กิจการของอัครสาวก 18:1-28
เชิงอรรถ
ข้อมูลสำหรับศึกษา
โครินธ์: เป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดและสำคัญที่สุดเมืองหนึ่งของประเทศกรีซในสมัยโบราณ เมืองนี้ตั้งอยู่ห่างจากเมืองโครินธ์ในปัจจุบันไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 5 กม. เมืองโครินธ์เป็นเมืองที่สำคัญและมั่งคั่งเพราะตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสม คือตั้งอยู่ตรงคอคอดที่เชื่อมต่อใจกลางประเทศกรีซกับคาบสมุทรเพโลพอนนีซที่อยู่ทางใต้ เมืองโครินธ์ไม่ได้ควบคุมเส้นทางการค้าตั้งแต่เหนือจดใต้ของประเทศกรีซเท่านั้น แต่ยังควบคุมเส้นทางการค้าในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกด้วย เพราะการเดินทางผ่านคอคอดปลอดภัยกว่าการเดินทางอ้อมแหลมต่าง ๆ ทางใต้ของกรีซ เมืองโครินธ์เป็นเมืองหลวงของแคว้นอาคายา ชาวโรมันเรียกส่วนของประเทศกรีซที่ไม่รวมแคว้นมาซิโดเนียว่าแคว้นอาคายา ในช่วงที่ซีซาร์ออกัสตัสปกครอง แคว้นอาคายากลายมาเป็นแคว้นที่สภาสูงของโรมันดูแล และโครินธ์ก็กลายมาเป็นเมืองหลวงในตอนนั้น (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 18:12) เมืองโครินธ์มีชาวยิวอาศัยอยู่จำนวนมาก และมีที่ประชุมของชาวยิว 1 แห่ง ซึ่งทำให้มีคนกรีกบางคนเข้ามาเชื่อถือ (กจ 18:4) ฟิโลนักเขียนในศตวรรษแรกยืนยันว่ามีชาวยิวอยู่ในเมืองโครินธ์สมัยโบราณ นอกจากนั้น ยังมีการพบข้อความจารึกภาษากรีกบนหินอ่อนใกล้ประตูที่ไปอ่าวเลแคอุม ซึ่งข้อความจารึกนี้อ่านว่า “[Sy·na·]go·geʹ He·br[aiʹon]” แปลว่า “ที่ประชุมของชาวฮีบรู” บางคนเชื่อว่าแผ่นหินอ่อนนี้เป็นขอบประตูที่ทำขึ้นตั้งแต่สมัยเปาโล แต่คนส่วนใหญ่คิดว่าแผ่นนี้ทำขึ้นหลังจากนั้น—ดูภาคผนวก ข13
อะควิลลา: พระคัมภีร์บอกว่าอะควิลลาคริสเตียนที่ซื่อสัตย์และภรรยาของเขาปริสสิลลา (หรือปริสคา) เป็น “เพื่อนร่วมงาน” กับเปาโล (รม 16:3) พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกพูดถึงสามีภรรยาคู่นี้ 6 ครั้ง (กจ 18:18, 26; 1คร 16:19; 2ทธ 4:19) และทุกครั้งก็พูดถึงชื่อของทั้ง 2 คน ชื่อปริสสิลลาเป็นรูปคำที่สื่อถึงขนาดเล็กของชื่อปริสคา ในหนังสือที่เปาโลเขียนจะใช้ชื่อแบบสั้น ส่วนหนังสือที่ลูกาเขียนจะใช้ชื่อแบบยาว เป็นเรื่องปกติที่ชื่อโรมันจะมีทั้งแบบสั้นและแบบยาว หลังจากที่จักรพรรดิคลาวดิอัสมีคำสั่งให้ชาวยิวออกจากกรุงโรมในช่วงปี ค.ศ. 49 หรือต้นปี 50 อะควิลลาและปริสสิลลาก็ย้ายมาอยู่ที่เมืองโครินธ์ ตอนที่เปาโลมาถึงเมืองโครินธ์ในฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ. 50 เขาก็ได้ทำงานกับสามีภรรยาคู่นี้ซึ่งเป็นช่างทำเต็นท์ อะควิลลากับปริสสิลลาคงต้องช่วยเปาโลตั้งประชาคมใหม่ในเมืองโครินธ์แน่ ๆ อะควิลลาเกิดที่ปอนทัสแคว้นทางเหนือของเอเชียไมเนอร์ที่ติดกับทะเลดำ—ดูภาคผนวก ข13
ช่างทำเต็นท์: มีการใช้คำกรีก ซเคนอพอยอ็อส ในข้อนี้เพื่อพูดถึงอาชีพที่เปาโล อะควิลลา และปริสสิลลาทำ หลายคนมีความเห็นที่ต่างกันว่าคำนี้หมายถึงอาชีพอะไรจริง ๆ (อาจเป็นช่างทำเต็นท์ ช่างทอม่านหรือพรม หรือช่างทำเชือก) แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าคำนี้น่าจะหมายถึง “ช่างทำเต็นท์” เปาโลมาจากเมืองทาร์ซัสในแคว้นซิลีเซียซึ่งมีชื่อเสียงในการทำคีลีเคอุม ผ้ากระโจมเนื้อหยาบทำด้วยขนแพะที่ผู้คนมักเอาไปทำเต็นท์ (กจ 21:39) ชาวยิวในศตวรรษแรกมองว่าเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมสำหรับเด็กหนุ่มที่จะฝึกทำงานอาชีพถึงแม้เขาจะมีการศึกษาสูง จึงเป็นไปได้ว่าเปาโลเรียนทำเต็นท์ตั้งแต่เขายังเป็นหนุ่ม งานนี้ไม่ได้เป็นงานที่ง่าย เพราะว่ากันว่า คีลีเคอุม มีเนื้อที่แข็งและหยาบจึงทำให้ตัดเย็บได้ยาก
บรรยาย: หรือ “หาเหตุผลกับผู้คน” คำกริยากรีก เดียเละกอไม มีความหมายว่า “พูดคุยกัน, สนทนากัน” คำนี้อาจหมายถึงการบรรยายเพื่อสอน หรือการพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันก็ได้ มีการใช้คำกรีกเดียวกันนี้ที่ กจ 17:2, 17; 18:19; 19:8, 9; 20:7, 9
ทุ่มเทเวลาในการประกาศคำสอนของพระเจ้า: สำนวนนี้แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่นี้ไปเปาโลอุทิศเวลาทั้งหมดของเขาให้กับงานประกาศ
เขาจึงสะบัดเสื้อ: การที่เปาโลทำแบบนี้แสดงว่าเขาจะไม่รับผิดชอบที่ชาวยิวปฏิเสธข่าวสารเกี่ยวกับพระคริสต์ที่ให้ชีวิต เปาโลทำหน้าที่ของตัวเองสำเร็จแล้ว และเขาไม่ต้องรับผิดชอบชีวิตของคนเหล่านี้ (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาคำว่าพวกคุณรับผิดชอบชีวิตของพวกคุณเองก็แล้วกันที่อยู่ในข้อนี้) มีการพูดถึงท่าทางแบบนี้ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูด้วย ตอนที่เนหะมีย์พูดกับชาวยิวที่กลับไปกรุงเยรูซาเล็ม เขาสะบัดเสื้อส่วนที่อยู่ตรงหน้าอกเพื่อเป็นการบอกว่าคนที่ไม่ทำตามสัญญาจะถูกพระเจ้าลงโทษ (นหม 5:13) เปาโลก็ทำท่าทางคล้าย ๆ กันในเมืองอันทิโอกในแคว้นปิสิเดีย เขา “สะบัดฝุ่นออกจากเท้า” ต่อหน้าคนที่ต่อต้านเขาในเมืองนั้น—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 13:51; ลก 9:5
พวกคุณรับผิดชอบชีวิตของพวกคุณเองก็แล้วกัน: แปลตรงตัวว่า “ให้เลือดพวกคุณตกบนหัวพวกคุณเอง” เปาโลพูดประโยคนี้เพื่อแสดงว่าเขาจะไม่รับผิดชอบถ้าชาวยิวที่ปฏิเสธข่าวสารเกี่ยวกับพระคริสต์หรือเมสสิยาห์ถูกพระเจ้าพิพากษา มีคำพูดคล้ายกันอยู่ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูซึ่งถ่ายทอดแนวคิดที่ว่าใครก็ตามทำสิ่งที่สมควรตาย เขาต้องรับผิดชอบชีวิตของตัวเอง (ยชว 2:19; 2ซม 1:16; 1พก 2:37; อสค 33:2-4; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 27:25) เปาโลยังพูดอีกว่าผมพ้นความรับผิดชอบแล้ว ซึ่งหมายความว่า “ผมบริสุทธิ์ [“ไม่มีความผิด”]”—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 20:26
ย้ายจากที่นั่น: คือย้ายจากที่ประชุมของชาวยิวไปที่บ้านของทิทิอัสยุสทัสซึ่งเป็นที่ที่เปาโลทำงานประกาศต่อ เปาโลพักอยู่ที่บ้านของอะควิลลาและปริสสิลลาตลอดช่วงที่เขาอยู่ในเมืองโครินธ์ แต่ดูเหมือนว่าบ้านของยุสทัสเป็นศูนย์กลางที่เปาโลใช้ในการประกาศ—กจ 18:3
ทิทิอัสยุสทัส: เป็นผู้เชื่อถือชาวโครินธ์ พระคัมภีร์บอกว่าเขาเป็นผู้นมัสการพระเจ้าคนหนึ่ง คำนี้แสดงให้เห็นว่าเขาเคยเป็นคนต่างชาติที่เปลี่ยนมานับถือศาสนายิว—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 16:14
ผู้สำเร็จราชการ: คือตำแหน่งผู้ปกครองแคว้นที่สภาสูงของโรมันดูแล ในข้อนี้บอกว่ากัลลิโอเป็นผู้สำเร็จราชการแคว้นอาคายา ในข้อนี้ลูกาใช้คำเรียกตำแหน่งนี้อย่างถูกต้อง คือ “ผู้สำเร็จราชการ” เพราะแคว้นอาคายาเป็นแคว้นที่สภาสูงของโรมันดูแลตั้งแต่ปี 27 ก่อน ค.ศ. ถึง 15 ค.ศ. และอีกครั้งหลังจากปี ค.ศ. 44 (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 13:7) ข้อความจารึกที่พบในเมืองเดลฟีที่พูดถึงผู้สำเร็จราชการกัลลิโอไม่ได้แค่ช่วยสนับสนุนความถูกต้องของบันทึกที่ลูกาเขียนเท่านั้น แต่ยังช่วยให้รู้ว่ากัลลิโอทำหน้าที่นี้เมื่อไร
อาคายา: ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก อาคายาเป็นแคว้นหนึ่งของจักรวรรดิโรมัน อยู่ทางตอนใต้ของกรีซ เมืองหลวงคือโครินธ์ ในปี 27 ก่อน ค.ศ. ตอนที่ซีซาร์ออกัสตัสจัดระเบียบ 2 แคว้นของกรีซใหม่ คือแคว้นมาซิโดเนียและแคว้นอาคายา เขากำหนดให้แคว้นอาคายากินพื้นที่คาบสมุทรทางใต้ (เพโลพอนนีส) รวมถึงบางส่วนของกรีซที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่ อาคายาเป็นแคว้นที่สภาสูงของโรมันดูแล และมีผู้สำเร็จราชการปกครองแคว้นนี้โดยมีเมืองหลวงอยู่ที่โครินธ์ (2คร 1:1) ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกพูดถึงเมืองอื่น ๆ ที่อยู่ในแคว้นอาคายา คือเมืองเอเธนส์และเมืองเคนเครีย (กจ 18:1, 18; รม 16:1) อาคายากับแคว้นมาซิโดเนียที่อยู่ติดกันทางเหนือมักถูกพูดถึงด้วยกันบ่อย ๆ—กจ 19:21; รม 15:26; 1ธส 1:7, 8; ดูภาคผนวก ข13
เคนเครีย: เป็นเมืองท่าแห่งหนึ่งของโครินธ์ เคนเครียตั้งอยู่ที่คอคอดทางฝั่งอ่าวซาโรนิคห่างจากเมืองโครินธ์ไปทางตะวันออกประมาณ 11 กม. เคนเครียเป็นท่าเรือที่ไปสู่เมืองต่าง ๆ ทางตะวันออกของกรีซ ส่วนเลแคอุมที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งของคอคอดเป็นท่าเรือที่ไปสู่อิตาลีและที่อื่น ๆ ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของกรีซ มีการพบซากของอาคารและเขื่อนกันน้ำทะเลที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของเมืองเคนเครียใกล้กับหมู่บ้านที่ตอนนี้เรียกกันว่าคีห์รีช (เคคีห์เอส) รม 16:1 บอกว่ามีประชาคมคริสเตียนในเมืองเคนเครีย—ดูภาคผนวก ข13
ถ้าพระยะโฮวาต้องการ: คำพูดนี้เน้นว่าเราต้องสนใจความต้องการของพระเจ้าเมื่อเราทำหรือวางแผนว่าจะทำอะไร อัครสาวกเปาโลเองก็คิดถึงหลักการนี้อยู่เสมอ (1คร 4:19; 16:7; ฮบ 6:3) สาวกยากอบก็สนับสนุนให้ทำแบบนี้ด้วยโดยบอกว่า “ถ้าพระยะโฮวาต้องการ เราก็จะมีชีวิตอยู่และทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้” (ยก 4:15) การพูดแบบนี้ไม่ใช่แค่พูดเฉย ๆ แต่คนที่พูดด้วยความจริงใจว่า “ถ้าพระยะโฮวาต้องการ” ก็ต้องพยายามทำสิ่งที่สอดคล้องกับความต้องการของพระยะโฮวาด้วย คนที่คิดแบบนี้อาจไม่จำเป็นต้องพูดออกมาเสมอไป—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 21:14; 1คร 4:19; ยก 4:15
จากนั้นก็ไป: ถึงแม้ในข้อนี้ไม่ได้พูดถึงกรุงเยรูซาเล็ม แต่ดูเหมือนเปาโลเดินทางไปที่เมืองนั้น กรุงเยรูซาเล็มอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 750 เมตร และพระคัมภีร์ก็มักบอกว่าผู้นมัสการพระเจ้า “ขึ้นไปกรุงเยรูซาเล็ม” ที่จริง มีการใช้คำกริยากรีก อานาไบโน (“ขึ้นไป”) หลายครั้งเมื่อพูดถึงการเดินทางไปกรุงเยรูซาเล็ม (มธ 20:17; มก 10:32; ลก 18:31; 19:28; ยน 2:13; 5:1; 11:55; กจ 11:2; 21:12; 24:11; 25:1, 9; กท 2:1) นอกจากนั้น ยังมีการใช้คำกริยากรีก คาทาไบโน ที่มีความหมายว่า “ลงไป” ในข้อนี้ด้วย และบางครั้งมีการใช้คำนี้เมื่อพูดถึงการเดินทางออกจากกรุงเยรูซาเล็ม—มก 3:22; ลก 10:30, 31; กจ 24:1, 22; 25:7
อปอลโล: คริสเตียนชาวยิวที่น่าจะเกิดและเติบโตในเมืองอเล็กซานเดรียซึ่งเป็นเมืองหลวงของอียิปต์ที่อยู่ภายใต้การปกครองของโรม อเล็กซานเดรียเป็นศูนย์กลางการศึกษาระดับสูงและมีชื่อเสียงเรื่องห้องสมุดขนาดใหญ่ เมืองนี้มีขนาดใหญ่ที่สุดในจักรวรรดิโรมันเป็นรองก็แค่กรุงโรมและมีชาวยิวอยู่จำนวนมาก เมืองนี้เป็นหนึ่งในศูนย์กลางที่สำคัญของวัฒนธรรมและการศึกษาของทั้งคนยิวและคนกรีก ฉบับแปลเซปตัวจินต์ ซึ่งแปลพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูเป็นภาษากรีกก็ทำขึ้นที่นั่น นี่ทำให้เข้าใจว่าทำไมพระคัมภีร์ถึงบอกว่าอปอลโลรู้ [แปลตรงตัวว่า “มีพลัง”] เรื่องพระคัมภีร์เป็นอย่างดี ซึ่งก็คือรู้เรื่องพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูที่ได้รับการดลใจ
ได้รับการสอน: คำกริยากรีก คาเทเฆะโอ มีความหมายตรงตัวว่า “จมลง” คำนี้ยังรวมถึงแนวคิดเกี่ยวกับการสั่งสอนโดยคำพูด เมื่อความจริงในถ้อยคำของพระเจ้าจมลงในจิตใจและหัวใจของผู้เรียนหลายครั้ง เขาก็จะมีคุณสมบัติที่จะสอนคนอื่น—เทียบกับ กท 6:6 ซึ่งมีการใช้คำกรีกเดียวกันนี้ 2 ครั้ง
แนวทางของพระยะโฮวา: ข้อคัมภีร์ถัดจากข้อนี้ใช้สำนวนคล้ายกันคือ “แนวทางของพระเจ้า” แนวทางชีวิตของคริสเตียนรวมจุดอยู่ที่การนมัสการพระยะโฮวาพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียวและการมีความเชื่อในพระเยซูคริสต์ลูกของพระองค์ ในหนังสือกิจการพูดถึงแนวทางชีวิตแบบนี้โดยใช้แค่คำว่า “ทางนั้น” (กจ 19:9, 23; 22:4; 24:22; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 9:2) นอกจากนั้น ยังมีสำนวน ‘ทางสำหรับพระยะโฮวา’ 4 ครั้งในหนังสือข่าวดีซึ่งเป็นข้อความที่ยกมาจาก อสย 40:3 (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 3:3; มก 1:3; ลก 3:4; ยน 1:23) และที่ อสย 40:3 ในข้อความภาษาฮีบรูมีการใช้เททรากรัมมาทอนด้วย และยังมีสำนวน “แนวทางของพระยะโฮวา” อยู่ที่ วนฉ 2:22; ยรม 5:4, 5—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 19:23
พลังของพระเจ้ากระตุ้นเขาให้กระตือรือร้น: แปลตรงตัวว่า “เดือดพล่านด้วยพลัง” คำกรีกที่ใช้ในข้อนี้ทำให้เห็นภาพของคนที่เต็มล้นไปด้วยความกระตือรือร้น คำกรีก พะนือมา (“พลัง”) ในข้อนี้หมายถึงพลังบริสุทธิ์ของพระเจ้า พลังนี้สามารถกระตุ้นผู้คนให้ทำสิ่งที่สอดคล้องกับความต้องการของพระเจ้า (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มก 1:12) แต่คำว่า “พลัง” ในที่นี้ยังอาจหมายถึงแรงกระตุ้นที่มาจากหัวใจซึ่งกระตุ้นให้คนเราพูดหรือทำบางอย่าง ดังนั้น สำนวนในข้อนี้จึงมีความหมายรวมกันได้ว่า ใครคนหนึ่งแสดงความกระตือรือร้นเพื่อจะทำสิ่งที่ถูกต้องเพราะได้รับการชี้นำจากพลังของพระเจ้า แต่บางคนคิดว่าในท้องเรื่องนี้คำนี้เป็นสำนวนที่หมายถึงความกระตือรือร้นมาก ถ้าเป็นอย่างนั้น นี่อาจทำให้เราเข้าใจว่าทำไมอปอลโลถึงกระตือรือร้นแม้เขาไม่รู้เรื่องการบัพติศมาในนามของพระเยซู ไม่ว่าจะอย่างไร อปอลโลต้องได้รับการชี้นำจากพลังของพระเจ้าเพื่อจะกระตือรือร้นในการทำสิ่งที่ถูกต้องและเต็มใจยอมรับการสอนที่ถูกต้องกว่า—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “พลัง”
บัพติศมาของยอห์น: การบัพติศมานี้เป็นการประกาศอย่างเปิดเผยว่าใครคนหนึ่งกลับใจเนื่องจากเขาไม่ได้ทำตามกฎหมายที่พระยะโฮวาให้กับโมเสส ซึ่งเป็นกฎหมายที่ชาวยิวสัญญาว่าจะทำตาม (อพย 24:7, 8) แต่การบัพติศมาของยอห์นถูกยกเลิกหลังวันเพ็นเทคอสต์ปี ค.ศ. 33 ตอนที่สัญญาเกี่ยวกับกฎหมายสิ้นสุดลง (รม 10:4; กท 3:13; อฟ 2:13-15; คส 2:13, 14) ตั้งแต่ตอนนั้น การรับบัพติศมาแบบเดียวที่พระยะโฮวายอมรับก็คือการรับบัพติศมาที่พระเยซูสั่งให้สาวกทำ (มธ 28:19, 20) เหตุการณ์เกี่ยวกับอปอลโลที่พูดถึงในข้อนี้เกิดขึ้นประมาณปี ค.ศ. 52
ของพระเจ้า: แม้ข้อความต้นฉบับภาษากรีกไม่มีคำว่า “ของพระเจ้า” ในข้อนี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนคิดว่าความหมายจริง ๆ ของข้อความภาษากรีกในข้อนี้เข้าใจได้แบบนั้น ในหนังสือกิจการ คำว่า “ความกรุณาที่ยิ่งใหญ่” ส่วนใหญ่แล้วใช้คู่กับคำว่า “พระเจ้า”—กจ 11:23; 13:43; 14:26; 20:24, 32
วีดีโอและรูปภาพ
นี่เป็นภาพถ่ายซากปรักหักพังของที่ประชุมของชาวยิวในเมืองออสเตียซึ่งเป็นเมืองท่าของกรุงโรม เชื่อกันว่าอาคารนี้สร้างขึ้นในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 1 เพื่อใช้เป็นที่ประชุมของชาวยิว แต่ต่อมาก็ถูกบูรณะและปรับเปลี่ยนบางอย่าง การมีที่ประชุมของชาวยิวที่เมืองออสเตียแสดงให้เห็นว่ามีชาวยิวอาศัยอยู่ในกรุงโรมนานแล้ว ถึงแม้ชาวยิวถูกจักรพรรดิคลาวดิอัสไล่ออกจากกรุงโรมประมาณ ปี ค.ศ. 49 หรือ 50 แต่ก็เป็นไปได้ที่ต่อมายังมีชุมชนชาวยิวหลงเหลืออยู่ในบริเวณนั้น (กจ 18:1, 2) หลังจากคลาวดิอัสตายในปี ค.ศ. 54 มีชาวยิวหลายคนกลับมาที่กรุงโรม ตอนที่เปาโลเขียนจดหมายถึงพี่น้องในกรุงโรมประมาณปี ค.ศ. 56 ประชาคมนี้ก็มีทั้งคริสเตียนที่เป็นชาวยิวและที่เป็นคนต่างชาติ นี่ทำให้รู้ว่าที่เปาโลพูดหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทั้งชาวยิวและคนต่างชาติก็เพื่อช่วยให้พวกเขาอยู่ร่วมกันอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน—รม 1:15, 16
1. โรม
2. ออสเตีย
หนังสือกิจการพูดถึงจักรพรรดิคลาวดิอัสของโรม 2 ครั้ง (กจ 11:28; 18:2) เขาเป็นจักรพรรดิต่อจากคาลิกูลาที่เป็นหลานชาย (คาลิกูลาปกครองระหว่างปี ค.ศ. 37-41 และไม่มีการพูดถึงคาลิกูลาในคัมภีร์ไบเบิล) เขาจึงเป็นจักรพรรดิองค์ที่ 4 ของโรมที่ปกครองตั้งแต่ปี ค.ศ. 41-54 ต่อมาประมาณปี ค.ศ. 49 หรือ 50 เขาสั่งให้ชาวยิวทั้งหมดออกไปจากกรุงโรม จึงทำให้อะควิลลาและปริสสิลลาย้ายไปที่เมืองโครินธ์และทั้งสองก็เจอกับอัครสาวกเปาโลที่นั่น มีรายงานว่าคลาวดิอัสถูกภรรยาคนที่ 4 วางยาในปี ค.ศ. 54 แล้วจักรพรรดิเนโรก็ขึ้นปกครองต่อจากเขา
ข้อความจารึกที่พบในเมืองเดลฟีประเทศกรีซทำขึ้นตั้งแต่ประมาณกลางศตวรรษที่ 1 ซึ่งข้อความนี้พูดถึงผู้สำเร็จราชการกัลลิโอ (ชื่อของเขาอยู่ในกรอบสีแดง) กจ 18:12 บอกอย่างถูกต้องว่า “กัลลิโอเป็นผู้สำเร็จราชการแคว้นอาคายา” ตอนที่ชาวยิวในเมืองโครินธ์เอาตัวเปาโลไปให้กัลลิโอพิพากษา
ภาพด้านบนแสดงให้เห็นซากของ “บัลลังก์พิพากษา” หรือบีมาที่ยังหลงเหลืออยู่เมืองโครินธ์ปัจจุบัน บัลลังก์นี้เป็นแท่นยกสูงหรือเวทีกลางแจ้งที่ใช้สำหรับการพูดต่อหน้าสาธารณชน บัลลังก์พิพากษาในเมืองโครินธ์ตั้งอยู่ใกล้อากอราซึ่งเป็นลานชุมนุมที่อยู่ใจกลางเมือง เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองใช้เวทีนี้เพื่อประกาศการตัดสินคดี บัลลังก์พิพากษานี้ทำจากหินอ่อนสีขาวกับสีฟ้า และถูกตกแต่งอย่างสวยงาม ผู้คนที่มาหาเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองต้องนั่งรออยู่ในห้องเล็ก ๆ ที่ปูด้วยกระเบื้องโมเสกและมีม้านั่ง ห้องเหล่านี้อยู่ติดกับเวที ภาพวาดด้านล่างทำให้รู้ว่าบัลลังก์พิพากษาในศตวรรษแรกอาจมีลักษณะอย่างไร เชื่อกันว่าบัลลังก์พิพากษานี้เป็นที่ที่ชาวยิวพาตัวเปาโลมาอยู่ต่อหน้าผู้สำเร็จราชการกัลลิโอ
ภาพนี้คือซากปรักหักพักของอ่าวในเมืองเคนเครียโบราณ ตอนเดินทางในฐานะมิชชันนารีรอบที่สอง ดูเหมือนเปาโลลงเรือที่เมืองนี้เพื่อจะเดินทางไปเมืองเอเฟซัส (กจ 18:18) เมืองเคนเครียตั้งอยู่ที่คอคอดทางฝั่งอ่าวซาโรนิคห่างจากเมืองโครินธ์ไปทางตะวันออกประมาณ 11 กม. ระหว่างเมืองนี้กับเมืองโครินธ์มีป้อมปราการของทหารเรียงรายอยู่เป็นระยะ ในศตวรรษแรกเมืองเคนเครียเป็นท่าเรือของเมืองโครินธ์ที่จะไปสู่เมืองต่าง ๆ ทางตะวันออกของกรีซ ส่วนเมืองเลแคอุมที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งของคอคอดเป็นท่าเรือของเมืองโครินธ์ที่ไปสู่อิตาลีและที่อื่น ๆ ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของกรีซ
1. โรงละครโรมัน
2. วังกษัตริย์
3. สนามแข่งม้า
4. วิหารของพระนอกรีต
5. อ่าว
นี่เป็นวีดีโอเกี่ยวกับซากเมืองซีซารียาและมีแบบจำลอง 3 มิติเพื่อให้เห็นว่าอาคารหลัก ๆ ในสมัยก่อนอาจเป็นอย่างไร เฮโรดมหาราชเป็นคนสร้างเมืองซีซารียาและอ่าวของเมืองนี้ตอนปลายศตวรรษที่ 1 ก่อน ค.ศ. เฮโรดตั้งชื่อเมืองนี้ตามชื่อของซีซาร์ออกัสตัส เมืองซีซารียาตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ห่างจากกรุงเยรูซาเล็มไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 87 กม. เมืองนี้จึงกลายเป็นเมืองท่าสำคัญของจักรวรรดิโรมัน เมืองนี้มีโรงละครโรมัน (หมายเลข 1) วังกษัตริย์ที่สร้างบนแผ่นดินที่ยื่นออกไปในทะเล (หมายเลข 2) สนามแข่งม้าที่จุผู้ชมได้ประมาณ 30,000 คน (หมายเลข 3) วิหารของพระนอกรีต (หมายเลข 4) อ่าวที่คนในสมัยนั้นสร้างขึ้น (หมายเลข 5) ซึ่งถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางวิศวกรรม เมืองซีซารียามีทางส่งน้ำจืดและระบบระบายน้ำ อัครสาวกเปาโลและคริสเตียนคนอื่น ๆ เดินทางไปเมืองนี้โดยใช้เรือ (กจ 9:30; 18:21, 22; 21:7, 8, 16) เปาโลถูกขังในคุกที่เมืองนี้ประมาณ 2 ปี (กจ 24:27) ตอนที่ฟีลิปผู้ประกาศข่าวดีเดินทางไปประกาศตามเมืองต่าง ๆ เขาไปที่เมืองซีซารียาเป็นเมืองสุดท้ายและอาจตั้งรกรากอยู่ที่นั่น (กจ 8:40; 21:8) โคร์เนลิอัสคนต่างชาติคนแรกที่ไม่ได้เข้าสุหนัตซึ่งเข้ามาเป็นคริสเตียนก็อยู่ในเมืองนี้ (กจ 10:1, 24, 34, 35, 45-48) ลูกาก็อาจเขียนหนังสือข่าวดีของเขาในเมืองนี้ด้วย
เหตุการณ์เรียงตามลำดับเวลา
1. เปาโลออกจากเมืองอันทิโอกในแคว้นซีเรีย และเดินทางไปแคว้นกาลาเทียกับแคว้นฟรีเจียเพื่อให้กำลังใจพวกสาวกตามประชาคมต่าง ๆ (กจ 18:23)
2. เปาโลเดินทางผ่านแถบภูเขามาที่เมืองเอเฟซัส ซึ่งที่นั่นมีบางคนรับบัพติศมาอีกครั้งและได้รับพลังบริสุทธิ์ (กจ 19:1, 5-7)
3. เปาโลประกาศในที่ประชุมของชาวยิวที่เมืองเอเฟซัส แต่มีชาวยิวบางคนไม่ยอมเชื่อ เปาโลจึงไปบรรยายในห้องประชุมโรงเรียนของทีรันนัสทุกวัน (กจ 19:8, 9)
4. งานรับใช้ของเปาโลในเมืองเอเฟซัสเกิดผลดี (กจ 19:18-20)
5. เกิดความชุลมุนวุ่นวายในโรงละครที่เมืองเอเฟซัส (กจ 19:29-34)
6. เปาโลเดินทางจากเมืองเอเฟซัสไปแคว้นมาซิโดเนีย แล้วก็ไปที่กรีซ (กจ 20:1, 2)
7. หลังจากอยู่ที่กรีซ 3 เดือน เปาโลกลับไปทางแคว้นมาซิโดเนีย (กจ 20:3)
8. เปาโลเดินทางจากเมืองฟีลิปปีไปที่เมืองโตรอัส เขาปลุกยุทิกัสให้ฟื้นขึ้นจากตายที่นั่น (กจ 20:5-11)
9. เพื่อน ๆ ของเปาโลนั่งเรือมาที่เมืองอัสโสส ส่วนเปาโลเดินเท้าไปเจอกับพวกเขาที่นั่น (กจ 20:13, 14)
10. เปาโลกับเพื่อน ๆ ลงเรือไปเมืองมิเลทัส ในเมืองนั้นเปาโลได้เจอพวกผู้ดูแลจากเมืองเอเฟซัสและยังได้ให้คำแนะนำกับให้กำลังใจหลายอย่าง (กจ 20:14-20)
11. เปาโลอธิษฐานกับพวกผู้ดูแลและบอกว่าพวกเขาจะไม่เห็นหน้าเปาโลอีก พวกผู้ดูแลไปส่งเปาโลที่เรือ (กจ 20:36-38)
12. เปาโลกับเพื่อน ๆ นั่งเรือจากเมืองมิเลทัสไปที่เกาะโขส แล้วก็ไปที่เกาะโรดส์กับเมืองปาทารา พวกเขาลงเรือที่เมืองปาทาราเพื่อไปซีเรีย เรือแล่นผ่านทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะไซปรัส พวกเขาขึ้นฝั่งที่เมืองไทระ (กจ 21:1-3)
13. พวกสาวกในเมืองไทระห้ามเปาโลหลายครั้งไม่ให้ไปที่กรุงเยรูซาเล็ม เพราะสิ่งที่พลังของพระเจ้าเปิดเผยให้พวกเขารู้ (กจ 21:4, 5)
14. เปาโลมาถึงเมืองซีซารียา ผู้พยากรณ์ที่ชื่ออากาบุสบอกเขาว่าจะต้องเจอความทุกข์ยากลำบากในกรุงเยรูซาเล็ม (กจ 21:8-11)
15. เปาโลมาถึงกรุงเยรูซาเล็มแม้รู้ว่าจะต้องเจออะไรที่นั่น (กจ 21:12-15, 17)