก็รู้สึกดีขึ้นมาก.”

^ วรรค 2 บางชื่อในบทความนี้เป็นชื่อสมมุติ.

^ วรรค 18 พระเจ้าเกลียดการหย่าร้างที่เกิดจากการจงใจทรยศหลอกลวง. แต่ถ้าฝ่ายหนึ่งทำผิดประเวณี พระเจ้าก็ยอมให้ฝ่ายที่ไม่ผิดมีสิทธิ์เลือกว่าจะหย่าหรือไม่. (มาลาคี 2:16; มัดธาย 19:9) ดูบทความ “ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิล—พระเจ้าทรงเกลียดชังการหย่าร้างชนิดใด?” ในตื่นเถิด! ฉบับ 8 กุมภาพันธ์ 1994 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.

ถามตัวเองว่า . . .

  • ฉันให้เวลาตัวเองได้เศร้าเสียใจจริงไหมหลังหย่าร้าง?

  • ฉันจะเลิกโกรธแค้นอดีตคู่สมรสได้อย่างไร?