ความหลากหลายของชีวิตที่น่าตื่นตะลึงในป่าแอมะซอนตอนบน
ความหลากหลายของชีวิตที่น่าตื่นตะลึงในป่าแอมะซอนตอนบน
จากเชิงเทือกเขาแอนดีสของเปรูมีต้นไม้ขึ้นหนาแน่นครอบคลุมพื้นที่ทางทิศตะวันออกผ่านทวีปอเมริกาใต้ ระยะทาง 3,700 กิโลเมตร. ทะเลสีเขียวแห่งพืชพรรณทอดตัวยาวเหยียดไปถึงมหาสมุทรแอตแลนติกสีคราม.
ส่วนนี้ของป่าในเปรู—หรือเขตป่าแอมะซอนของเปรู—คลุมพื้นที่ของประเทศมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์. แม้จะมีพลเมืองชาวเปรูเป็นส่วนน้อยอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ แต่ใต้ร่มเงาของต้นไม้ที่สูงราว ๆ 35 เมตรของป่าแห่งนี้ก็มีพืชพรรณและสัตว์มากมายมาพักพิงอยู่. ที่จริง ป่าแอมะซอนถูกนับเป็นหนึ่งในคลังทรัพย์ที่มั่งคั่งที่สุดแห่งระบบนิเวศบนแผ่นดินโลก. ผีเสื้อมากกว่า 3,000 ชนิดกระพือปีกบินไปมาในอากาศ. กล้วยไม้มากกว่า 4,000 ชนิดผลิดอกงามสะพรั่ง. งูมากกว่า 90 ชนิดหลบซ่อนอยู่ตามกิ่งไม้และบนพื้นดิน. และปลาประมาณ 2,500 ชนิด อีกทั้งปลาไหลไฟฟ้าและปลาปิรันยาแหวกว่ายอยู่ในแม่น้ำและลำธาร.
เด่นที่สุดท่ามกลางสายธารเหล่านี้ก็คือแม่น้ำแอมะซอนที่ยิ่งใหญ่. ในบางแห่งปริมาตรน้ำฝนซึ่งวัดได้ 2.5 ถึง 3 เมตรต่อปีทำให้ผืนป่าชุ่มฉ่ำเป็นเหตุให้แม่น้ำแอมะซอนและลำน้ำกว่า 1,100 สาขาเอ่อท่วมผืนป่า. ความร้อนและความเปียกชื้นประกอบกันเป็นบรรยากาศแบบห้องอบไอน้ำ ที่พืชพรรณชอบ. แต่น่าทึ่ง พืชพรรณเหล่านี้เจริญงอกงามบนดินเหนียวซึ่งถือว่าเป็นดินที่มีสารอาหารน้อยที่สุดในโลก ไม่เหมาะแก่การเพาะปลูกแบบยั่งยืน.
แหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์ตั้งแต่โบราณ
ใครหรือจะเลือกมาอยู่ในที่เช่นนี้? นักโบราณคดีเชื่อว่าลุ่มน้ำแอมะซอนเคยเป็นที่อยู่ของหลายล้านคนมาหลายศตวรรษแล้ว. ปัจจุบัน ประมาณ 300,000 คนจากชนเผ่าต่าง ๆ กว่า 40 เผ่าอาศัยอยู่ในป่าแอมะซอนของเปรู. เชื่อกันอีกด้วยว่าชนเผ่าเหล่านี้ 14 เผ่าตัดขาดจากโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิง. หลังจากได้สัมผัสกับสังคม “ที่เจริญแล้ว” ชนเผ่าเหล่านี้ก็ได้ถอยร่นเข้าไปในป่าลึก โดยหวังว่าจะไม่มีการติดต่อใด ๆ อีก.
คนป่าเหล่านั้นมาอยู่ที่นี่ตั้งแต่เมื่อไร และพวกเขามาจากที่ไหน? ผู้เชี่ยวชาญคาดคะเนว่าหลายร้อยปีก่อนสากลศักราช ผู้อพยพกลุ่มแรกมาจากทางเหนือ. เผ่าจิวาโร (มีชื่อเสียงในการทำให้หัวศัตรูหดเล็กลงหลังจากถูกฆ่า) มาจากแถบแคริบเบียน; และเผ่าอาราวักมาจากเวเนซุเอลา. เชื่อกันว่าเผ่าอื่น ๆ มาจากบราซิลซึ่งอยู่ทางตะวันออกและปารากวัยซึ่งอยู่ทางใต้.
เมื่อลงหลักปักฐานได้แล้ว เผ่าต่าง ๆ ส่วนใหญ่ดูเหมือนจะท่องไปในเขตแดนของตนเอง ล่าสัตว์และหาพืชผักเป็นอาหาร. พวกเขายังปลูกพืชไม่กี่ชนิดซึ่งเหมาะกับดินที่เป็นกรด เช่น มันสำปะหลัง, พริก, กล้วย, และข้าวโพด. ผู้บันทึกเหตุการณ์ชาวสเปนสังเกตว่าบางชนเผ่ามีการจัดระเบียบเป็นอย่างดี, คิดสร้างที่เก็บอาหาร, และคิดวิธีเลี้ยงสัตว์ป่า.
ความขัดแย้งทางวัฒนธรรม
ระหว่างศตวรรษที่ 16 และ 17 นักล่าอาณานิคมชาวสเปนรุกล้ำเข้าไปในป่าแอมะซอน. ที่ตามพวกเขามาติด ๆ ก็
คือพวกมิชชันนารีคณะเยสุอิตและฟรานซิสกันซึ่งตั้งใจจะเปลี่ยนชนพื้นเมืองให้มานับถือศาสนาโรมันคาทอลิก. มิชชันนารีเหล่านั้นได้ทำแผนที่ที่ดีเยี่ยมซึ่งทำให้ชาวยุโรปเริ่มสนใจแอมะซอน. แต่มิชชันนารีก็นำโรคภัยและความหายนะเข้ามาในพื้นที่ด้วย.ตัวอย่างเช่น ในปี 1638 มีการก่อตั้งสถานที่เผยแพร่ศาสนาในเขตที่ตอนนี้เรียกว่าจังหวัดไมนัส. มิชชันนารีต้อนคนพื้นเมืองจากเผ่าต่าง ๆ ที่เป็นศัตรูกันมาอยู่รวมกัน และบังคับพวกเขาให้รับเอาวิถีชีวิตแบบชุมชน. ด้วยเหตุผลที่ “ดี” อะไรหรือ? เนื่องจากชนพื้นเมืองถูกมองว่าเป็นคนโง่เขลาและต่ำต้อย จึงถูกบังคับให้ทำงานให้พวกมิชชันนารีและนักล่าอาณานิคม. การติดต่อใกล้ชิดกับชาวยุโรปทำให้ชนพื้นเมืองหลายพันคนเสียชีวิตด้วยโรคหัด, ไข้ทรพิษ, โรคคอตีบ, และโรคเรื้อน. อีกหลายพันคนเสียชีวิตเพราะความอดอยาก.
ชาวอินเดียนแดงหลายคนหนีออกจากสถานที่เผยแพร่ศาสนาซึ่งก่อตั้งโดยคณะผู้สอนศาสนาต่าง ๆ และมิชชันนารีหลายสิบคนถูกสังหารเมื่อเกิดการลุกฮือขึ้น. ที่จริง ช่วงหนึ่งในตอนต้นศตวรรษที่ 19 มีบาทหลวงเพียงคนเดียวเหลืออยู่ในเขตแอมะซอน.
ทุกวันนี้พวกเขาอยู่กันอย่างไร?
ทุกวันนี้ ชนพื้นเมืองหลายเผ่ายังคงดำเนินชีวิตแบบดั้งเดิม. ตัวอย่างเช่น พวกเขาสร้างบ้านตามแบบที่ใช้กันมานานแล้ว คือทำโครงขึ้นด้วยเสาไม้ที่ตัดจากป่าแล้วมุงด้วยใบปาล์มหรือพืชชนิดอื่น ๆ. เนื่องจากบ้านมีใต้ถุนสูง ช่วงน้ำหลากประจำปีจึงไม่เป็นปัญหาสำหรับพวกเขา อีกทั้งสัตว์ป่าที่เป็นอันตรายก็ไม่ค่อยจะบุกรุกเข้าไปในบ้าน.
ชนเผ่าต่าง ๆ แต่งกายและประดับตัวหลายแบบต่างกัน. ชายหญิงที่อาศัยในป่าลึกนุ่งผ้าเตี่ยวหรือกระโปรงสั้นทำด้วย
วัสดุที่นำมาถักทอ ส่วนเด็ก ๆ ไม่ใส่เสื้อผ้า. คนที่ได้ติดต่อโลกภายนอกจะใส่เสื้อผ้าตามแบบผู้คนทางตะวันตก. ชนพื้นเมืองบางเผ่าเจาะจมูกหรือเจาะหูแล้วใส่ห่วง, ใส่ก้านไม้, กระดูก, หรือขนนก. ส่วนเผ่าอื่น ๆ เช่น มาโยรูนา ก็เจาะแก้ม. คนเผ่าตูคูนาและจิวาโรบางคนถึงกับตะไบฟันของตน. หลายเผ่าขจัดขนตามร่างกายและสักบนผิวหนัง.ผู้คนในเขตแอมะซอนรู้จักพืชนับพัน ๆ ชนิดและป่าเป็นเสมือนตู้ยาสำหรับพวกเขา. พวกเขาสกัดพืชเป็นยา เช่น ยาแก้พิษงู ยารักษาโรคบิดและโรคผิวหนังเป็นต้น. นานก่อนชาวยุโรปค้นพบยางพารา ชาวแอมะซอนเคยกรีดลำต้นยางพาราและใช้น้ำยางทาตะกร้าเพื่อกันน้ำรั่ว และทำลูกบอลยางเพื่อนำมาเล่น. ผืนป่ายังมีสิ่งจำเป็นต่าง ๆ สำหรับการขนส่งและการสื่อสารทางไกลด้วย. อย่างเช่น พวกผู้ชายจะโค่นต้นไม้และขุดท่อนซุงทำเรือแคนู ซึ่งใช้สัญจรไปตามแม่น้ำ และพวกเขาคว้านท่อนซุงขนาดใหญ่ให้กลวงทำเป็นกลองที่ใช้ตีเพื่อส่งข่าวสารไปได้ไกลมาก!
อิทธิพลของหมอผีและการถือโชคลาง
ผู้อาศัยในแอมะซอนเชื่อว่าในป่ามีวิญญาณเร่ร่อนอยู่ทั่วไปตอนกลางคืน, ผีที่ทำให้เจ็บป่วย, และเทพเจ้าที่สิงสถิตอยู่ตามแม่น้ำกำลังจ้องคอยเหยื่อที่ไม่ทันระวังตัว. ตัวอย่างคือเผ่าอากัวรูนา เผ่าที่ใหญ่ที่สุดเผ่าหนึ่งในเปรู. พวกเขานับถือเทพเจ้าห้าองค์คือ “เทพเจ้าแห่งนักรบ,” “เทพเจ้าแห่งน้ำ,” “เทพธิดาแห่งพิภพ,” “เทพเจ้าแห่งอาทิตย์,” และ “เทพเจ้าแห่งหมอผี.” หลายคนเชื่อว่ามีคนถูกสาปให้กลายเป็นต้นไม้และสัตว์. เนื่องจากกลัวผีและวิญญาณ คนพื้นเมืองจึงไม่ยอมฆ่าสัตว์บางชนิดและจะล่าสัตว์บางชนิดเฉพาะเมื่อจำเป็นเท่านั้น.
พวกหมอผีเป็นผู้นำทางศาสนาและสังคมของชนพื้นเมือง. พวกเขาใช้พืชที่ทำให้เกิดอาการประสาทหลอนเพื่อเข้าสู่ภวังค์. ชาวบ้านบางคนหวังพึ่งคนเหล่านี้เพื่อให้รักษาโรค, ทำนายผลของการล่าสัตว์และการเพาะปลูก, และทำนายเหตุการณ์อื่น ๆ ในอนาคต.
แอมะซอนจะสูญหายไปไหม?
โลกแห่งชนเผ่าแอมะซอนกำลังหดหายไปเรื่อย ๆ. ถนนหลวงสายใหม่ ๆ ตัดผ่านป่า. ฟาร์มและไร่โกโก้กินพื้นที่ป่ามากขึ้นเรื่อย ๆ. การลักลอบตัดไม้ทำให้ป่าใหญ่โล่งเตียน ทำลายพื้นที่แต่ละวันเท่ากับสนามฟุตบอล 1,200 สนาม! แม้แต่ลำน้ำก็ได้รับผลเสียหายเนื่องจากการทำเหมืองอย่างถูกกฎหมายและการลอบผลิตโคเคนได้ก่อมลพิษแก่แม่น้ำสาขาต่าง ๆ ที่รวมกันเป็นแม่น้ำแอมะซอน.
ที่จริง ผู้คนที่อยู่โดดเดี่ยวในแอมะซอนกำลังประสบผลกระทบจากการมีชีวิตในสมัยที่คัมภีร์ไบเบิลพยากรณ์ว่าเป็น “วิกฤตกาลซึ่งยากจะรับมือได้.” (2 ติโมเธียว 3:1-5) ป่าแอมะซอนจะต้องถึงกาลอวสานอย่างนั้นไหม? คัมภีร์ไบเบิลให้คำรับรองว่าจะไม่เป็นเช่นนั้น. ภายใต้การปกครองแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้า แผ่นดินโลกทั้งสิ้นจะกลายเป็นอุทยาน ดังที่พระผู้สร้างทรงประสงค์ไว้.—ยะซายา 35:1, 2; 2 เปโตร 3:13
[ภาพหน้า 16]
แม่น้ำแอมะซอน
[ภาพหน้า 17]
เผ่าอากัวรูนานับถือเทพเจ้าห้าองค์
[ภาพหน้า 17]
ผู้หญิงเผ่าลามาส
[ภาพหน้า 18, 19]
คนพื้นเมืองแอมะซอนกำลังเป่าลูกดอก
[ที่มาภาพ]
© Renzo Uccelli/PromPerú
[ภาพหน้า 18]
บ้านทั่ว ๆ ไปในป่า
[ภาพหน้า 19]
มีการลักลอบตัดไม้ในพื้นที่เท่ากับสนามฟุตบอล 1,200 สนามในแต่ละวัน
[ที่มาภาพ]
© José Enrique Molina/age fotostock
[ที่มาภาพหน้า 16]
© Alfredo Maiquez/age fotostock
[ที่มาภาพหน้า 17]
Top: © Terra Incógnita/PromPerú; bottom: © Walter Silvera/PromPerú