ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ไปดูชิมแปนซีในป่า

ไปดูชิมแปนซีในป่า

ไป​ดู​ชิมแปนซี​ใน​ป่า

ขณะ​ที่​เรา​ไป​ตาม​ทาง​เท้า​แคบ ๆ ใน​ป่า​เขต​ร้อน​แถบ​เส้น​ศูนย์​สูตร​แห่ง​แอฟริกา สายตา​ของ​เรา​เริ่ม​ชิน​กับ​แสง​แวม ๆ ที่​ลอด​ผ่าน​กิ่ง​ไม้​ใบ​ไม้​อัน​หนา​ทึบ. การ​ได้​ยิน​เสียง​จิ้งหรีด​ดัง​ไม่​หยุดหย่อน​และ​เห็น​ต้น​ไม้​สูง​ใหญ่​ที่​มี​เถาวัลย์​ปก​คลุม บาง​ต้น​สูง​เลย 55 เมตร​ที​เดียว ทำ​ให้​พวก​เรา​รู้สึก​ทึ่ง​และ​รอ​คอย​สิ่ง​ที่​อยู่​ข้าง​หน้า. เรา​มี​ความ​รู้สึก​ว่า​ใน​สภาพ​แวด​ล้อม​สลัว ๆ เช่น​นี้ เรา​ต้อง​ระวัง​ระไว​และ​เดิน​ไป​อย่าง​เงียบ ๆ. ทันใด​นั้น ก็​มี​เสียง​ฮู่ ๆ และ​เสียง​สูด​ลม​หายใจ​ถี่ ๆ. เสียง​เหล่า​นี้​ดัง​และ​แหลม​ขึ้น​จน​อื้ออึง​ไป​ทั่ว แล้ว​ก็​เงียบ​ลง​อย่าง​ฉับพลัน. การ​เดิน​ป่า​ของ​เรา​อย่าง​เหน็ด​เหนื่อย​ได้​มา​ถึง​จุด​ที่​น่า​ตื่นเต้น​ซึ่ง​เรา​รอ​คอย. เรา​พบ​ชิมแปนซี​ฝูง​หนึ่ง​เข้า​แล้ว.

สภาพ​ชุลมุน​เช่น​นี้​รวม​ถึง​เสียง​ดัง​ฮู่ ๆ และ​เสียง​หายใจ​ฟืดฟาด, เสียง​กรีด​ร้อง, และ​บาง​ครั้ง​ก็​เป็น​เสียง​เคาะ​ต้น​ไม้​หรือ​การ​เรียก​หา​กัน ซึ่ง​เป็น​วิธี​สื่อสาร​ของ​ชิมแปนซี. ผล​มะเดื่อ​สุก​อัน​โอชะ​ดก​เต็ม​ต้น​ดู​เหมือน​เป็น​สาเหตุ​ให้​มี​การ​ติด​ต่อ​เรียก​หา​กัน​อย่าง​เร่ง​ด่วน​ระหว่าง​ฝูง​ชิมแปนซี. ครั้น​แหงน​หน้า​ดู​ต้น​มะเดื่อ​สูง​ที่​แผ่​กิ่ง​ก้าน​คลุม​พื้น​ที่ เรา​ก็​ได้​เห็น​ชิมแปนซี​จำนวน​มาก​ประมาณ 20 ถึง 30 ตัว​กำลัง​กิน​มะเดื่อ​อย่าง​สงบ. ขน​ของ​มัน​ดำ​เลื่อม​เมื่อ​ต้อง​แสง​แดด. ลิง​ตัว​หนึ่ง​เริ่ม​ปา​กิ่ง​ไม้​ใส่​เรา และ​ไม่​นาน​ตัว​อื่น ๆ ก็​ทำ​ตาม ซึ่ง​เป็น​สัญญาณ​บอก​ว่า​อาหาร​นี้​จะ​แบ่ง​ปัน​ให้​ใคร​ไม่​ได้.

ช่วง​ที่​ดี​ที่​สุด​ที่​จะ​พบ​ชิมแปนซี​ก็​คือ​เมื่อ​มี​ผลไม้​อุดม​บริบูรณ์. ใน​เวลา​อื่น​จะ​พบ​ได้​ยาก​กว่า เนื่อง​จาก​มัน​จะ​อยู่​กระจัด​กระจาย​กัน​ตาม​ดง​ไม้​เตี้ย ๆ เป็น​ฝูง​เล็ก​เพียง​ไม่​กี่​ตัว. ตาม​ปกติ ชิมแปนซี​ใน​ป่า​ชอบ​กิน​และ​จะ​หยุด​เป็น​พัก ๆ เกือบ​ตลอด​ทั้ง​วัน​ขณะ​ที่​มัน​เที่ยว​ไป​ใน​พื้น​ที่​กว้าง​ใหญ่​หลาย​ตาราง​กิโลเมตร. นอก​จาก​ผลไม้​แล้ว อาหาร​ของ​มัน​ก็​มี​ทั้ง​ใบ​ไม้ เมล็ด​พืช และ​กิ่ง​ก้าน​อ่อน ๆ. นอก​จาก​นั้น มัน​ยัง​กิน​มด, ไข่​นก, และ​ปลวก. บาง​ครั้ง​มัน​จะ​ล่า​สัตว์​เล็ก ๆ รวม​ทั้ง​ลิง​ด้วย.

เนื่อง​จาก​ใกล้​เที่ยง​วัน ชิมแปนซี​ก็​รู้สึก​ว่า​อากาศ​ร้อน​อบอ้าว. ลิง​ตัว​หนึ่ง​เริ่ม​ไต่​ลง​จาก​ต้น​ไม้ และ​ไม่​นาน​ตัว​อื่น​ก็​ตาม​ลง​มา. แล้ว​พวก​มัน​เดิน​เข้า​ป่า​ทึบ​ไป​ที​ละ​ตัว. ชิมแปนซี​วัยรุ่น​แสน​ซน​ตัว​หนึ่ง​โหน​จาก​กิ่ง​หนึ่ง​ไป​อีก​กิ่ง​หนึ่ง​เพื่อ​จะ​มอง​ดู​เรา​ใกล้ ๆ. การ​ได้​เห็น​เจ้า​ตัว​น้อย​ขี้​เล่น​และ​อยาก​รู้​อยาก​เห็น​ทำ​ให้​เรา​อด​ยิ้ม​ไม่​ได้.

ลักษณะ​นิสัย​ที่​น่า​ประทับใจ

ขณะ​ที่​เรา​เดิน​กลับ​ทาง​เก่า คน​หนึ่ง​ใน​กลุ่ม​เรา​พูด​ว่า “เหลียว​ดู​ข้าง​หลัง​คุณ​สิ.” พอ​หัน​กลับ เรา​ก็​เห็น​ชิมแปนซี​ตัว​หนึ่ง​แอบ​อยู่​หลัง​ต้น​ไม้​มอง​เรา​อย่าง​ระวัง​ตัว. มัน​ยืน​สอง​ขา ตัว​สูง​ประมาณ 1 เมตร. เมื่อ​เรา​จ้อง​ดู​มัน มัน​ก็​หลบ​หน้า สัก​ครู่​หนึ่ง มัน​ก็​โผล่​ออก​มา​อีก. ช่าง​น่า​รัก​เหลือ​เกิน! ชิมแปนซี​สามารถ​ยืน​สอง​ขา​ได้ และ​เดิน​สอง​ขา​ใน​ระยะ​ทาง​สั้น ๆ ก็​ได้. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ปกติ​แล้ว​ชิมแปนซี​ใช้​ทั้ง​สี่​ขา​ของ​มัน​รอง​รับ​น้ำหนัก​ตัว. กระดูก​สัน​หลัง​ช่วง​ล่าง​ของ​มัน​ไม่​มี​ส่วน​โค้ง​จึง​ยืน​ตรง​อย่าง​มนุษย์​ไม่​ได้. แถม​กล้ามเนื้อ​ตะโพก​ก็​ค่อนข้าง​อ่อนแอ ทั้ง​แขน​ก็​ยาว​กว่า​และ​แข็งแรง​กว่า​ขา​เสีย​อีก ดัง​นั้น รูป​ร่าง​ของ​ชิมแปนซี​จึง​เหมาะ​ที่​จะ​เดิน​สี่​ขา หรือ​ปีน​และ​ห้อย​โหน​ไป​ตาม​กิ่ง​ไม้.

เมื่อ​ชิมแปนซี​ต้อง​ยื่น​แขน​ไป​เด็ด​ผลไม้​บน​กิ่ง​เล็ก ๆ ซึ่ง​ไม่​อาจ​ทาน​น้ำหนัก​มัน​ได้ แขน​ที่​ยาว​ก็​มี​ประโยชน์​เป็น​พิเศษ. ลักษณะ​มือ​และ​เท้า​ของ​มัน​เหมาะ​แก่​การ​เกาะ​และ​เหนี่ยว​กิ่ง​ไม้​ได้​เป็น​อย่าง​ดี. หัวแม่เท้า​ที่​เฉ​ไป​ด้าน​ข้าง​ทำ​หน้า​ที่​คล้าย​หัวแม่มือ​ใน​การ​ช่วย​ให้​มัน​ปีน​ต้น​ไม้ หรือ​กระทั่ง​จับ​และ​ยก​ของ​ด้วย​เท้า​ได้​ง่าย​พอ ๆ กับ​การ​ยก​ด้วย​มือ. ทักษะ​เช่น​นี้​เป็น​ประโยชน์​เมื่อ​ถึง​เวลา​ทำ​รัง​นอน​ตอน​กลางคืน. แค่​ไม่​กี่​นาที​ที่​มัน​หัก​กิ่ง​ไม้​และ​รวบ​รวม​ใบ​ไม้​ทำ​เป็น​ที่​นอน มัน​ก็​ได้​นอน​บน​ที่​นุ่ม​อัน​แสน​สบาย​ทั้ง​คืน.

การ​เฝ้า​ดู​และ​ศึกษา​ชีวิต​ชิมแปนซี​ใน​ป่า​และ​ลักษณะ​นิสัย​ที่​น่า​ประทับใจ​หลาย ๆ อย่าง​ของ​มัน รวม​ทั้ง​สรีระ​และ​พฤติกรรม​ที่​คล้ายคลึง​กับ​มนุษย์ เป็น​สิ่ง​ที่​น่า​สนใจ​มาก. อย่าง​ไร​ก็​ตาม บาง​คน​สนใจ​ชิมแปนซี​ด้วย​เหตุ​ผล​ด้าน​การ​ทดลอง​เพียง​อย่าง​เดียว​เพื่อ​สนับสนุน​เรื่อง​วิวัฒนาการ​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​มนุษย์. ฉะนั้น อาจ​เกิด​คำ​ถาม​ทำนอง​นี้: จริง ๆ แล้ว​อะไร​ทำ​ให้​มนุษย์​ต่าง​ไป​จาก​ชิมแปนซี​มาก? ต่าง​จาก​สัตว์ มนุษย์​ถูก​สร้าง “ตาม​แบบ” พระเจ้า​ใน​ทาง​ใด?—เยเนซิศ 1:27, ล.ม.

ประสบการณ์​ที่​ไม่​อาจ​จะ​ลืม​ได้

ใน​ป่า ชิมแปนซี​มัก​จะ​หลบ​ไป​เงียบ ๆ เมื่อ​เห็น​คน​บุกรุก​เข้า​มา. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เพื่อ​เป็น​การ​คุ้มครอง​และ​อนุรักษ์ จึง​มี​ความ​พยายาม​ที่​จะ​ทำ​ให้​ชิมแปนซี​บาง​ฝูง​คุ้น​เคย​กับ​มนุษย์.

การ​ไป​เยือน​บ้าน​ของ​ชิมแปนซี​ใน​ป่า​ใน​ช่วง​สั้น ๆ นับ​เป็น​ประสบการณ์​ที่​ไม่​อาจ​ลืม​ได้. มัน​ช่วย​ให้​เรา​เข้าใจ​บาง​อย่าง​เกี่ยว​กับ​ชิมแปนซี​ใน​ถิ่น​อาศัย​ตาม​ธรรมชาติ​จริง ๆ ซึ่ง​ต่าง​ไป​จาก​ที่​อยู่​ใน​สวน​สัตว์​หรือ​ใน​ห้อง​ทดลอง. มัน​เป็น​สัตว์​น่า​ทึ่ง​มาก​และ​เป็น​หนึ่ง​ใน​บรรดา ‘สัตว์​เลื้อยคลาน​และ​สัตว์​ป่า’ ซึ่ง​พระเจ้า​เห็น​ว่า​ดี คือ​ถูก​ออก​แบบ​อย่าง​ดี​เยี่ยม​เหมาะ​กับ​สภาพ​แวด​ล้อม​ที่​มัน​ถูก​กำหนด​ให้​อยู่.—เยเนซิศ 1:24, 25

[กรอบ/ภาพ​หน้า 14, 15]

ชิมแปนซี​กับ​มนุษย์

ใน​หนังสือ​ชื่อ​เงา​มนุษย์ (ภาษา​อังกฤษ) เจน กูดัลล์ นัก​สัตววิทยา​ชื่อ​ดัง​เขียน​ว่า การ​สังเกตการณ์​ของ​เธอ​ใน​ทศวรรษ 1960 เกี่ยว​กับ “การ​สร้าง เครื่อง​มือ” ของ​ชิมแปนซี “ทำ​ให้​นัก​วิทยาศาสตร์​จำนวน​หนึ่ง​เชื่อ​ว่า​จำเป็น​จะ​ต้อง​ให้​คำ​จำกัดความ​ใหม่​สำหรับ​มนุษย์​ด้วย​สำนวน​ที่​ซับซ้อน​กว่า​เดิม.” ชิมแปนซี​ใช้​ใบ​ไม้​เป็น​เครื่อง​ซับ​น้ำ, ใช้​หิน​หรือ​กิ่ง​ไม้​ทุบ​เปลือก​เมล็ด​พืช, และ​เด็ด​ใบ​ไม้​จาก​กิ่ง​แล้ว​แหย่​กิ่ง​ไม้​เข้า​ไป​ใน​จอม​ปลวก​เพื่อ​จับ​ปลวก​ออก​มา ล้วน​เป็น​การ​ค้น​พบ​ที่​น่า​ทึ่ง. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ใน​ช่วง​หลัง ๆ นี้​เป็น​ที่​รู้​กัน​ทั่ว​ว่า​สัตว์​จำนวน​หนึ่ง​มี​ความ​สามารถ​ทำ​เครื่อง​มือ​ได้​อย่าง​น่า​ทึ่ง. ดร.​ที. เอกซ์. บาร์เบอร์ ผู้​เขียน​หนังสือ​ลักษณะ​ของ​มนุษย์​ใน​นก—การ​ค้น​พบ​ทาง​วิทยาศาสตร์​ที่​มี​นัย​สำคัญ​น่า​ตกตะลึง (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “สัตว์​ทุก​ชนิด​ที่​เรา​ได้​ศึกษา​อย่าง​ละเอียด ไม่​เฉพาะ​แต่​ลิง​และ​โลมา​เท่า​นั้น แต่​รวม​ทั้ง​มด​และ​ผึ้ง​ด้วย ต่าง​ก็​ได้​แสดง​ให้​เห็น​ถึง​การ​รับ​รู้​พื้น​ฐาน​และ​ความ​ฉลาด​ที่​ใช้​ใน​เชิง​ปฏิบัติ​ได้​อย่าง​คาด​ไม่​ถึง.”

เรื่อง​นี้​ไม่​ได้​เปลี่ยน​ข้อ​เท็จ​จริง​ที่​ว่า​มนุษย์​ต่าง​ไป​จาก​สัตว์​อื่น ๆ ทุก​ชนิด. ดัง​ที่​ศาสตราจารย์​เดวิด พรีแมก เขียน​ไว้​ว่า “ไวยากรณ์​หรือ​รูป​ประโยค​ของ​ภาษา​มนุษย์​เป็น​สิ่ง​ที่​โดด​เด่น​อย่าง​ยิ่ง.” ใช่​แล้ว ความ​ซับซ้อน​ทาง​ภาษา​ของ​มนุษย์​รวม​ทั้ง​ความ​งดงาม​ทาง​วัฒนธรรม​ของ​มนุษย์ ซึ่ง​ภาษา​และ​คำ​พูด​มี​บทบาท​สำคัญ​อย่าง​มาก ได้​แยก​เรา​จาก​สัตว์​อย่าง​เห็น​ได้​ชัด.

หลัง​จาก​ศึกษา​ชิมแปนซี​หลาย​ปี ดร.​เจน กูดัลล์ เขียน​ว่า “ดิฉัน​นึก​ไม่​ออก​ว่า​ชิมแปนซี​จะ​มี​อารมณ์​ความ​รู้สึก​ต่าง ๆ ซึ่ง​เทียบ​ได้​กับ​ความ​อ่อนโยน, การ​ปก​ป้อง, การ​อด​ทน, และ​ใจ​ร่าเริง​ซึ่ง​เป็น​ลักษณะ​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ความ​รัก​ของ​มนุษย์​ใน​ความ​หมาย​ที่​ลึกซึ้ง​ที่​สุด.” เธอ​เขียน​ด้วย​ว่า “ความ​สามารถ​ที่​จะ​รับ​รู้​ตัว​ตน​ของ​มนุษย์​เหนือ​กว่า​การ​รับ​รู้​ทาง​ร่าง​กาย​ของ​สัตว์. มนุษย์​ต้องการ​คำ​อธิบาย​เรื่อง​ความ​ลึกลับ​แห่ง​ตัว​ตน​ของ​เขา​และ​ความ​มหัศจรรย์​ของ​โลก​รอบ ๆ ตัว​และ​เอกภพ​เบื้อง​บน.”

คัมภีร์​ไบเบิล​ชี้​แจง​ความ​แตกต่าง​ระหว่าง​สัตว์​และ​มนุษย์ โดย​บอก​ว่า​มนุษย์​ถูก​สร้าง “ตาม​แบบ [พระเจ้า].” (เยเนซิศ 1:27) ดัง​นั้น มนุษย์​ไม่​เหมือน​สัตว์ แต่​เขา​สามารถ​แสดง​คุณลักษณะ​ของ​พระ​ผู้​สร้าง ซึ่ง​ความ​รัก​เป็น​ลักษณะ​โดด​เด่น​ที่​สุด. นอก​จาก​นั้น มนุษย์​มี​ความ​สามารถ​จะ​รับ​ความ​รู้​ได้​มาก​มาย​และ​ปฏิบัติ​ให้​สม​กับ​เชาวน์​ปัญญา​ซึ่ง​เหนือ​กว่า​สัตว์​ทุก​ชนิด. อนึ่ง มนุษย์​ถูก​สร้าง​ให้​สามารถ​ใช้​เจตจำนง​เสรี​ของ​ตน​เอง โดย​ไม่​ถูก​ควบคุม​ด้วย​สัญชาตญาณ.

[ภาพ​หน้า 15]

ชิมแปนซี​เป็น​สัตว์​ขี้​เล่น​และ​อยาก​รู้​อยาก​เห็น​ซึ่ง​ถูก​ออก​แบบ​อย่าง​ดี​เยี่ยม​เหมาะ​กับ​สภาพ​แวด​ล้อม​ที่​มัน​ถูก​กำหนด​ให้​อยู่

[ที่​มา​ภาพ]

Chimpanzees top right: Corbis/Punchstock/Getty Images; lower left and right: SuperStock RF/SuperStock; Jane Goodall: © Martin Engelmann/age fotostock

[ที่​มา​ภาพ​หน้า 13]

© Photononstop/SuperStock