ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

มีผู้ออกแบบไหม?

ความสามารถในการเปลี่ยนสีของหมึกกระดอง

ความสามารถในการเปลี่ยนสีของหมึกกระดอง

หมึกกระดองสามารถเปลี่ยนสีและพรางตัวได้แนบเนียนมากจนมนุษย์แทบจะจับสังเกตไม่ได้ รายงานหนึ่งกล่าวไว้ว่า หมึกกระดอง “ขึ้นชื่อว่ามีลวดลายหลากหลายรูปแบบและสามารถเปลี่ยนลายสลับไปสลับมาได้เร็วจนแทบไม่น่าเชื่อ” พวกมันทำแบบนี้ได้อย่างไร?

ลองคิดดู: หมึกกระดองเปลี่ยนสีได้โดยอาศัยโครมาโตฟอร์ ซึ่งเป็นเซลล์พิเศษที่อยู่ใต้ผิวหนัง เซลล์โครมาโตฟอร์เหล่านี้จะมีถุงที่เต็มไปด้วยเม็ดสีอยู่ข้างในและมีกล้ามเนื้อขนาดจิ๋วหุ้มอยู่รอบนอก เวลาที่หมึกกระดองต้องการพรางตัว สมองของมันจะส่งสัญญาณไปสั่งให้กล้ามเนื้อเหล่านั้นหดตัว ถุงสีก็จะขยายตัวออก ทำให้หมึกกระดองเปลี่ยนสีเปลี่ยนลายสลับไปสลับมาได้ หมึกกระดองเปลี่ยนสีสันไม่ใช่เพื่อพรางตัวเท่านั้น แต่ยังใช้เพื่อสื่อสารและเพื่อดึงดูดความสนใจตอนหาคู่ด้วย

วิศวกรของมหาวิทยาลัยบริสตอลในอังกฤษได้สร้างหนังเทียมเลียนแบบหนังของหมึกกระดอง พวกเขาเอาอุปกรณ์เล็ก ๆ มาประกบกันโดยใส่แผ่นยางสีดำไว้ตรงกลาง อุปกรณ์นี้ทำหน้าที่เหมือนกับกล้ามเนื้อของหมึกกระดอง พอนักวิจัยปล่อยกระแสไฟฟ้าไปที่แผ่นหนังเทียม อุปกรณ์เล็ก ๆ นี้จะบีบแผ่นยางสีดำให้แผ่ออก จึงทำให้สีของหนังเทียมดูเข้มขึ้น

วิศวกรที่ชื่อโจนาธาน โรซิเตอร์ ซึ่งศึกษาวิจัยเรื่องกล้ามเนื้อของหมึกกระดอง บอกว่า “โครงสร้างอ่อนนุ่มที่ธรรมชาติสร้างขึ้นนี้ยอดเยี่ยมจริง ๆ” งานวิจัยนี้อาจนำไปสู่การพัฒนาผ้าที่สามารถเปลี่ยนสีได้ในชั่วพริบตา โรซิเตอร์บอกว่า เราอาจใส่เสื้อผ้าที่ผลิตขึ้นโดยอาศัยแรงบันดาลใจจากหมึกกระดองเพื่อพรางตัวหรือเพื่อเป็นแฟชั่น

คุณคิดอย่างไร? ความสามารถในการเปลี่ยนสีของหมึกกระดองเกิดขึ้นโดยวิวัฒนาการหรือมีผู้ออกแบบ?