ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ภาษาอาหรับกลายมาเป็นภาษาของปัญญาชนโดยวิธีใด?

ภาษาอาหรับกลายมาเป็นภาษาของปัญญาชนโดยวิธีใด?

ภาษา​อาหรับ​กลาย​มา​เป็น​ภาษา​ของ​ปัญญาชน​โดย​วิธี​ใด?

ภาษา​อาหรับ​เป็น​ภาษา​หลัก​ของ​ปัญญาชน​อยู่​หลาย​ศตวรรษ. เริ่ม​ตั้ง​แต่​ศตวรรษ​ที่​แปด​สากล​ศักราช นัก​วิชาการ​ที่​ใช้​ภาษา​อาหรับ​ใน​เมือง​ต่าง ๆ แถบ​ตะวัน​ออก​กลาง​ได้​แปล​และ​แก้ไข​บทความ​ทาง​วิทยาศาสตร์​และ​ปรัชญา​ซึ่ง​มี​การ​เขียน​มา​ตั้ง​แต่​สมัย​ของ​ปโตเลมี​และ​อาริสโตเติล. โดย​วิธี​นี้ นัก​วิชาการ​ที่​ใช้​ภาษา​อาหรับ​จึง​ได้​เก็บ​รักษา​และ​ต่อ​ยอด​ผล​งาน​ของ​นัก​คิด​ใน​สมัย​โบราณ.

แหล่ง​หลอม​รวม​แนว​คิด

ใน​ศตวรรษ​ที่​เจ็ด​และ​แปด​แห่ง​สากล​ศักราช เกิด​มี​มหาอำนาจ​ใหม่​ใน​ตะวัน​ออก​กลาง คือ​ราชวงศ์​อุมัยยะห์​และ​ราชวงศ์​อับบาซียะห์. เนื่อง​จาก​ประชาชน​ของ​พวก​เขา​ใน​คาบสมุทร​อาหรับ เอเชีย​ไมเนอร์ อียิปต์ ปาเลสไตน์ เปอร์เซีย และ​อิรัก ได้​รับ​อิทธิพล​จาก​ทั้ง​กรีซ​และ​อินเดีย เหล่า​ผู้​ปกครอง​ที่​เพิ่ง​ขึ้น​มา​สู่​อำนาจ​จึง​มี​แหล่ง​ความ​รู้​มาก​มาย. ราชวงศ์​อับบาซียะห์​สร้าง​เมือง​หลวง​แห่ง​ใหม่ คือ​กรุง​แบก​แดด และ​กรุง​นี้​ได้​กลาย​มา​เป็น​แหล่ง​หลอม​รวม​แนว​คิด​ต่าง ๆ. ที่​นี่ ชาว​อาหรับ​ติด​ต่อ​คบหา​กับ​ชาว​อาร์เมเนีย เบอร์​เบอร์ จีน คอปต์ กรีก อินเดีย ยิว เปอร์เซีย เติร์ก และ​ซอกเดียน จาก​ดินแดน​ฝั่ง​ข้าง​โน้น​ของ​แม่น้ำ​ออกซุส ซึ่ง​ปัจจุบัน​เรียก​กัน​ว่า​แม่น้ำ​อามูดาร์ยา​ใน​เอเชีย​กลาง. พวก​เขา​ร่วม​กัน​ศึกษา​และ​ถก​เกี่ยว​กับ​วิทยา​การ​ต่าง ๆ ซึ่ง​เป็น​การ​หลอม​รวม​ความ​รู้​อัน​หลาก​หลาย​ของ​ตน​ที่​ได้​รับ​ตก​ทอด​มา.

ราชวงศ์​อับบาซียะห์​ที่​ปกครอง​แบก​แดด​สนับสนุน​และ​ส่ง​เสริม​เหล่า​นัก​คิด​ที่​มี​พรสวรรค์​ให้​ช่วย​พัฒนา​วิทยา​การ​ต่าง ๆ ของ​จักรวรรดิ ไม่​ว่า​พวก​เขา​จะ​มา​จาก​ที่​ใด. มี​การ​จัด​ระบบ​เพื่อ​รวบ​รวม​และ​แปล​ตำรา​หลาย​พัน​เล่ม​เป็น​ภาษา​อาหรับ ไม่​ว่า​จะ​เป็น​วิชา​เล่น​แร่​แปร​ธาตุ เลข​คณิต เรขาคณิต เวชศาสตร์ ดนตรี ปรัชญา และ​ฟิสิกส์.

กาหลิบ​อัล-มัน​ซูร์ ซึ่ง​ปกครอง​ตั้ง​แต่ ส.ศ. 754 ถึง ส.ศ. 775 ได้​ส่ง​คณะ​ทูต​ไป​ยัง​ราชสำนัก​ไบแซนไทน์​เพื่อ​ขอ​ตำรา​คณิตศาสตร์​ของ​ชาว​กรีก. กาหลิบ​อัล-มา​มูน (ส.ศ. 813 ถึง ส.ศ. 833) ได้​พยายาม​แสวง​หา​วิชา​ความ​รู้​ของ​ชาว​กรีก​เช่น​กัน โดย​ริเริ่ม​ให้​มี​การ​แปล​ตำรา​จาก​ภาษา​กรีก​เป็น​ภาษา​อาหรับ ซึ่ง​การ​แปล​นี้​ดำเนิน​เรื่อย​มา​นาน​กว่า​สอง​ศตวรรษ. ด้วย​เหตุ​นั้น เมื่อ​ถึง​ปลาย​ศตวรรษ​ที่​สิบ ตำรา​ทาง​ปรัชญา​และ​วิทยาศาสตร์​เกือบ​ทั้ง​หมด​ของ​ชาว​กรีก​จึง​ได้​รับ​การ​แปล​เป็น​ภาษา​อาหรับ. แต่​เหล่า​นัก​วิชาการ​แห่ง​โลก​อาหรับ​ไม่​เพียง​แค่​แปล​เท่า​นั้น. พวก​เขา​เขียน​ตำรา​เอง​ด้วย.

การ​พัฒนา​ความ​รู้​ใน​โลก​อาหรับ

นัก​แปล​ภาษา​อาหรับ​หลาย​คน​ทำ​งาน​ได้​ถูก​ต้อง​แม่นยำ​และ​รวด​เร็ว​อย่าง​น่า​ทึ่ง. ด้วย​เหตุ​นี้ นัก​ประวัติศาสตร์​บาง​คน​จึง​เชื่อ​ว่า​นัก​แปล​เหล่า​นั้น​ต้อง​คุ้น​เคย​กับ​เรื่อง​ที่​พวก​เขา​แปล​อยู่​แล้ว. ยิ่ง​กว่า​นั้น นัก​วิชาการ​บาง​คน​ได้​ใช้​ตำรา​แปล​เหล่า​นั้น​เป็น​จุด​เริ่ม​ต้น​สำหรับ​การ​ค้นคว้า​วิจัย​ของ​พวก​เขา​เอง.

ตัว​อย่าง​เช่น แพทย์​และ​ผู้​แปล​ชื่อ​ฮูนาอีน อิบัน อิสฮาก (ส.ศ. 808 ถึง ส.ศ. 873) ซึ่ง​เป็น​คริสเตียน​ชาว​ซีเรีย ได้​พัฒนา​ความ​รู้​ความ​เข้าใจ​อย่าง​มาก​ใน​เรื่อง​การ​มอง​เห็น. ผล​งาน​ของ​เขา​ซึ่ง​มี​ภาพ​ประกอบ​ที่​ถูก​ต้อง​ของ​ดวง​ตา ได้​กลาย​มา​เป็น​หนังสือ​อ้างอิง​มาตรฐาน​ใน​วิชา​จักษุ​วิทยา​ทั้ง​ใน​โลก​อาหรับ​และ​ยุโรป. นัก​ปรัชญา​และ​แพทย์​ชื่อ​อิบัน ซีนา ซึ่ง​โลก​ตะวัน​ตก​รู้​จัก​กัน​ใน​นาม​อะวิเซนนา (ส.ศ. 980 ถึง ส.ศ. 1037) ได้​เขียน​ตำรา​หลาย​สิบ​เล่ม​ครอบ​คลุม​หลาย​หัวเรื่อง ตั้ง​แต่​จริยศาสตร์​และ​ตรรกศาสตร์​ไป​จน​ถึง​เวชศาสตร์​และ​อภิปรัชญา. ผล​งาน​ชิ้น​เอก​ของ​เขา​ชื่อ​หลักการ​แพทย์ ได้​รวม​เอา​ความ​รู้​ที่​มี​อยู่​ใน​สมัย​นั้น ทั้ง​แนว​คิด​ของ​กาเลน​และ​อาริสโตเติล ซึ่ง​เป็น​นัก​คิด​ผู้​มี​ชื่อเสียง​ชาว​กรีก. หนังสือ​เล่ม​นี้​เป็น​ตำรา​มาตรฐาน​ทาง​การ​แพทย์​นาน​ถึง 400 ปี.

นัก​ค้นคว้า​ชาว​อาหรับ​ชอบ​วิธี​การ​ทดลอง​ทาง​วิทยาศาสตร์ ซึ่ง​เป็น​ปัจจัย​สำคัญ​ของ​ความ​ก้าว​หน้า​ทาง​วิทยาศาสตร์. พวก​เขา​จึง​คำนวณ​เส้น​รอบ​วง​ของ​โลก​อีก และ​แก้ไข​ข้อมูล​ทาง​ภูมิศาสตร์​ใน​ผล​งาน​ของ​ปโตเลมี. พอล ลุนด์ นัก​ประวัติศาสตร์​คน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “พวก​เขา​กล้า​ที่​จะ​ตั้ง​ข้อ​สงสัย​ใน​ผล​งาน​ของ​อาริสโตเติล​ด้วย​ซ้ำ.”

ความ​ก้าว​หน้า​ทาง​วิชาการ​ปรากฏ​ให้​เห็น​ใน​การ​ประยุกต์​ใช้​ความ​รู้​ใน​ด้าน​ต่าง ๆ เช่น การ​สร้าง​อ่าง​เก็บ​น้ำ ลำ​ราง​ส่ง​น้ำ และ​ล้อ​ทด​น้ำ ซึ่ง​บาง​อย่าง​ยัง​คง​หลง​เหลือ​จน​ถึง​สมัย​นี้. ตำรา​ใหม่ ๆ ด้าน​เกษตรกรรม พฤกษศาสตร์ และ​พืช​กรรม​ศาสตร์​ช่วย​ให้​เกษตรกร​เลือก​ปลูก​พืช​ผล​ที่​เหมาะ​กับ​ท้อง​ที่​นั้น ๆ จึง​ทำ​ให้​ได้​ผล​ผลิต​เพิ่ม​ขึ้น.

ส.ศ. 805 กาหลิบฮารูน อัล-ราษจิด ได้​ก่อ​ตั้ง​โรง​พยาบาล​แห่ง​แรก​ใน​จักรวรรดิ​อัน​กว้าง​ใหญ่​ของ​เขา. ไม่​นาน เมือง​ใหญ่ ๆ ทุก​เมือง​ใน​อาณา​เขต​ของ​เขา​ก็​มี​โรง​พยาบาล.

ศูนย์กลาง​ใหม่​ด้าน​การ​เรียน​รู้

หลาย​เมือง​ใน​โลก​อาหรับ​มี​ห้อง​สมุด​และ​ศูนย์​การ​เรียน​รู้​เฉพาะ​ทาง. ใน​กรุง​แบก​แดด กาหลิบ​อัล-มา​มูน ได้​ก่อ​ตั้ง​สถาบัน​การ​แปล​และ​ค้นคว้า​ที่​เรียก​ว่า บัยต อัล-หิกมะฮ์ ซึ่ง​หมาย​ถึง “บ้าน​แห่ง​ปัญญา.” เจ้าหน้าที่​ใน​สถาบัน​แห่ง​นี้​มี​บาง​คน​เป็น​นัก​วิชาการ​ที่​ได้​รับ​เงิน​เดือน. เชื่อ​กัน​ว่า​ห้อง​สมุด​หลัก​ใน​ไคโร​มี​หนังสือ​มาก​กว่า​หนึ่ง​ล้าน​เล่ม. ขณะ​เดียว​กัน กอร์โดบา เมือง​หลวง​ของ​ราชวงศ์​อุมัยยะห์​ใน​สเปน มี​ห้อง​สมุด​ถึง 70 แห่ง ซึ่ง​นัก​วิชาการ​และ​นัก​ศึกษา​จาก​ทั่ว​โลก​อาหรับ​ได้​พา​กัน​ไป​ค้นคว้า​ที่​นั่น. กอร์โดบา​เป็น​ศูนย์กลาง​การ​เรียน​รู้​ชั้น​นำ​นาน​กว่า​สอง​ศตวรรษ.

ใน​เปอร์เซีย ความ​รู้​ที่​สืบ​ทอด​มา​ด้าน​คณิตศาสตร์​ของ​ชาว​กรีก​ถูก​หลอม​รวม​เข้า​กับ​ของ​อินเดีย. ก่อน​หน้า​นั้น นัก​คณิตศาสตร์​ของ​อินเดีย​ได้​คิด​ระบบ​ที่​ใช้​เลข​ศูนย์​และ​สัญกรณ์​ตำแหน่ง. ใน​ระบบ​การ​เขียน​เลข​แบบ​นี้ ตัว​เลข​แต่​ละ​ตัว​จะ​มี​ค่า​ต่าง​กัน​ขึ้น​อยู่​กับ​ตำแหน่ง​ของ​เลข​ศูนย์. ตัว​อย่าง​เช่น เลข​หนึ่ง​อาจ​หมาย​ถึง​หนึ่ง สิบ หนึ่ง​ร้อย ​ฯ ล​ฯ. ลุนด์​เขียน​ว่า ระบบ​นี้ “ไม่​เพียง​ทำ​ให้​การ​คำนวณ​ทุก​ประเภท​ง่าย​ขึ้น แต่​ยัง​ทำ​ให้​เกิด​วิชา​พีชคณิต​ขึ้น​ด้วย.” นัก​วิชาการ​ชาว​อาหรับ​ยัง​ได้​ทำ​ความ​ก้าว​หน้า​อย่าง​มาก​ด้าน​เรขาคณิต ตรีโกณมิติ และ​การ​เดิน​เรือ.

ยุค​ทอง​ทาง​วิทยาศาสตร์​และ​คณิตศาสตร์​ของ​โลก​อาหรับ​สวน​ทาง​กับ​ส่วน​อื่น ๆ ของ​โลก​ซึ่ง​ไม่​ใส่​ใจ​กับ​การ​ศึกษา​หา​ความ​รู้. มี​ความ​พยายาม​คล้าย ๆ กัน​ใน​ยุโรป​ยุค​กลาง​ที่​จะ​เก็บ​รักษา​ผล​งาน​ของ​นัก​วิชาการ​ยุค​โบราณ ซึ่ง​ส่วน​ใหญ่​แล้ว​ทำ​กัน​ใน​อาราม​ต่าง ๆ. แต่​สิ่ง​ที่​ทำ​กัน​ช่วง​นั้น​เทียบ​ไม่​ได้​เลย​กับ​โลก​อาหรับ. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ตั้ง​แต่​ศตวรรษ​ที่​สิบ​สภาพการณ์​เริ่ม​เปลี่ยน เมื่อ​การ​แปล​ผล​งาน​ทาง​วิชาการ​ใน​โลก​อาหรับ​ถูก​นำ​เข้า​สู่​โลก​ตะวัน​ตก. เมื่อ​เวลา​ผ่าน​ไป มี​การ​นำ​วิชา​ความ​รู้​เข้า​มา​มาก​ขึ้น​จน​นำ​ไป​สู่​การ​ฟื้นฟู​ด้าน​วิทยาศาสตร์​ใน​ยุโรป.

จริง​ที​เดียว ประวัติศาสตร์​แสดง​ว่า​ไม่​มี​ประเทศ​ใด​หรือ​ชน​ชาติ​ใด​กล่าว​อ้าง​ได้​ว่า​พัฒนา​วิทยา​การ​ต่าง ๆ จน​ก้าว​หน้า​ถึง​ปัจจุบัน​แต่​เพียง​ผู้​เดียว. วัฒนธรรม​ที่​มี​ความ​รู้​ก้าว​หน้า​ใน​ทุก​วัน​นี้​เป็น​หนี้​บุญคุณ​วัฒนธรรม​ใน​อดีต​ซึ่ง​ส่ง​เสริม​ให้​มี​การ​ค้นคว้า ตั้ง​คำ​ถาม​สิ่ง​ที่​เคย​ยึด​ถือ​กัน​มา และ​สนับสนุน​ให้​คิด​ค้น​สิ่ง​ต่าง ๆ.

[แผนที่​หน้า 26]

(ดู​ราย​ละเอียด​จาก​วารสาร)

▪เขต​อิทธิพล​ของ​ราชวงศ์​อุมัยยะห์

□ดินแดน​ที่​อยู่​ใต้​อิทธิพล​ของ​ราชวงศ์​อับบาซียะห์

สเปน

กอร์โดบา

จักรวรรดิ​ไบแซนไทน์

โรม

คอนสแตนติโนเปิล

แม่น้ำ​ออกซูส

เปอร์เซีย

แบก​แดด

เยรูซาเลม

ไคโร

คาบสมุทร​อาหรับ

[ภาพ​หน้า 27]

ภาพ​ดวง​ตา​ที่​เขียน​โดย​ฮูนาอีน อิบัน อิสฮาก

[ภาพ​หน้า 27]

หน้า​หนึ่ง​ใน​หนังสือ “หลักการ​แพทย์” ของ​อะวิเซนนา

[ภาพ​หน้า 28]

นัก​วิชาการ​ชาว​อาหรับ​ใน​ห้อง​สมุด​แห่ง​หนึ่ง​ที่​บัส​รา ส.ศ. 1237

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

© Scala/White Images/Art Resource NY

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 27]

Eye diagram: © SSPL/Science Museum/Art Resource NY; Canon of Medicine: © The Art Gallery Collection/Alamy