ควบคุมเวลาของคุณ
ควบคุมเวลาของคุณ
“มีวาระกำหนดไว้สำหรับทุกสิ่ง.”—ท่านผู้ประกาศ 3:1
เพื่อจะใช้เวลาสำหรับสิ่งสำคัญจริง ๆ คุณจำเป็นต้องรู้ว่าสิ่งเหล่านั้นมีอะไรบ้าง. การรู้เช่นนี้จะง่ายขึ้นถ้าคุณเข้าใจชัดเจนว่าสิ่งใดมีค่าสำหรับคุณ, เข้าใจเป้าหมาย, และกิจกรรมเฉพาะอย่างซึ่งจะช่วยสนับสนุนเป้าหมายเหล่านี้.
ประการแรก คุณต้องระบุให้ชัดเจนว่าสิ่งใดมีค่า สำหรับคุณ. ลองเขียนสิ่งที่คุณถือว่ามีค่าเท่าที่คุณนึกออกลงในกระดาษ เช่น ครอบครัว, มิตรภาพ, ความขยันขันแข็ง, การศึกษา, ความสำเร็จ, รูปร่างหน้าตาดี, เงิน, ความสุข, การสมรส, ความกรุณา, สุขภาพร่างกาย, ศาสนา. แล้วถามตัวเองว่า ‘ในสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด อย่างไหนมีค่าที่สุดสำหรับฉัน?’
ต่อจากนั้น คิดถึงเป้าหมาย ทุกอย่างที่คุณอยากทำให้สำเร็จในชีวิต. อะไรคือความแตกต่างระหว่างสิ่งที่คุณถือว่ามีค่าและเป้าหมาย? ในกรณีนี้ เราอาจพูดได้ว่าสิ่งที่ถือว่ามีค่าจะคงอยู่เรื่อยไป ส่วนเป้าหมายนั้นเมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะสำเร็จและถือว่าได้บรรลุแล้ว.
คุณอาจตั้งเป้าหมายอะไรให้ตัวเองได้? คุณอยากใช้เวลา
กับครอบครัวให้มากขึ้นไหม? หางานที่เหมาะกว่านี้ไหม? ฝึกทำงานอดิเรกให้เชี่ยวชาญมากขึ้นไหม? หางานอดิเรกใหม่ไหม? เสริมสร้างคุณลักษณะบางอย่างไหม? พักร้อนไหม? อ่านหนังสือสักเล่มไหม? เขียนหนังสือสักเล่มไหม?จากนั้น ตัดสินใจว่าเป้าหมายใดสำคัญที่สุดสำหรับคุณ. ตรวจให้แน่ใจว่าเป้าหมายนั้นตรงกับสิ่งที่คุณถือว่ามีค่า. ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณตั้งเป้าหมายจะเป็นมหาเศรษฐี คุณก็คงจะสร้างความขัดแย้งในตัวเอง.
ทีนี้ ให้คิดว่ามีกิจกรรมอะไรบ้างซึ่งจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายแต่ละอย่างได้. เพื่อเป็นตัวอย่าง ถ้าเป้าหมายอย่างหนึ่งคือการลดน้ำหนัก การออกกำลังกายก็เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้คุณทำอย่างนั้นได้.
การวิเคราะห์เช่นนี้ช่วยคุณได้อย่างไร?
ถ้าเป้าหมายของคุณประสานกับสิ่งที่คุณถือว่ามีค่า และคุณทำตามกิจกรรมที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายเหล่านั้น ชีวิตคุณก็จะมีทิศทางที่แน่นอน. คุณจะพบว่าคุณได้ใช้เวลามากขึ้นกับสิ่งสำคัญสำหรับคุณ. แน่นอน นี่ไม่ได้หมายความว่าคุณจะเพิกเฉยต่อความจำเป็นและความต้องการของผู้อื่น. (ฟิลิปปอย 2:4) แต่นั่นหมายความว่าคุณจะสามารถเข้าใจดีขึ้นว่าสิ่งใดไม่ใช่สิ่งสำคัญจริง ๆ และจะปฏิเสธโอกาสเหล่านั้น.
จริงอยู่ ย่อมมีปัญหาบ้าง. งานบางอย่างไม่สู้สำคัญแต่ก็ต้องทำอยู่ดี. งานเหล่านี้อาจทำให้คุณยุ่งทั้งวัน จนไม่มีเวลาทำสิ่งที่คุณถือว่าสำคัญที่สุด. เหตุฉุกเฉินอาจเกิดขึ้นได้. และเมื่อสภาพการณ์ในชีวิตเปลี่ยนไป ตารางเวลาของคุณก็ยุ่งเหยิงไปด้วย. แต่โดยทำตามขั้นตอนเพื่อใช้เวลามากขึ้นกับสิ่งที่สำคัญ คุณก็จะควบคุมเวลาและชีวิตของคุณได้ดีขึ้น.
[กรอบ/ภาพหน้า 6]
เครื่องออร์แกไนเซอร์ช่วยประหยัดเวลาไหม?
อุปกรณ์เหล่านี้ช่วยประหยัดเวลาสำหรับบางคน แต่เป็นการเสียเวลาสำหรับคนอื่น. ตัวอย่างเช่น เครื่องช่วยงานส่วนบุคคลแบบดิจิตอล หรือพีดีเอ อาจมีส่วนต่าง ๆ เช่น ปฏิทิน, รายการเลขหมายโทรศัพท์และที่อยู่, รายการสิ่งที่ต้องทำ, โปรแกรมประมวลคำ, โปรแกรมจดเตือนความจำ, กล้องถ่ายรูป, และสามารถเปิดอีเมลและอินเทอร์เน็ตได้. คุณอาจใช้อุปกรณ์เหล่านี้เพื่อประหยัดเวลาถ้าคุณปรับข้อมูลให้ทันสมัยและพกพามันไปด้วย. อย่างไรก็ตาม คุณอาจเสียเวลาได้ง่าย ๆ ถ้าคุณเปิดดูอะไรไปเรื่อยเปื่อย, มัวแต่เล่นกับเครื่อง, ปรับโน่นปรับนี่, หรือถ้าคุณซื้ออุปกรณ์เสริมที่ไม่จำเป็น หรือปล่อยให้อุปกรณ์นั้นมาขัดขวางสายสัมพันธ์ หรือหน้าที่รับผิดชอบที่สำคัญ.
ข้อแนะ: ให้หาข้อมูลก่อนซื้อ. ถ้าอุปกรณ์เหล่านี้เสียบ่อย ๆ ก็ต้องเสียเวลามากเพื่อซ่อมมัน. นอกจากนั้น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใด ๆ จะมีประโยชน์เต็มที่ก็ต่อเมื่อเราใช้เป็น. ฉะนั้น ถ้าคุณมีอยู่แล้ว จงใช้เพื่อประหยัดเวลา ไม่ใช่เสียเวลาไปกับมัน.
[ภาพหน้า 4, 5]
คุณจะจัดเวลาสำหรับสิ่งสำคัญจริง ๆ ได้ไหม?