ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ทัศนะ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล

คริสเตียนควรเผยแพร่แก่คนอื่นไหม?

คริสเตียนควรเผยแพร่แก่คนอื่นไหม?

บาง​ที​วิธี​ที่​คุณ​ถูก​เลี้ยง​ดูมา​หรือ​วัฒนธรรม​ใน​ท้องถิ่น​ของ​คุณ​อาจ​กำหนด​ว่า​ไม่​ควร​ยก​เรื่อง​ศาสนา​ขึ้น​มา​พูด​นอก​วง​ครอบครัว​หรือ​นอก​โบสถ์. ดัง​นั้น คุณ​อาจ​ไม่​พอ​ใจ​ถ้า​มี​คน​ถือ​คัมภีร์​ไบเบิล​มา​หา​คุณ​ที่​บ้าน​โดย​ไม่​ได้​บอก​ล่วง​หน้า. บาง​คน​มี​ทัศนะ​เช่น​นี้​เนื่อง​จาก​การ​กระทำ​อัน​รุนแรง​ใน​ประวัติศาสตร์​ของ​ศาสนา​โดย​อ้าง​ว่า​ทำ​ไป​เพื่อ​ช่วย​ชีวิต​ผู้​คน.

ประวัติศาสตร์​ของ​หลาย​ประเทศ​มี​เรื่อง​ราว​เกี่ยว​กับ​การ​เปลี่ยน​ศาสนา​ของ​ผู้​คน​เป็น​กลุ่ม​ใหญ่ ไม่​ใช่​เพราะ​ถูก​กระตุ้น​ด้วย​ความ​รัก​ต่อ​พระ​คริสต์ แต่​เพราะ​ถูก​บังคับ​ด้วย​คม​ดาบ. หลาย​คน​หนี​ไป​ซ่อน​ตัว, ออก​จาก​บ้าน​หรือ​ประเทศ​ของ​ตน, หรือ​กระทั่ง​เสีย​ชีวิต​โดย​ที่​บาง​คน​ถูก​เผา​ติด​กับ​หลัก แทน​ที่​จะ​ยอม​เปลี่ยน​ไป​นับถือ​ศาสนา​ของ​ผู้​กดขี่.

ข้อ​เขียน​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ไม่​สนับสนุน​การ​บังคับ​ให้​เปลี่ยน​ศาสนา​เช่น​นั้น. แต่​นี่​หมายความ​ว่า​การ​บอก​เล่า​ความ​เชื่อ​ทาง​ศาสนา​ของ​ตัว​เอง​ให้​คน​อื่น​ฟัง​เป็น​สิ่ง​ที่​ทำ​ไม่​ได้​อย่าง​นั้น​ไหม? คัมภีร์​ไบเบิล​ให้​คำ​ตอบ.

สอน​อย่าง​ผู้​มี​อำนาจ

ก่อน​อื่น ขอ​พิจารณา​แบบ​อย่าง​ที่​พระ​เยซู​คริสต์​ทรง​วาง​ไว้. พระองค์​ทรง​เป็น​ครู​ที่​เชี่ยวชาญ​ซึ่ง​มี​อิทธิพล​ต่อ​ชีวิต​ของ​ผู้​ที่​ฟัง​พระองค์. (โยฮัน 13:13, 15) ใน​คำ​เทศน์​บน​ภูเขา พระองค์​ทรง​สอน​อย่าง​ที่​เข้าใจ​ได้​ง่าย. ผล​คือ​ผู้​ฟัง “อัศจรรย์​ใจ​ด้วย​คำ​สั่ง​สอน​ของ​พระองค์ เพราะ​ว่า​พระองค์​ได้​ทรง​สั่ง​สอน​เขา​ดุจ​ผู้​มี​อาชญา.” (มัดธาย 7:28, 29) ประมาณ 2,000 ปี​ต่อ​มา คำ​สอน​ของ​พระองค์​ก็​ยัง​ส่ง​ผล​กระทบ​ต่อ​ชีวิต​ผู้​คน​ที่​พิจารณา​คำ​สอน​นั้น. ศาสตราจารย์​ฮันส์ ดีเทอร์ เบทซ์ กล่าว​ยืน​ยัน​เรื่อง​นี้​ว่า “โดย​ทั่ว​ไป​แล้ว คำ​เทศน์​บน​ภูเขา​นั้น​มี​ผล​กระทบ​กว้าง​ไกล​กว่า​ใน​แวดวง​ของ​ศาสนา​ยิว​และ​ศาสนา​คริสเตียน หรือ​แม้​แต่​ใน​วัฒนธรรม​ตะวัน​ตก​ด้วย​ซ้ำ.”

ไม่​นาน​ก่อน​พระองค์​เสด็จ​สู่​สวรรค์ พระ​เยซู​ทรง​ให้​พระ​บัญชา​ซึ่ง​รับรอง​ว่า​หลัง​จาก​พระองค์​สิ้น​พระ​ชนม์ งาน​สอน​ที่​พระองค์​ทรง​เริ่ม​ไว้​จะ​ดำเนิน​ต่อ​ไป​และ​ถึง​กับ​เจริญ​ก้าว​หน้า​ขึ้น​ด้วย. (โยฮัน 14:12) พระองค์​ทรง​สั่ง​เหล่า​สาวก​ให้​ไป​หา​คน​ทุก​ชาติ “สอน​เขา​ให้​ถือ​รักษา​สิ่ง​สารพัตร” ซึ่ง​พระองค์​ทรง​บัญชา​ไว้. มี​การ​ทำ​ให้​จุด​ประสงค์​หลัก​ของ​งาน​มอบหมาย​นี้​กระจ่าง​ชัด​เมื่อ​พระ​เยซู​ทรง​ตรัส​ใน​ประโยค​เดียว​กัน​นี้​ว่า “เหตุ​ฉะนั้น​ท่าน​ทั้ง​หลาย​จง​ออก​ไป​สั่ง​สอน​ชน​ทุก​ประเทศ​ให้​เป็น​สาวก.”มัดธาย 28:19, 20; กิจการ 1:8.

นอก​จาก​นั้น ลอง​พิจารณา​ตัว​อย่าง​ของ​อัครสาวก​เปาโล. หลัง​จาก​ที่​ท่าน​เอง​เปลี่ยน​มา​นับถือ​ศาสนา​คริสเตียน ท่าน​ไม่​ลังเล​ที่​จะ​แบ่ง​ปัน​ความ​เชื่อ​ที่​ท่าน​เพิ่ง​พบ. (กิจการ 9:17-19, 22) เป็น​กิจวัตร​ของ​เปาโล​ที่​จะ​บรรยาย​ใน​ธรรมศาลา​และ “ชี้​แจง​ให้​เห็น​ว่า​จำเป็น​ที่​พระ​คริสต์​ต้อง​ทน​ทุกข์​ทรมาน​แล้ว​ทรง​คืน​พระ​ชนม์. ... ท่าน​ได้​อ้าง​ข้อ​ความ​ใน​พระ​คัมภีร์​โต้​ตอบ​กับ​เขา” ด้วย​ความ​ชำนาญ​เพื่อ​จะ “ชักชวน [“โน้ม​น้าว​ใจ,” ล.ม.] ทั้ง​ชาติ​ยูดาย และ​ชาติ​เฮเลน​ให้​เชื่อ.” ตาม​แหล่งอ้างอิง​แหล่ง​หนึ่ง คำ​ภาษา​กรีก​ที่​ได้​รับ​การ​แปล​ว่า “โน้ม​น้าว​ใจ” หมาย​ถึง “การ​ทำ​ให้​เกิด​การ​เปลี่ยน​ความ​คิด​โดย​อาศัย​เหตุ​ผล​หรือ​การ​ไตร่ตรอง​ทาง​ศีลธรรม.” ผล​จาก​การ​หา​เหตุ​ผล​ที่​โน้ม​น้าว​ใจ​ของ​เปาโล​คือ ท่าน “ได้​เกลี้ยกล่อม​ใจ​คน​เป็น​อัน​มาก​ให้​เลิก​ทาง​เก่า​เสีย.”—กิจการ 15:3; 17:1-4, 17; 18:4; 19:26.

การ​บังคับ​หรือ​การ​โน้ม​น้าว​ใจ—อย่าง​ไหน?

ใน​ปัจจุบัน มี​การ​ใช้​คำ “การ​ชักจูง​ผู้​คน​ให้​เปลี่ยน​ศาสนา” เพื่อ​หมาย​ถึง​การ​บังคับ​ให้​เปลี่ยน​ความ​เชื่อ​ด้วย​วิธี​ใด​วิธี​หนึ่ง. คัมภีร์​ไบเบิล​ไม่​ได้​สนับสนุน​การ​ทำ​อย่าง​นั้น. ตรง​กัน​ข้าม คัมภีร์​ไบเบิล​สอน​ว่า​มนุษย์​ถูก​สร้าง​ให้​มี​เจตจำนง​เสรี​พร้อม​ทั้ง​มี​สิทธิ​และ​ความ​รับผิดชอบ​ใน​การ​เลือก​ว่า​จะ​ดำเนิน​ชีวิต​อย่าง​ไร. นี่​รวม​ถึง​การ​ตัดสิน​ใจ​ว่า จะ​นมัสการ​พระเจ้า​อย่าง​ไร.—พระ​บัญญัติ 30:19, 20; ยะโฮซูอะ 24:15.

พระ​เยซู​ทรง​เคารพ​สิทธิ​ที่​พระเจ้า​ทรง​ประทาน​ให้​นี้​โดย​ไม่​เคย​ใช้​ฤทธิ์​อำนาจ​อัน​น่า​เกรง​ขาม​ของ​พระองค์​เพื่อ​บังคับ​ขู่เข็ญ​คน​หนึ่ง​คน​ใด​ให้​ยอม​รับ​คำ​สอน​ของ​พระองค์. (โยฮัน 6:66-69) พระองค์​ทรง​กระตุ้น​ผู้​ฟัง​โดย​ใช้​การ​หา​เหตุ​ผล​ที่​หนักแน่น, ตัว​อย่าง​ประกอบ, และ​คำ​ถาม​หยั่ง​ทัศนะ ทั้ง​หมด​นี้​เพื่อ​เข้า​ถึง​หัวใจ​ของ​พวก​เขา. (มัดธาย 13:34; 22:41-46; ลูกา 10:36) พระ​เยซู​ทรง​สอน​เหล่า​สาวก​ให้​แสดง​ความ​เคารพ​แบบ​เดียว​กัน​นี้​ต่อ​คน​อื่น.—มัดธาย 10:14.

เห็น​ได้​ชัด​ว่า​เปาโล​ยึด​ถือ​พระ​เยซู​เป็น​แบบ​อย่าง​สำหรับ​งาน​รับใช้​ของ​ท่าน. ขณะ​ที่​ท่าน​โน้ม​น้าว​ใจ​ผู้​ฟัง​ด้วย​การ​หา​เหตุ​ผล​อย่าง​หนักแน่น​ตาม​หลัก​พระ​คัมภีร์ เปาโล​ก็​นับถือ​ความ​รู้สึก​และ​ทัศนะ​ของ​คน​อื่น. (กิจการ 17:22, 23, 32) ท่าน​เข้าใจ​ว่า สิ่ง​ที่​กระตุ้น​ใจ​เรา​ให้​รับใช้​พระ​ผู้​สร้าง​ต้อง​เป็น​ความ​รัก​ต่อ​พระเจ้า​และ​ต่อ​พระ​คริสต์. (โยฮัน 3:16; 21:15-17) ดัง​นั้น การ​ตัดสิน​ใจ​ของ​เรา​จึง​เป็น​เรื่อง​ส่วน​ตัว.

การ​ตัดสิน​ใจ​ส่วน​ตัว

เมื่อ​ทำ​การ​ตัดสิน​ใจ​เรื่อง​ที่​สำคัญ​ใน​ชีวิต เช่น จะ​ซื้อ​บ้าน​แบบ​ไหน, จะ​ทำ​งาน​ที่​ไหน, และ​จะ​เลี้ยง​ดู​บุตร​อย่าง​ไร คน​ที่​มี​เหตุ​ผล​จะ​ไม่​ตัดสิน​ใจ​อย่าง​หุนหัน. พวก​เขา​อาจ​ศึกษา​ทาง​เลือก​ต่าง​ๆ, ไตร่ตรอง​เกี่ยว​กับ​สิ่ง​ที่​ได้​ค้น​พบ, และ​คง​จะ​ขอ​คำ​แนะ​นำ​จาก​คน​อื่น. หลัง​จาก​ได้​พิจารณา​สิ่ง​เหล่า​นี้​ทั้ง​หมด​แล้ว​เขา​จึง​จะ​ตัดสิน​ใจ.

เมื่อ​ตัดสิน​ใจ​ว่า​เรา​ควร​นมัสการ​พระเจ้า​อย่าง​ไร เรา​น่า​จะ​ใช้​เวลา​และ​ความ​บากบั่น​มาก​กว่า​การ​ตัดสิน​ใจ​เรื่อง​อื่น​ๆ​ใน​ชีวิต. สิ่ง​ที่​เรา​ตัดสิน​ใจ​จะ​มี​ผล​กระทบ​ต่อ​วิธี​ที่​เรา​ดำเนิน​ชีวิต​ใน​ปัจจุบัน และ​ที่​สำคัญ​ยิ่ง​กว่า​คือ สิ่ง​นั้น​จะ​ส่ง​ผล​กระทบ​ต่อ​ความ​หวัง​เรื่อง​ชีวิต​นิรันดร์​ใน​อนาคต. คริสเตียน​สมัย​ศตวรรษ​แรก​ใน​เมือง​เบรอยะ​เข้าใจ​เรื่อง​นี้​ดี. แม้​ว่า​อัครสาวก​เปาโล​เอง​เป็น​ผู้​ประกาศ​ข่าว​ดี​แก่​พวก​เขา แต่​พวก​เขา​ก็​ยัง​ตรวจ​สอบ​พระ​คัมภีร์​อย่าง​ถี่ถ้วน​ทุก​วัน​เพื่อ​จะ​แน่​ใจ​ว่า​สิ่ง​ที่​พวก​เขา​ได้​รับ​การ​สอน​นั้น​เป็น​เรื่อง​จริง. ผล​คือ “มี​หลาย​คน​ใน​พวก​เขา​ได้​เชื่อถือ.”—กิจการ 17:11, 12.

ปัจจุบัน พยาน​พระ​ยะโฮวา​ยัง​คง​ทำ​การ​สอน​และ​ทำ​คน​ให้​เป็น​สาวก​ตาม​ที่​พระ​เยซู​ทรง​จัด​ระเบียบ​ไว้. (มัดธาย 24:14) พวก​เขา​นับถือ​สิทธิ​ของ​คน​อื่น​ที่​จะ​มี​ศาสนา​ของ​ตน​เอง. แต่​ใน​เรื่อง​การ​แบ่ง​ปัน​ความ​เชื่อ​ทาง​ศาสนา​แก่​คน​อื่น​ๆ​พวก​เขา​ทำ​ตาม​แบบ​อย่าง​ที่​มี​อยู่​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. ถูก​แล้ว พวก​เขา​ทำ​งาน​ที่​เขา​ถือ​ว่า​เป็น​การ​ช่วย​ชีวิต​ผู้​คน​โดย​ใช้​การ​หา​เหตุ​ผล​ที่​ซื่อ​สัตย์​จาก​พระ​คัมภีร์.—โยฮัน 17:3; 1 ติโมเธียว 4:16.