เขียนโดยมัทธิว 7:1-29
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
เลิกตัดสิน: หรือ “เลิกกล่าวโทษ” พระเยซูรู้ว่าคนที่ไม่สมบูรณ์มักมีแนวโน้มที่จะตัดสินคนอื่น และพวกฟาริสีหลายคนในสมัยนั้นก็วางตัวอย่างที่ไม่ดีในเรื่องนี้ พวกเขาชอบตัดสินกล่าวโทษคนที่ไม่ได้ใช้ชีวิตตามกฎหมายของโมเสสและคนที่ไม่ได้ทำตามธรรมเนียมที่พวกเขาส่งเสริมให้ทำทั้ง ๆ ที่ธรรมเนียมเหล่านั้นไม่ได้มาจากพระคัมภีร์ พระเยซูสั่งคนที่ชอบตัดสินคนอื่นให้เลิกทำอย่างนั้น แทนที่สาวกของพระเยซูจะเอาแต่หาข้อผิดพลาดของคนอื่น พวกเขาควร “ให้อภัยคนอื่นเสมอ” โดยการทำอย่างนี้พวกเขากำลังสนับสนุนให้คนอื่นมีนิสัยให้อภัยเหมือนกัน—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 6:37
เศษผง . . . ท่อนไม้: พระเยซูกำลังใช้การเปรียบเทียบแบบเกินจริงหรืออติพจน์เมื่อพูดถึงคนที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น ท่านเปรียบความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ว่าเป็นเหมือน “เศษผง” คำกรีก คาร์ฟอส ในที่นี้อาจหมายถึงฟางหรือเสี้ยนไม้ด้วย นี่เป็นเหตุผลที่คัมภีร์ไบเบิลบางฉบับแปลคำนี้ว่า “เสี้ยนไม้” หรือ “ผงขี้เลื่อย” คนที่ชอบวิจารณ์ถือว่าคนอื่นมีมุมมองที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับพระเจ้า มีแนวคิดด้านศีลธรรมและการตัดสินใจที่บกพร่อง การที่เขาเสนอจะ “เขี่ยเศษผงออกจากตา” ของคนอื่นเป็นการโอ้อวดว่าตัวเองมีคุณสมบัติที่จะช่วยคนอื่นให้เห็นอะไร ๆ ชัดขึ้นและตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง แต่พระเยซูบอกว่าคนที่ชอบวิจารณ์นั่นแหละที่มีมุมมองไม่ถูกต้องเกี่ยวกับพระเจ้า และมีการตัดสินใจที่บกพร่อง เหมือนกับว่าพวกเขามี “ท่อนไม้” หรือคานหลังคา อยู่ในตาของตัวเอง (มธ 7:4, 5) บางคนบอกว่าการที่พระเยซูใช้ตัวอย่างเปรียบเทียบที่มีพลังและน่าขันแบบนี้แสดงว่าท่านคุ้นเคยกับงานของช่างไม้เป็นอย่างดี
คนอื่น: แปลตรงตัวว่า “พี่น้อง” ในท้องเรื่องนี้ คำกรีก อาเด็ลฟอส (พี่น้อง) หมายถึงคนที่มีความเชื่อเดียวกันซึ่งก็คือเพื่อนผู้นมัสการพระเจ้า นอกจากนั้น คำนี้ยังใช้ในความหมายกว้าง ๆ ที่หมายถึงเพื่อนมนุษย์ได้ด้วย—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 5:23
คนอวดดี: ที่ มธ 6:2, 5, 16 พระเยซูใช้คำกรีกเดียวกันนี้เพื่อพูดถึงพวกผู้นำศาสนาชาวยิว แต่ในข้อนี้พระเยซูใช้คำนี้เพื่อพูดถึงสาวกที่สนใจแต่ข้อผิดพลาดของคนอื่นและมองข้ามความผิดของตัวเอง
เอาของที่ควรถวายพระเจ้าไปให้หมา . . . โยนไข่มุกให้หมู: ตามกฎหมายของโมเสส หมูกับหมาเป็นสัตว์ที่ไม่สะอาด (ลนต 11:7, 27) กฎหมายนั้นอนุญาตให้โยนเนื้อสัตว์ที่ถูกสัตว์ป่ากัดตายให้หมากินได้ (อพย 22:31) แต่คำสอนสืบปากของชาวยิวห้ามไม่ให้เอา “เนื้อที่บริสุทธิ์” ซึ่งก็คือเนื้อสัตว์ที่ใช้เป็นเครื่องบูชาให้หมากิน คำว่า “หมา” และ “หมู” ใน มธ 7:6 เป็นคำเปรียบเทียบหมายถึงคนที่ไม่เห็นค่าความรู้ของพระเจ้า หมูที่ไม่เห็นค่าไข่มุกอาจทำร้ายคนที่เอาไข่มุกให้มัน เช่นเดียวกัน คนที่ไม่เห็นค่าความรู้ของพระเจ้าก็อาจทำไม่ดีกับคนที่ให้ความรู้นี้กับเขา
ขอต่อไปเรื่อย ๆ . . . หาต่อไปเรื่อย ๆ . . . เคาะต่อไปเรื่อย ๆ: มีการแปลว่า “ต่อไปเรื่อย ๆ” เพราะคำกริยากรีกที่ใช้ในข้อนี้อยู่ในรูปของการกระทำที่ต่อเนื่อง พระเยซูใช้คำนี้เพื่อแสดงว่าต้องอธิษฐานต่อไปอย่างไม่ละลด การใช้คำกริยากรีก 3 คำต่อเนื่องกันเป็นการเน้นว่าต้องทำอย่างจริงจัง พระเยซูเน้นเรื่องเดียวกันนี้ในตัวอย่างเปรียบเทียบของท่านที่ ลก 11:5-8
ขนมปัง . . . ก้อนหิน: พระเยซูอาจใช้ขนมปังกับก้อนหินเป็นตัวอย่างเปรียบเทียบเพราะขนมปังเป็นอาหารหลักของชาวยิวกับชนชาติอื่นที่อยู่รอบ ๆ นอกจากนั้น ขนาดและรูปร่างของขนมปังก็อาจทำให้ผู้ฟังนึกถึงก้อนหิน คำตอบสำหรับคำถามที่กระตุ้นให้คิดของพระเยซูในข้อนี้ก็คือ “เป็นไปไม่ได้ที่พ่อจะทำแบบนั้น”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 7:10
ปลา . . . งูพิษ: ปลาเป็นอาหารหลักของคนที่อาศัยอยู่รอบ ๆ ทะเลสาบกาลิลี งูพิษตัวเล็ก ๆ บางชนิดอาจดูคล้ายปลาที่ผู้คนมักจะกินกับขนมปัง คำถามที่กระตุ้นให้คิดของพระเยซูในข้อนี้หมายความว่าเป็นไปไม่ได้ที่พ่อที่รักลูกจะทำแบบนั้น
คุณที่เป็นคนบาป: แปลตรงตัวว่า “ชั่ว” เนื่องจากเราได้รับบาปมาจากพ่อแม่คู่แรก มนุษย์ทุกคนจึงไม่สมบูรณ์แบบ และอาจเรียกได้ว่าคนชั่ว
แล้ว . . . จะไม่ยิ่ง: พระเยซูมักใช้วิธีหาเหตุผลแบบนี้ ท่านจะเริ่มด้วยการพูดถึงข้อเท็จจริงเรื่องหนึ่งที่ผู้ฟังคุ้นเคยหรือยอมรับกันอยู่แล้ว จากนั้นท่านก็โยงมาที่ข้อเท็จจริงอีกเรื่องหนึ่งที่น่าเชื่อยิ่งกว่าเรื่องแรก นี่เป็นการสอนเรื่องสำคัญโดยอาศัยข้อเท็จจริงง่าย ๆ—มธ 10:25; 12:12; ลก 11:13; 12:28
กฎหมายของโมเสสและคำสอนของพวกผู้พยากรณ์: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 5:17
เข้าไปทางประตูแคบ: ในสมัยโบราณ การเข้าไปในเมืองที่มีกำแพงล้อมรอบต้องใช้ทางหรือถนนที่ไปถึงประตูเมือง คำว่าทางที่ใช้ในคัมภีร์ไบเบิลหมายถึงวิถีชีวิตและการประพฤติของคนเรา ดังนั้น ทาง 2 ทางที่แตกต่างกันในข้อนี้หมายถึงวิถีชีวิต 2 แบบ คือแบบที่พระเจ้ายอมรับและไม่ยอมรับ คนเราจะได้เข้าในรัฐบาลของพระเจ้าหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาเลือกทางไหน—สด 1:1, 6; ยรม 21:8; มธ 7:21
ประตูที่เปิดกว้างและทางที่กว้างใหญ่: แม้สำเนาพระคัมภีร์บางฉบับใช้ข้อความสั้น ๆ ว่า “ทางที่กว้างใหญ่” แต่สำเนาพระคัมภีร์เก่าแก่หลายฉบับใช้ข้อความที่ยาวกว่า ซึ่งสอดคล้องกับ มธ 7:14 ด้วย—ดูภาคผนวก ก3
ในคราบของแกะ: หรือ “ในชุดแกะ” คือการปลอมตัวในความหมายเป็นนัยและแสดงตัวว่ามีคุณลักษณะเหมือนแกะ เพื่อให้คนอื่นคิดว่าเขาเป็นผู้นมัสการพระเจ้าที่ไม่มีพิษมีภัยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งใน “ฝูงแกะ” ของพระองค์
หมาป่าที่ตะกละตะกลาม: เป็นภาษาภาพพจน์แบบอุปลักษณ์ซึ่งหมายถึงคนที่โลภมาก ๆ และชอบกอบโกยผลประโยชน์จากคนอื่น
การกระทำ: แปลตรงตัวว่า “ผล” ในข้อนี้หมายถึงการกระทำ คำพูด หรือผลที่เกิดจากสิ่งที่คนเราพูดและทำ
คนชั่ว: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:12
ฉลาด: หรือ “สุขุม”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 24:45
ฝนตก . . . น้ำมาท่วม . . . ลมพัด: การเกิดลมพายุฤดูหนาวแบบกะทันหันเป็นเรื่องปกติในอิสราเอล (โดยเฉพาะในเดือนเทเบทซึ่งตรงกับช่วงเดือนธันวาคมและมกราคม) ทำให้มีลมพัดแรง ฝนตกหนัก และน้ำท่วมฉับพลัน—ดูภาคผนวก ข15
ทึ่ง: คำกริยากรีกที่ใช้ในข้อนี้อาจมีความหมายว่า “รู้สึกอัศจรรย์ใจมากจนพูดไม่ออก” คำกริยานี้อยู่ในรูปของการกระทำที่ต่อเนื่องซึ่งแสดงว่าสิ่งที่พระเยซูพูดส่งผลกระทบต่อผู้ฟังอย่างยาวนาน
วิธีสอนของท่าน: ข้อความนี้ไม่ได้หมายถึงวิธีการสอนของพระเยซูเท่านั้น แต่รวมถึงคำสอนของท่านด้วย ดังนั้น คำนี้หมายถึงทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการสอนของพระเยซูในคำบรรยายบนภูเขา
ไม่ได้สอนเหมือนพวกครูสอนศาสนา: แทนที่จะอ้างคำสอนของพวกรับบีที่ผู้คนนับถือเหมือนที่ครูสอนศาสนาชอบทำกัน พระเยซูพูดในฐานะตัวแทนของพระยะโฮวาแบบคนที่ได้รับอำนาจจากพระเจ้า ท่านสอนโดยใช้พระคัมภีร์เป็นหลัก—ยน 7:16
วีดีโอและรูปภาพ

หมาป่าในอิสราเอลเป็นนักล่าที่ชอบออกหากินตอนกลางคืน (ฮบก 1:8) หมาป่าเป็นสัตว์ที่ดุร้าย ตะกละ ใจกล้า และโลภ มันมักจะฆ่าแกะมากเกินกว่าที่มันจะกินได้หรือลากไปได้ ในคัมภีร์ไบเบิล มักมีการใช้สัตว์ต่าง ๆ รวมทั้งลักษณะนิสัยของมันเป็นภาพเปรียบเทียบทั้งในด้านดีและไม่ดี ตัวอย่างเช่น ก่อนตายยาโคบพยากรณ์เกี่ยวกับตระกูลเบนยามินว่าเป็นนักสู้เหมือนหมาป่า (Canis lupus) (ปฐก 49:27) แต่ส่วนใหญ่แล้วมักมีการเปรียบหมาป่ากับคนที่มีนิสัยไม่ดี เช่น ดุร้าย โลภ ตะกละ และเจ้าเล่ห์ คนที่ถูกเปรียบว่าเป็นหมาป่ามีทั้งผู้พยากรณ์เท็จ (มธ 7:15) ผู้ต่อต้านที่โหดร้ายซึ่งต่อต้านงานรับใช้ของคริสเตียน (มธ 10:16; ลก 10:3) และพวกผู้สอนเท็จซึ่งทำให้ประชาคมคริสเตียนตกอยู่ในอันตราย (กจ 20:29, 30) ผู้เลี้ยงแกะจะต้องรู้ว่าหมาป่าจะมาทำอันตรายอะไร พระเยซูพูดถึง “ลูกจ้าง” ซึ่ง “เมื่อเห็นหมาป่ามา เขาก็ทิ้งฝูงแกะแล้วหนีไป” พระเยซูต่างจากลูกจ้างคนนั้นที่ “ไม่ได้เป็นห่วงแกะจริง ๆ” ท่านเป็น “คนเลี้ยงแกะที่ดี” ซึ่งยอม “สละชีวิตเพื่อแกะ”—ยน 10:11-13

พระเยซูคงเลือกตัวอย่างเปรียบเทียบที่ท่านใช้อย่างรอบคอบแน่นอน ตัวอย่างเช่น ท่านพูดถึงมะเดื่อ (หมายเลข 1) และต้นองุ่น (หมายเลข 2) ด้วยกันหลายครั้ง และคำพูดของท่านที่ ลก 13:6 แสดงให้เห็นว่าต้นมะเดื่อมักปลูกอยู่ในสวนองุ่น (2พก 18:31; ยอล 2:22) สำนวน “นั่งใต้ต้นองุ่นและต้นมะเดื่อของตัวเอง” เป็นภาพที่แสดงถึงความสงบสุข ความเจริญรุ่งเรือง และความมั่นคงปลอดภัย (1พก 4:25; มคา 4:4; ศคย 3:10) ตรงกันข้าม มีการพูดถึงต้นหนามและวัชพืชตอนที่พระยะโฮวาสาปแช่งแผ่นดินหลังจากที่อาดัมทำบาป (ปฐก 3:17, 18) ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าต้นหนามที่พระเยซูพูดถึงใน มธ 7:16 เป็นต้นหนามชนิดไหน แต่ต้นหนามในภาพนี้ (Centaurea iberica [Pron: ibāʹrikə]) (หมายเลข 3) เป็นชนิดที่ขึ้นเองอยู่ตามป่าในอิสราเอล