ระบบประสาทลำไส้—“สมองที่สอง” ของร่างกายคุณ
คุณมีกี่สมอง? ถ้าคุณตอบว่า “หนึ่ง” คุณก็ตอบถูก แต่ที่จริงแล้วร่างกายคุณมีระบบประสาทหลายระบบ มีระบบประสาทหนึ่งที่ครอบคลุมบริเวณกว้างและนักวิทยาศาสตร์บางคนถึงกับเรียกระบบประสาทนี้ว่า “สมองที่สอง” ซึ่งก็คือ ระบบประสาทลำไส้ (Enteric Nervous System: ENS) แน่นอน สมองที่สองนี้ไม่ได้อยู่ที่หัวแต่ส่วนใหญ่อยู่ในท้องของคุณ
การที่ร่างกายของเราจะเปลี่ยนอาหารให้เป็นพลังงานนั้นเป็นงานหนักและต้องอาศัยการทำงานที่ประสานกันอย่างดีของร่างกาย ดังนั้น จึงเหมาะสมที่สมองถูกออกแบบมาให้มอบหน้าที่ในการย่อยอาหารเกือบทั้งหมดให้กับระบบประสาทลำไส้
ถึงแม้ระบบประสาทลำไส้จะมีความเรียบง่ายกว่าสมอง แต่ก็ยังมีความซับซ้อนมาก เพราะระบบประสาทลำไส้ในร่างกายมนุษย์มีเซลล์ประสาทประมาณ 200-600 ล้านเซลล์ ซึ่งโครงข่ายเซลล์ประสาทที่ซับซ้อนนี้อยู่ในระบบย่อยอาหาร นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่า ถ้าหน้าที่ต่าง ๆ ของระบบประสาทลำไส้กลายเป็นหน้าที่ของสมอง เส้นประสาทต่าง ๆ ที่จำเป็นคงจะหนาเกินไป หนังสือ The Second Brain บอกไว้ว่า “ดังนั้น ถือว่าปลอดภัยและสะดวกกว่าที่จะปล่อยให้ระบบย่อยอาหารดูแลระบบของตัวเอง”
“โรงงานเคมี”
เพื่อจะย่อยอาหารได้ ต้องอาศัยส่วนผสมที่ถูกต้องขององค์ประกอบทางเคมีหลายชนิดซึ่งร่างกายจะผลิตออกมาตรงเวลาและถูกส่งไปยังตำแหน่งที่ถูกต้องอย่างแม่นยำ ศาสตราจารย์แกรี มอ อธิบายอย่างเหมาะสมเมื่อบอกว่า ระบบย่อยอาหารเป็นเหมือน “โรงงานเคมี” ขั้นตอนทางเคมีที่ซับซ้อนนี้เป็นเรื่องน่าทึ่ง เช่น ผนังลำไส้ประกอบด้วยการเรียงตัวกันของเซลล์ชนิดพิเศษที่ทำหน้าที่ตรวจจับองค์ประกอบทางเคมีหรือเปรียบเหมือนกับต่อมรับรส ซึ่งคอยจำแนกแยกแยะองค์ประกอบทางเคมีในอาหารที่คุณกิน ข้อมูลที่ได้จะช่วยให้ระบบประสาทลำไส้เลือกส่งเอนไซม์ช่วยย่อยที่ถูกต้องมาเพื่อย่อยอาหารให้เป็นอนุภาคเล็ก ๆ ที่ร่างกายสามารถดูดซึมได้ นอกจากนั้น ระบบประสาทลำไส้ยังทำหน้าที่สำคัญในการตรวจสอบความเป็นกรดและสมบัติทางเคมีอื่น ๆ ของอาหารที่ถูกย่อยเป็นอนุภาคเล็ก ๆ แล้วปรับเอนไซม์ช่วยย่อยตามความเหมาะสม
ให้ลองนึกภาพว่าทางเดินอาหารเป็นเหมือนสายพานลำเลียงในโรงงานที่เกือบทั้งหมดบริหารโดยระบบประสาทลำไส้ อาหารถูกลำเลียงผ่านระบบการย่อย โดย “สมองที่สอง” ของคุณจะสั่งกล้ามเนื้อที่ผนังทางเดินอาหารตลอดเส้นทางให้หดตัว ระบบประสาทลำไส้นี้จะปรับเปลี่ยนความแรงและความถี่ในการหดตัวของกล้ามเนื้อให้สอดคล้องกันทั้งระบบคล้ายกับเส้นทางของสายพานลำเลียงในโรงงาน
ระบบประสาทลำไส้ยังดูแลเรื่องความปลอดภัยด้วย อาหารที่คุณกินอาจมีเชื้อแบคทีเรียที่อันตราย ดังนั้น จึงไม่แปลกที่เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ของเซลล์เม็ดเลือดขาวทั้งหมดจะอยู่ในท้องของเรา ซึ่งเซลล์ชนิดนี้มีความสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เพราะฉะนั้น ถ้าคุณกินสิ่งที่เป็นอันตรายเข้าไปในปริมาณมาก ระบบประสาทลำไส้จะปกป้องร่างกายด้วยการสั่งให้มีการบีบรัดตัวอย่างรุนแรงเพื่อขับ
สารพิษออกมาให้มากที่สุดด้วยการอาเจียนหรือการถ่ายท้องการสื่อสารที่ดี
ถึงแม้ระบบประสาทลำไส้จะทำงานโดยไม่ต้องอาศัยคำสั่งจากสมอง แต่ศูนย์กลางของระบบประสาททั้งสองก็มีการติดต่อสื่อสารกันอยู่ตลอด ตัวอย่างเช่น ระบบประสาทลำไส้ทำหน้าที่ควบคุมฮอร์โมนที่บอกให้สมองรู้ว่าคุณควรกินเมื่อไรและควรกินมากแค่ไหน ระบบประสาทลำไส้จะส่งสัญญาณไปที่สมองเมื่อคุณอิ่มและอาจส่งสัญญาณให้คุณรู้สึกคลื่นไส้เมื่อคุณกินมากเกินไป
บางทีก่อนที่คุณจะได้อ่านบทความนี้ คุณอาจเคยสงสัยว่าทางเดินอาหารกับสมองมีความเกี่ยวข้องกัน ตัวอย่างเช่น คุณเคยสังเกตไหมว่า อาหารบางอย่างที่เรากินเข้าไปเหมือนจะทำให้เราอารมณ์ดีขึ้น? งานวิจัยชี้ว่า ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะระบบประสาทลำไส้ของคุณส่ง ‘สัญญาณแห่งความสุข’ ไปที่สมอง ซึ่งทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อเนื่องที่ทำให้คุณรู้สึกดีขึ้น นี่ทำให้เราเข้าใจว่าทำไมตอนเครียด ๆ หลายคนถึงชอบกินขนมหรือของหวาน ๆ นักวิทยาศาสตร์กำลังทดลองถึงความเป็นไปได้ที่จะรักษาโรคซึมเศร้าโดยใช้การกระตุ้นระบบประสาทลำไส้
อีกตัวอย่างหนึ่งของการสื่อสารระหว่างสมองและระบบย่อยอาหารคืออาการท้องไส้ปั่นป่วน อาการนี้อาจเป็นผลจากการที่ระบบประสาทลำไส้สูบฉีดเลือดออกจากระบบย่อยอาหารตอนที่สมองอยู่ในภาวะกดดันหรือเครียด อาการอีกอย่างที่อาจเกิดขึ้นคือ อาการคลื่นไส้เพราะระหว่างที่อยู่ในภาวะเครียด สมองจะกระตุ้นระบบประสาทลำไส้ให้บีบตัวผิดไปจากจังหวะปกติ
แม้ระบบประสาทลำไส้จะสื่อสารบางอย่างให้เกิดความรู้สึกเหล่านี้ได้ แต่มันก็ไม่สามารถคิดหรือช่วยคุณในการตัดสินใจได้ พูดง่าย ๆ คือ ระบบประสาทลำไส้ไม่ใช่สมองจริง ๆ ของคุณ มันไม่สามารถช่วยคุณแต่งเพลง ทำบัญชี หรือทำการบ้าน แต่ระบบที่น่ามหัศจรรย์นี้ยังคงสร้างความประหลาดใจให้นักวิทยาศาสตร์เพราะความสลับซับซ้อนของมัน ซึ่งอาจมีอีกหลายอย่างที่เรายังไม่รู้ก็ได้ ดังนั้น ก่อนที่คุณจะกินข้าวมื้อต่อไป ขอให้ลองคิดสักนิดเกี่ยวกับความสามารถในการตรวจจับ ประมวลผลข้อมูล ประสานงาน และติดต่อสื่อสารซึ่งทั้งหมดนี้กำลังจะเกิดขึ้นในระบบประสาทลำไส้ของคุณ!